xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิต (ไม่) มั่นคงของแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

การแก้ปัญหาความยากจนเป็นของขวัญปีใหม่ลำดับสองรองจากการแก้ปัญหาหนี้สินที่ประชาชนต้องการจากรัฐบาลมากสุดในปี 2553 ตามการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้น สะท้อนชัดว่า สังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตไม่อยากทนทุกข์ทรมานกับ 2 ปัญหานี้อีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะกู้ยืมในหรือนอกระบบภาวะหนี้ของครัวเรือนไทยล้วนแล้วแต่สร้างความอยู่ร้อนนอนทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเป็นผู้สูงอายุ ที่ส่วนมากก็ฐานะยากจนกว่ากลุ่มที่หัวหน้าครัวเรือนเป็นวัยแรงงานอยู่แล้ว ยังต้องมาทนทุกข์กับหนี้สินที่ทวีท่วมท้นถอนไถ่ไม่ได้อีก อันเนื่องมาจากโอกาสทำงานหารายได้ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนประกอบอาชีพลดลงจนเกือบเท่า ‘ศูนย์’

เมื่อรายได้ในวัยแรงงาน ‘สูญ’ ไปในความร่วงโรยของสังขาร ความยากจนจึงจู่โจมครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุเป็นหัวหน้า ดังปี 2550 ที่เกือบครึ่งหนึ่งของครัวเรือนยากจนเป็นครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุเป็นหัวหน้า หรือเพิ่มจาก 718,200 ในปี 2547 เป็น 726,500 ครัวเรือนในปี 2550 โดยจำนวนครัวเรือนผู้สูงอายุยากจนอยู่ในเขตชนบทมากกว่าในเมืองเกิน 6 เท่า ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขผู้สูงอายุยากจนที่อยู่ในชนบทมากกว่าในเมืองถึง 7 เท่า หรืออยู่ในเมืองแค่ 0.15 ล้านคน ขณะอยู่ในชนบทถึง 1.04 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ไม่มีรายได้จากการทำงาน เป็นเกษตรกร และมีการศึกษาระดับประถมศึกษา

ดังนั้น ผู้สูงอายุยากจนเมืองกับชนบท 1.19 ล้านคนจากจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดกว่า 7 ล้านคนในปี 2550 จึงกำลังรอของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลควรต้องมอบให้โดยไว ไม่ว่าจะในรูปของนโยบายสาธารณะบำนาญชราภาพ หรือมาตรการเตรียมความพร้อมผู้สูงอายุยากจนด้านอาชีพ การรวมกลุ่ม และแหล่งเงินทุนประกอบอาชีพ เพื่อท้ายสุดจะลดภาระความยากจนและหนี้สินของครัวเรือนสูงอายุ ปกป้องผู้สูงวัยไม่ให้ถูกบีบคั้นจากหนี้ในและนอกระบบไปกว่านี้ และที่สำคัญสามารถตอบโจทย์ชีวิตสูงวัยที่ไม่ต้องการตกเป็นภาระครอบครัวหรือสังคมจากการไร้เงินออมเลี้ยงชีวิตหรือไร้รายได้ไม่มีงานทำ

ไม่เช่นนั้นแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุที่ทำงานคงไม่ทบทวีอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 33.9 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 37.3 ในปี 2551 ซึ่งสูงขึ้นทั้งเพศชายและหญิงทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยในจำนวนผู้สูงอายุที่ทำงานนี้เป็นผู้ที่ทำงานนอกระบบถึงร้อยละ 89.7, 90.7 และ 91 ในปี 2549, 2550 และ 2551 ตามลำดับ หรือปัจจุบันมีถึง 2.55 ล้านคนจากผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ทั้งหมด 2.8 ล้านคน

ในการกำหนดนโยบายเพื่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนนั้น รัฐบาลต้องเรียนรู้ที่จะบูรณาการบำนาญชราภาพกับการสร้างงานผู้สูงอายุเข้าด้วยกันบนฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบเป็นสำคัญ เพราะปัจจุบันแรงงานสูงอายุส่วนใหญ่ที่ไร้เงินออมเป็นแรงงานนอกระบบที่ 1) ไม่มีหลักประกันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2) ไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพและความมั่นคงในชีวิต และ 3) ไม่มีบำนาญเลี้ยงชีพชรา เหมือนกับแรงงานในระบบที่มีระบบรองรับความชราภาพไว้พอควร

ด้วยข้อเท็จจริงมีว่าแม้ผู้สูงอายุยากจนจะยอมทนอาบเหงื่อต่างน้ำเหนื่อยยากตรากตรำทำงาน แต่ถึงที่สุดแล้วก็ได้รายได้แค่ประคับประคองชีวิตให้อยู่รอดแต่ละวันเท่านั้น เพราะรายได้จากงานนอกระบบที่ทำนั้นน้อยกว่าน้อย ไม่ว่าจะเป็นงานรับจ้างที่ได้เงินเดือนประจำอย่างรับจ้างทำของ รับจ้างทำการเกษตรตามฤดูกาล รับจ้างทำงานบ้าน รับจ้างขับรถส่วนตัว แรงงานประมง คนรับใช้ หรืองานอาชีพอิสระ เช่น ขับรถรับจ้าง หาบเร่แผงลอย ขายของชำ หรือเกษตรกรชาวไร่ชาวนาชาวสวน

สวนทางกับอัตราการประสบอุบัติเหตุของผู้สูงอายุที่ทำงานนอกระบบที่เพิ่มต่อเนื่อง จากร้อยละ 13.1 เป็น 15.9 และ 16.1 ในปี 2549, 2550 และ 2551 ตามลำดับ โดยถูกของมีคมบาด/ทิ่ม/แทง สูงสุด รองลงมาคือพลัดตกหกล้ม ถูกวัสดุต่างๆ ชนหรือกระแทกทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง อุบัติเหตุจากยานพาหนะ ถูกไฟลวก/น้ำร้อนลวก ได้รับสารเคมี และไฟฟ้าช็อต โดยจำนวนนี้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (Admit) ได้เพิ่มจากร้อยละ 12 ในปี 2550 เป็น 12.8 ในปี 2551

ผลสุดท้าย แรงงานผู้สูงอายุ 2.55 ล้านคนจึงไม่เพียงไม่มีความมั่นคงในชีวิต เพราะมีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากขาดอำนาจต่อรองเรียกร้องสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายแรงงาน หากยังต้องทนทำงานไม่ปลอดภัย ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจากการทำงานก็ต้องช่วยเหลือตนเองด้านค่ารักษาพยาบาลผ่านบัตรประกันสุขภาพเป็นหลัก ด้วยไม่เคยมีเงินออมส่วนนี้เลยไม่ว่าจะพยายามเก็บหอมรอมริบแค่ไหน

และที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ แรงงานสูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในภาวะจำยอมแม้ถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำงานเสมอๆ ทั้งด้านค่าตอบแทนที่น้อยนิดเกือบจะต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) ต้องกระเบียดกระเสียรซื้อหาอาหารและสินค้าบริการจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ตลอดจนงานก็หนัก และงานขาดความต่อเนื่อง จากร้อยละ 17.9 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 19.3 ในปี 2551 ขณะอีกด้านก็ถูกสิ่งแวดล้อมในการทำงานคุกคามสุขภาวะ ทั้งฝุ่นละออง ควัน กลิ่น เสียง และแสงสว่าง

แนวโน้มปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงานของแรงงานผู้สูงอายุจึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเหมือนด้านอื่นๆ จากร้อยละ 7.9 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 9 ในปี 2551 ผู้สูงวัยชายประสบปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงานสูงกว่าหญิง โดยส่วนมากมักได้รับอันตรายจากสารเคมีและเครื่องจักรอันตราย อันเนื่องมาจากเคลื่อนไหวเชื่องช้าลง ได้ยินเสียงไม่ชัดเจน และสายตาฝ้าฟางเลือนรางจนกะระยะผิด

ทว่า ว่าก็ว่าเถอะ ใช่แรงงานผู้สูงอายุนอกระบบจะเผชิญความร้ายแรงนี้ถ่ายเดียว ด้วยแรงงานนอกระบบทุกช่วงวัยก็พบปัญหาค่าตอบแทนน้อย งานหนัก งานไม่ต่อเนื่อง และความไม่ปลอดภัยในการทำงานเหมือนกัน ต่างแต่ว่าแรงงานผู้สูงอายุส่วนใหญ่ได้รับความไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่แรกเข้าสู่ตลาดแรงงานนอกระบบเมื่ออายุ 15 ปี ปัจจุบันบั้นปลายชีวิตแล้วก็ยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ดี

ฉะนั้น หนึ่งแนวทางสร้างความปลอดภัยในการทำงานนอกระบบของผู้สูงอายุ นอกจากรัฐบาลต้องคลี่คลายปัญหาแรงงานนอกระบบทั้งระบบโดยสร้างสรรค์นวัตกรรมบำนาญชราภาพถ้วนหน้าควบคู่กับกระตุ้นการสร้างงานผู้สูงอายุเพื่อรองรับแรงงานนอกระบบทั้งสิ้นกว่า 24 ล้านคนแล้ว ก็ยังต้องเร่งกำหนดมาตรการความปลอดภัยในการทำงานนอกระบบของแรงงานผู้สูงอายุขึ้นโดยเฉพาะด้วย เพราะปัญหาแรงงานสูงอายุสลับซับซ้อนกว่ามาก โดยอย่างน้อยสุดภาครัฐก็ต้องคุ้มครองการส่งเสริมและการสนับสนุนผู้สูงอายุในการประกอบอาชีพและฝึกอาชีพที่เหมาะสม ตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 11(3) เช่น ส่งเสริมการฝึกอาชีพอิสระ และอมรมหลักสูตรเสริมทักษะ

ขณะที่นายจ้างก็ควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างสูงอายุเป็นลำดับแรก เพราะสภาพร่างกายด้อยกว่าคนหนุ่มสาว ไม่อาจทำงานหนักนานต่อเนื่อง ต้องมีเวลาพักระหว่างทำงาน และให้เลือกเวลาทำงานได้ด้วย

ส่วนแรงงานผู้สูงอายุก็ต้องต่อกรกับความไม่ปลอดภัยในการทำงานและความไม่เท่าเทียมจากการทำงานเพราะถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากตลาดแรงงาน (Age Discrimination) รวมถึงต้องฝ่าฟันทัศนคติประชาชนที่ติดฉลากประทับตราว่าผู้สูงอายุเป็นภาระลูกหลานหรือครอบครัวด้วย

ความไม่มั่นคงในชีวิตของแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบที่ยากจนจึงไม่ได้เกิดจากความเกียจคร้านหรือไม่ได้รับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม หากแต่เป็นปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างที่ยิ่งพัฒนาเศรษฐกิจยิ่งเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับรวย ด้วยค่าตอบแทนน้อยมากเมื่อเทียบกับงานหนัก ไม่ปลอดภัย และทำร้ายสุขภาวะ กระทั่งกล่าวถึงที่สุดได้ว่าแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบถูกทำให้ยากจนข้นแค้นขึ้นโดยนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่มีความเป็นธรรมสำหรับคนเล็กคนน้อย โดยเฉพาะกับคนแก่เฒ่าที่ถูกจัดเป็นคนชายขอบของสังคมทุนนิยมผูกขาดที่ทำลายทุนทางสังคมและวัฒนธรรมชุมชน

ความมั่นคงของแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบจึงหมายถึงการมีรายได้ที่เป็นธรรมพอเพียงเลี้ยงชีวิต มีบำนาญชราภาพ และมีอำนาจเจรจาต่อรองจนถึงร่วมจัดสรรทรัพยากรไม่ให้เอื้อคนร่ำรวยแต่เอารัดเอาเปรียบคนจนยากผ่านการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง สังคม

                   มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
 
กำลังโหลดความคิดเห็น