xs
xsm
sm
md
lg

5 ปี “บ้านมั่นคง” มุ่งหน้าแก้ปัญหาชุมชนทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ผู้อำนวยการ พอช.
ผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของรายได้ เกิดปัญหาความยากจน และความไม่เท่าเทียมเรื่องการบริการขั้นพื้นฐานทางด้านปัจจัยสี่ โดยเฉพาะปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ที่มีปัญหาความแออัดของชุมชน การบุกรุกป่า บุกรุกที่ดินว่างเปล่า เกิดชุมชนผู้มีรายได้น้อย คนเร่ร่อน แพร่กระจายไปทั่วทุกหัวระแหงของประเทศไทย

ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนในประเทศไทย มีการเรียนรู้จากการลองทำ ลองผิด ลองถูก เรื่อยมา กระทั่งมาตกผลึกและก่อเกิด "โครงการบ้านมั่นคง" ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่มีความเชื่อมั่นในเรื่องพลังของชุมชน โดยยกบทบาทให้ชุมชนผู้เดือดร้อนเป็นเจ้าของโครงการบ้านมั่นคงและร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาของตนเอง

นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ผู้อำนวยการ พอช.กล่าวว่า ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมานับจากรัฐบาลมอบหมายให้ พอช.ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของคนจนในเมืองและชนบทตามโครงการบ้านมั่นคงนับแต่ปี 2546 มาจนถึงบัดนี้ พอช.ได้สนับสนุนโครงการบ้านมั่นคง เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนอย่างต่อเนื่องรวม 678 โครงการ ในพื้นที่ 1,227 ชุมชน ผู้รับประโยชน์ 74,973 ครัวเรือน โดยได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาสาธารณูปโภคแล้ว 2,268.19 ล้านบาท อนุมัติงบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 2,145.40 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากการสำรวจพบว่า มีชุมชนที่เข้าสู่การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยกับโครงการบ้านมั่นคงอยู่ที่ร้อยละ 16.82 ของชุมชนผู้เดือดร้อนทั้งหมด นั่นหมายความว่า ยังมีชุมชนที่ขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยอีกมากกว่าร้อยละแปดสิบ ซึ่งชุมชนและท้องถิ่นเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่รัฐจะต้องเปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อมูลและได้รับการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยให้ทั่วถึง

ที่ผ่านมา การดำเนินโครงการบ้านมั่นคง ได้เน้นกระจายการทำงานไปตามภูมิภาคและเมือง ภายใต้เป้าหมายที่เน้นการแก้ปัญหาอย่างมีระบบการจัดการร่วมกันโดยชุมชนทุกๆ เรื่อง โครงการบ้านมั่นคงที่เกิดขึ้นแล้วทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จึงเป็นสถานีการเรียนรู้ทางด้านที่อยู่อาศัยของคณะดูงานทั้งในและต่างประเทศ จนเป็นตัวอย่างหนึ่งของการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในทวีปเอเชียที่ขบวนองค์กรชุมชนและท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการพัฒนา

บ้านมั่นคงขุนเขาสู้ภัยธรรมชาติ

โครงการบ้านมั่นคงดำเนินการมา 5 ปี ได้เข้าถึงกลุ่มคนทั่วประเทศ ไม่เว้นชุมชนที่อยู่ตามขุนเขาที่ประสบปัญหาดินโคลนถล่ม ต้องอยู่กันอย่างหวาดระแวง เฉกเช่น บ้านมั่นคงของคนขุนเขาบ้านพุยใต้ หมู่ที่ 2 ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านอยู่ในอ้อมกอดของหุบเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ สัตว์ป่า อาหารธรรมชาติอันหลากหลาย ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนมาหลายชั่วอายุคนได้อย่างกลมกลืน ตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อที่สอดคล้องกับธรรมชาติ

พ่อเฒ่าโกตา อายุ 70 ปี ชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัยดินโคลนถล่มแห่งบ้านพุยใต้ เล่าว่า บ้านพุยใต้มีอยู่ 2 เชื้อชาติ คือ เผ่าปะกาเกอะญอ และเผ่าม้ง แม้ขนบธรรมเนียมประเพณีของสองเผ่าจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ไม่เบียดเบียนกันและกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน มีป่าช่วยหล่อหลอมวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าหากัน การอยู่ร่วมกันกับป่าอย่างไม่เบียดเบียน เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชน การทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวไร่ เลี้ยงสัตว์ จึงเป็นอาชีพที่เหมาะสมกับวิถีชีวิต

อย่างไรก็ตาม กว่า 40 ปีที่ผ่านมา การประกาศให้พื้นที่บ้านพุยใต้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชน เพราะชุมชนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามวิถี จึงเปลี่ยนอาชีพมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามการสนับสนุนจากภาครัฐ วิถีชีวิตชาวบ้านจึงเปลี่ยนไป ทำมาหากินลำบากขึ้น เป็นเพราะคนภายนอกมาหยิบยื่นให้กับพวกเขา

นายอุทัย จงจิตรเสรี กำนันตำบลปางหินฝน กล่าวเสริมว่า ปัญหาการทำกินยังไม่คลี่คาย ปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติก็มารุมเร้า เมื่อ 19 สิงหาคม 2549 เกิดเสียงฟ้าร้องคำรามแทบป่าจะแตก ดินจะแยก ไม่นานสายฝนก็กระหน่ำลงสู่พื้นดินราวกับว่าฟ้ารั่วตลอดทั้งวันทั้งคืน จนแผ่นดินทั้งผืนบนภูเขาได้พังทลายลงมาพร้อมกับสายน้ำ ชาวบ้านต้องหอบลูกหอบหลานหนีตายกันจ้าละหวั่นดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต ส่วนสภาพบ้านเรือนถูกพัดพาไปกับสายน้ำหลังแล้วหลังเล่าที่เหลือก็อยู่ในสภาพที่หักพัง

เมื่อเหตุการณ์สงบเห็นสภาพบ้านพุยใต้รู้สึกใจหาย ในใจคิดอยู่เสมอว่าต่อแต่นี้ไปชาวบ้านจะอยู่กันอย่างไร ยิ่งมีกรมธรณีวิทยา เข้ามาสำรวจพื้นที่แล้วให้บ้านพุยใต้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย สมควรจะต้องย้ายออกมาให้ห่างจากรัศมีของดินถล่มดินแยก เพราะในวันข้างหน้าจะเกิดอันตราย ทำให้กำลังใจที่มีอยู่ลดลงเหลือน้อยไปมาก ไหนจะเรื่องหาที่ดินสร้างบ้าน ไหนจะเรื่องสร้างบ้าน ไหนจะเรื่องการทำมาหากิน

ต่อมา พอช.ได้เข้ามาสำรวจข้อมูลความเสียหายจากภัยพิบัติ แล้วเสนอให้ชาวบ้านเสนอโครงการขอความช่วยเหลือกรณีเร่งด่วนเรื่องการปลูกสร้างบ้าน ไม่นานก็ได้รับการอนุมัติเป็นจำนวนเงิน 1,400,000 บาท ครอบครัวที่ได้รับความช่วยเหลือ 79 หลังคาเรือน หลังละ 18,000 บาท
ชาวบ้าน ลงแรงช่วยกันสร้างบ้าน นับเป็นความเกื้อกูลกันอย่างแท้จริงชุมชน
แม้จะมีเงื่อนไขว่าต้องการบริหารแบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชน แต่ก็เป็นโอกาสอันดี ชาวบ้านจึงได้เริ่มวางแผนกันถึงกระบวนการสร้างบ้านโดยใช้ 2 ส่วนมาประกอบกัน คือย้ายออกมาจากที่ดินเดิมตามเจ้าหน้าที่แนะนำ ผสมผสานกับภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีอยู่ เพราะแม้อย่างไรชาวบ้านก็จะไม่ยอมทิ้งวิถีชีวิตความเป็นชุมชนเดิม การช่วยเหลือกันจะดูถึงความเหมาะสมของความเดือดร้อนเป็นหลัก

หลังจากได้รับงบประมาณสนับสนุน จึงคัดเลือกคณะกรรมการขึ้นกันเองในชุมชน โดยแยกออกเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบแต่ละคนอย่างชัดเจน ตั้งแต่หน้าที่ควบคุมดูแลงบประมาณ ฝ่ายจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ฝ่ายประสานงาน ฯลฯ จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการสร้างบ้าน

ในกรณีที่ใครไม่มีที่ดินสร้างบ้าน ชาวบ้านตกลงกันว่าจะเอาที่ดินมาแลกเปลี่ยนกัน เช่น ใครมีที่ดินทำกินเอามาแลกกับที่ดินเพื่อสร้างบ้าน ไม่มีการซื้อขายกันทั้งสิ้น ส่วนใครที่ไม่มีที่ดินแลกเปลี่ยน คนไหนมีที่ดินมากก็จะยกให้ปลูกบ้านฟรีๆ เป็นความเกื้อกูลกันอย่างแท้จริงส่วนการสร้างบ้านก็เป็นการช่วยเหลือเอาแรงกันจนเสร็จสมบูรณ์

จากสลัมริมน้ำลำปาวสู่บ้านมั่นคง

เช่นเดียวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ชุมชนที่อาศัยอยู่ในแถบลุ่มน้ำลำปาว ตั้งความหวังไว้เช่นเดียวกันว่าชีวิตนี้ต้องมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่า ด้วยการออกจากสลัมลำปาว ก้าวสู่บ้านมั่นคงเมืองกาฬสินธุ์ เพราะคนจนเมืองกาฬสินธุ์ทราบดีว่า การที่จะมีบ้านที่มั่นคงจะต้องประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ทั้งการอยู่ดีกินดี มีอาชีพที่มั่นคง มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ช่วยเหลือเกื้อกูลในยามเดือดร้อนของคนทุกคนในชุมชน บนพื้นฐานของความพอเพียง

นายแสงจันทร์ ภาวิขำ ผู้ประสานงานโครงการบ้านมั่นคงเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลำปาว ซึ่งเป็นสายน้ำที่ใช้ประกอบอาชีพหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านมานาน แต่วันนี้กลายเป็นแหล่งรวมบ้านเรือนของชาวบ้านที่อพยพเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัยจากทั่วสารทิศ จนกลายเป็นสลัมลำปาวทอดยาวกว่า 6 กิโลเมตรในปัจจุบันนี้

ต่อมาเทศบาลจึงได้มีโครงการที่จะทำลำปาวให้สวยใสโดยการขุดลอกแม่น้ำ เพราะแต่ละปีน้ำจะท่วมชุมชนที่อาศัยอยู่ลำปาว ต้องอพยพขึ้นมาอาศัยตามท้องถนน ทำให้การจราจรติดขัดและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เทศบาลจึงมีนโยบายขับไล่ผู้บุกรุกให้ออกจากลำปาว แต่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างปัญหาให้กับคนจนที่ไม่รู้จะโยกย้ายไปอยู่ที่ไหน ดังนั้น เทศบาลต้องรับผิดชอบชีวิตของพวกเขาเราโดยหาที่อยู่อาศัยให้กับคนกลุ่มนี้

ผู้ประสานงานโครงการฯ บอกว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของคนจน จึงได้ลงสำรวจข้อมูลโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนว่า มีกี่ครอบครัว ต้องหาที่ดินเท่าไหร่จึงจะเพียงพอกับความต้องการ หลังการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นปรากฏว่ามีอยู่ 200 กว่าครอบครัวที่ต้องย้ายออกจากริมปาว

“เราไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี จนเมื่อปี 2547 จึงได้รู้จักกับ พอช.ที่เขามีโครงการทำบ้านมั่นคง โดยการหาที่อยู่อาศัยให้แก่คนจน จึงได้ประสานงานไปยัง พอช.เพื่อหาทางออกร่วมกัน และได้เริ่มทำโครงการนำร่อง 1 ชุมชน คือ ชุมชนคุ้มห้วย จำนวน 117 ครอบครัว เริ่มจากการให้ชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อสร้างบ้าน จากนั้นจึงขอซื้อที่ดินจากเอกชนจำนวน 10 ไร่ เมื่อโครงการแรกก็สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นชาวบ้านจึงให้ความสนใจมากขึ้น”

ต่อจากนั้น จึงมาคิดร่วมกันว่าหากแก้ไขปัญหาทั้งเมืองกาฬสินธุ์ น่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จึงประสานความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ซึ่งเห็นดีด้วย จึงได้นำเอาข้อมูลชาวบ้านที่ไปขึ้นทะเบียน สย. ที่ต้องการที่อยู่อาศัย ซึ่งเมื่อรวมทั้งหมดแล้วปรากฏว่ามีทั้งสิ้น 500 กว่าครอบครัว ที่ต้องหาที่อยู่อาศัย จากนั้นก็เริ่มหาที่ดินและได้ที่ดินของราชพัสดุ จำนวน 15 ไร่และอีกแปลงหนึ่งเป็นของเอกชนจำนวน 12 ไร่ ทั้งหมดนี้สามารถจัดสรรได้ทั้งหมด

นอกจากช่วยเหลือชุมชนสลัมลำปาว ผู้เดือดร้อนจากการลงทะเบียน สย.แล้วยังมีกลุ่มคนบ้านเช่าที่เช่าบ้านมานานจนไม่มีโอกาสมีบ้านเป็นของตนเองก็ให้เข้ามาอยู่ในโครงการนี้เช่นกัน

ชุมชนคุ้มห้วย ยอมเป็นหนูทดลองยาให้กับชุมชนอื่นๆ ชุมชนจึงเริ่มจากการออมทรัพย์ร่วมกัน ประชุมร่วมกัน ทำสาธารณูปโภคต่างๆ โดยขอใช้สินเชื่อจากเทศบาล และ พอช.เสร็จแล้วจึงแบ่งที่ดินออกเป็นสองส่วน คือ ใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง 30% ที่เหลืออีก 70% ใช้เป็นพื้นที่เพื่อสร้างบ้าน เราใช้ระเบียบนี้ทั้ง 3 โครงการ

ส่วนการบริหารการจัดการ ทุกคนได้มาออกกฎระเบียบเพื่อความอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี ส่วนการแบ่งเนื้อที่ดินบางคนต้องการ 18 ตารางวา บางคนต้องการ 22 ตารางวา แต่ไม่เกินนี้ ค่าบ้านส่งเดือนละ 1,800 กว่าบาท เป็นเงินไม่มากไม่น้อย พอหาได้ โครงการบ้านมั่นคงจึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างรวดเร็ว

นี่เป็นความสำเร็จจากการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของคนจนทั้งเมืองในจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกิดจากการร่วมมือกันหลายฝ่าย วันนี้ชาวสลัมลำปาวจึงมีบ้านที่มั่นคง

กำลังโหลดความคิดเห็น