xs
xsm
sm
md
lg

ความคิดสนธิ

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

บทสัมภาษณ์ของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับแทบลอยด์ (ฉบับเล็กแทรกมากับฉบับปกติ) ประจำวันที่ 11-17 ตุลาคม 2552 ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นมาอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน นั่นคือ การเกิดขึ้นของ “ความคิดสนธิ”

อันเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องจากปรากฏการณ์สนธิในช่วงการนำเสนอความจริงผ่านรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ในปลายปี 2548 ปรากฏการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการเคลื่อนไหวขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในปี 2549 และปรากฏการณ์การเมืองใหม่ในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลหุ่นเชิดในระบอบทักษิณที่ยืดเยื้อยาวนาน 193 วันในปี 2551

ภายหลังการต่อสู้ 193 วันสิ้นสุดลง ปรากฏการณ์การเมืองใหม่ได้พัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงขั้นประกาศก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 และการก่อตั้งสาขาพรรคและรับสมัครสมาชิกพรรค แล้วมาลงเอยกันที่การประชุมใหญ่สมาชิกพรรคในวันที่ 6 ตุลาคม 2552 เลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค สิ้นสุดกระบวนการขั้นต้นของการสร้างพรรคการเมืองใหม่

ความเป็นหัวหน้าพรรค ทำให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกตั้งคำถามต่างๆ มากมาย เกี่ยวกับการเมืองใหม่และพรรคการเมืองใหม่ รวมไปถึงข้อกังขาในตัวคุณสนธิเอง ที่สังคมต้องการคำตอบ ซึ่งคุณสนธิก็ตระหนักดีในเรื่องนี้ ดังนั้น เมื่อสื่อมวลชนขอสัมภาษณ์ จึงได้ใช้โอกาสนี้อธิบายอย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุม สะท้อนแนวความคิดชี้นำของขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งผลปรากฏว่า สามารถสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้อ่านได้เกินคาด และเมื่อเว็บไซต์เอเอสทีวี/ผู้จัดการนำมาเสนอซ้ำ ก็ได้รับการต้อนรับอย่างอื้ออึงจากชาวพันธมิตรฯ เพราะสิ่งที่คุณสนธิอธิบายนั้น ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ชาวพันธมิตรฯ อยากพูดแต่พูดไม่สุด

อีกนัยหนึ่ง คุณสนธิอธิบายแทนชาวพันธมิตรฯ พูดในสิ่งที่ชาวพันธมิตรฯ คิดและอยากพูด เป็นการสะท้อนความคิดและจุดยืนร่วมกันของชาวพันธมิตรฯ โดยรวม ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญประการหนึ่งของความเป็นผู้นำ

ด้วยความที่คุณสนธิมีความสามารถพิเศษทางด้านการอธิบาย ประกอบกับการเข้าถึงความจริงของการเมืองไทย และสถานภาพที่แท้จริงของขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำให้คำอธิบายของคุณสนธิ มีความเป็นระบบ สามารถแจกแจงให้เห็นถึงประเด็นปัญหาคาใจต่างๆ ได้อย่างกระจ่างแจ้ง ที่สำคัญๆ ก็มีอาทิเช่น

1. ที่มาของพรรคการเมืองใหม่ (เป็นอีกก้าวหนึ่งของขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่ต้องเดินหน้าต่อไป)

2. ความคล้ายคลึงกันแต่แตกต่างกันระหว่างมวลชนเสื้อแดงกับมวลชนพันธมิตรฯ (ที่มาต่างกัน จุดหมายปลายทางต่างกัน สถานภาพต่างกัน)

3. การเปลี่ยนแปลงของตัวคุณสนธิเอง (เปลี่ยนแปลงไปตามความเรียกร้องต้องการของสถานการณ์ มิใช่เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของตัวเอง)

4. เงื่อนไขของการเป็นหัวหน้าพรรค (ซื่อสัตย์ เสียสละ กล้าหาญ ทำงานเป็น)

5. มาตรฐานของนักการเมืองใหม่ (ต้องเสียสละจริงๆ ซื่อสัตย์จริงๆ และกล้าเปลี่ยนจริงๆ)

6. หลักยึดของการกำหนดนโยบาย (ส่วนรวมได้จริงๆ เกิดความสมดุลจริงๆ)

7. สถานภาพของพรรคการเมืองใหม่ (พรรคการเมืองใหม่เป็นเครื่องมือหนึ่งของพันธมิตรฯ)

8. เกี่ยวกับนักรัฐศาสตร์ไทย (นักรัฐศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ยังห่างเหินความเป็นจริง ไม่รู้จริงเรื่องการเมืองใหม่)

9. บทบาทของพันธมิตรฯ กับพรรคการเมืองใหม่ในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่ (เคลื่อนไหวคู่ขนานกัน ประสานสัมพันธ์กัน)

10. ความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองของขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เป็นขบวนการที่ไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร หรืออำนาจกำหนดอื่นใด นอกจากอำนาจกำหนดของประชาชน โดยเฉพาะคือมวลมหาชนที่มีปัญญา)

11. พันธมิตรฯ คือจุดเปลี่ยนของประเทศไทย (การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย จะเป็นไปตามการขับเคลื่อนของขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่ อย่างแน่นอน)

ประเด็นต่างๆ ที่ยกมานี้ ล้วนแต่มีที่มาทางประวัติศาสตร์ คือเป็นประเด็นปัญหาที่ดำรงอยู่จริง และจะสามารถให้คำตอบได้จริงจากการขับเคลื่อนของกงล้อประวัติศาสตร์ ซึ่งในหลายๆ ประเด็นที่ยกมานั้น บางประเด็นได้รับการพิสูจน์แล้ว แต่อีกหลายประเด็นยังต้องรอการพิสูจน์ในวันข้างหน้า

แต่ที่พูดได้เต็มปากเลยก็คือ ทุกประเด็นที่ยกมานั้น สามารถใช้เป็นหัวข้อวิจัยให้นักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ทุกสาขาของประเทศไทย นำไปทำงาน สร้างผลงานวิจัยที่สามารถให้คำตอบและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของประเทศไทยในยุค “การเมืองใหม่” ได้อย่างเป็นจริง เกิดเป็นระบบความคิดทฤษฎีที่มีความเป็นวิชาการ ที่ตั้งอยู่บนฐานความเป็นจริงของเราเอง

การเมืองใหม่ ต้องการนักวิชาการที่พร้อมสร้างสรรค์ผลงานบนฐานความเป็นจริงของเราเอง จากความเป็นจริงที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลของการลงมือปฏิบัติของมวลมหาชนชาวไทย ภายใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ก็ต้องอาศัยความเชื่อมั่นศรัทธาของนักวิชาการ ที่มีต่อขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งปัจจุบันยังมีน้อยมาก ผู้ที่ก้าวเข้ามาก่อน จึงมักจะเป็นผู้มีความกล้าทางความคิด และกล้าทางวิชาการเป็นพื้นเดิมอยู่แล้ว แต่ก็เชื่อเหลือเกินว่า อีกไม่ช้าไม่นาน ก็จะมีนักวิชาการจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ได้ติดตามทำความเข้าใจในสิ่งที่พันธมิตรฯ กำลังทำอยู่ กล้าก้าวเข้ามาแบกรับภารกิจทางประวัติศาสตร์ร่วมกันกับชาวพันธมิตรฯ สร้าง “วิชาการเมืองใหม่” ขึ้นมา

มาถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกว่า ในแนวรบทางด้านความคิดทฤษฎีนั้น ขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีจุดเริ่มต้นที่ดีกว่า และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปได้มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองเก่า (ทั้งที่เป็นพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน) และมวลชนเสื้อแดง (ทั้งที่เป็นพวกแดงอุดมการณ์และแดงรับจ้าง) เพราะผู้นำสามารถอธิบายกระบวนการต่างๆ ที่ได้ดำเนินมาแล้ว ที่กำลังดำเนินอยู่ และกำลังจะดำเนินไปได้อย่างกระจ่างแจ้ง เป็นระบบ ไม่มีกลิ่นอายของการพูดเล่นลิ้น พลิกลิ้น ตัดตอน ตะแบง พูดผิดเป็นถูกอย่างไร้สำนึกรับผิดชอบชั่วดี หรือแสดงวาทกรรมแพรวพราว เอาตัวรอดไปวันๆ ดังที่ปรากฏให้เห็นทั่วไปในสื่อต่างๆ

ทั้งนี้ คำอธิบายทั้งหมดนั้น สะท้อนองค์ความรู้และและประสบการณ์ร่วมกันของขบวนการมิใช่สะท้อนองค์ความรู้เฉพาะของปัจเจกบุคคล (ผู้นำคนใดคนหนึ่ง) แต่เวลานำเสนอ ก็จำเป็นต้องนำเสนอผ่านตัวปัจเจกบุคคล (ผู้นำ) ในวาระโอกาสต่างๆ เป็นเบื้องต้น

ในความเข้าใจของผู้เขียน จึงเห็นว่า คำอธิบายของคุณสนธิ เป็นการสะท้อนความคิดโดยรวมของชาวพันธมิตรฯ

“ความคิดสนธิ” โดยนัยก็คือ “ความคิดพันธมิตรฯ”
กำลังโหลดความคิดเห็น