xs
xsm
sm
md
lg

อนุ กก.สมานฉันท์เสนอ 7 ข้อเสนอเร่งด่วนให้ กก.พิจารณา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสนาะ เทียงทอง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์
ที่ประชุมอนุ กก.สมานฉันท์ เสนอ 7 ข้อเร่งด่วนให้กรรมการสมานฉันท์ รุมจวกสื่อ ตัวการสร้างความขัดแย้ง แนะ ต้องงดเสนอข่าว นักการเมืองพูดใส่ร้าย ด้าน ปธ.อนุฯสมานฉันท์ โต้นักการเมืองต้องดูตัวเองด้วย ขณะที่ “ป๋าเหนาะ” ชี้ ลดวิวาทะยาก เพราะใช้มือที่สามป้ายสี หนักใจถอยคนละก้าวยาก ระบุ ปัญหาเกิดจากคนวงนอก ชี้ ตั้ง รบ.ทุกพรรคไล่กุ๊ยการเมืองเป็นทางออก ฟาก “ปชป.-เพื่อไทย” โต้จัดสรรงบลงพื้นที่ไม่เป็นธรรม สร้างความขัดแย้ง เตรียมสรุป กก.ชุดใหญ่ ให้ข้อเสนออนุฯสมานฉันท์ ผ่านแล้ว 2 ข้อ

วันนี้ (26 พ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น.มีการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มี นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ประธานคณะกรรมการเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย ซึ่งคณะกรรมการกำหนดตารางการพิจารณาไว้ 3 วัน คือ วันที่ 26-28 พฤษภาคม

นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมการสร้างความสมานฉันท์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ข้อสรุปว่า คนไทยทุกคนเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องช่วยกันพาสังคมออกจากปัญหา โดยต้องร่วมกันทำเร่งด่วนต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนรู้สึกร่วมกันเกิดความผูกพันประเทศ และตระหนักกับวิกฤต เพื่อให้หาทางออกร่วมกัน จึงมีข้อเสนอระยะเร่งด่วน 7 ข้อ คือ 1.ลดวิวาทะไม่ตอบโต้ร้ายทางการเมือง โดยให้พรรคการเมืองเป็นเจ้าภาพ 2.รัฐบาลและฝ่ายค้านต้องลดการสร้างเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง โดยต้องเริ่มแสดงพฤติกรรมเพื่อเป็นแบบอย่างในสังคม 3.ให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้ามาเป็นเครือข่ายในการรณรงค์และสร้างความสมานฉันท์ในชาติ เพื่อพื้นที่ข่าวสร้างสรรค์ สื่อสารลดความขัดแย้ง 4.ควรมีกระบวนการเจรจาสร้างสันติสุขกับคู่ขัดแย้งทุกระดับ โดยมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า และองค์กรที่เป็นกลางยอมรับได้ของทุกฝ่ายเป็นเจ้าภาพ เพื่อลดความขัดแย้ง

5.ตั้งสมัชชาสมานฉันท์เพื่อระดมความเห็นจากประชาชนทั้ง 4 ภาค โดยรัฐสภาเป็นเจ้าภาพ 6.สร้างรัฐธรรมนูญสมานฉันท์ โดยมีการศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้ และผลของการบังคับใช้ ต้องให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน โดยมีรัฐสภา คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ส.และ ส.ว.รวมไปถึงองค์กรประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันคิด นำไปสู่การเลือกตั้งที่สันติ 7.สร้างกระแสสังคมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ไม่เลือกสี ไม่เลือกข้างว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

นายตวง กล่าวว่า นอกจากนี้ ควรให้รัฐสภาตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ทำงานต่อไป เพื่อรองรับการปฏิรูปการเมืองในอนาคต การแก้รัฐธรรมนูญ การยุบสภาที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง โดยผ่านองค์กรเครือข่ายทางความคิดทุกฝ่าย เพื่อลดระดับความขัดแย้งในประเด็นการเมือง

จากนั้นที่ประชุมได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดย นาย อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สนับสนุนให้มีสภาสมานฉันท์ แต่ต้องพัฒนาให้ถึงการปฏิรูปการเมือง และการแก้รัฐธรรมนูญ จนไปถึงเลือกตั้ง ส.ส.ร.3 เพราะประเทศวนเวียนกับปัญหาธนาธิปไตย และ อำมาตยาธิปไตย ทั้งนี้ ประเด็นการลดวิวาทะทางการเมือง ตนสนับสนุนแต่ต้องมีมาตรการจูงใจ เช่น ใครใส่ร้าย พูดเท็จในสภา ต้องมีบทลงโทษ ใครมีข้อเสนอที่ดีต้องให้รางวัล

นายคณิน บุญสุวรรณ กรรมการสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อเสนอการลดวิวาทะเป็นเพียงรูปธรรม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น นักการเมืองถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายตลอด โดนชี้หน้าว่า โกงเลือกตั้ง หรือแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ฉะนั้น ต้องมองให้ชัดว่า ใครบ้างที่มีส่วน แม้กระทั่งนักวิชาการ การแสดงความเห็นบางครั้งกระเดียดไปในทางใส่ร้าย รวมถึงสื่อที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ กรรมการ กล่าวว่า การจะลดความขัดแย้งคงเป็นไปไม่ได้ เพราะกลุ่มที่ขัดแย้ง มีจุดยืนต่างกันมาก ซึ่งโดยปกติก็ต้องตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามเพื่อรักษาจุดของตัวเอง และยังมีสื่อขยายผล วิวาทะจึงดำรงอยู่ สิ่งที่จะทำได้คือ ให้กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งเห็นว่า การตอบโต้เป็นผลเสียต่อสังคมและไม่ได้รับการสนับสนุนจากสังคม เช่น ปัญหาเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ในศรีลังกา ที่มีความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรงมากว่า 30 ปี จนประเทศไม่ได้รับการพัฒนามีแต่ความขัดแย้ง อยู่ได้แบบไม่มีอนาคต ดังนั้นการชี้ให้คนส่วนใหญ่เห็นถึงผลของความขัดแย้งที่ทำให้ประเทศเสียหายจึงมีความจำเป็นอย่างมาก

นายอรรคพล สรสุชาติ กรรมการจากสัดส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การลดวิวาทะจะทำไมได้เลย หากไม่พูดกับสื่อชัดๆ ว่า อะไรควรเป็นข่าว แต่ข่าวจากสื่อ ก็เป็นสิ่งสะท้อนสังคม ไม่ต่างจากละคร สุดท้ายก็เป็นการขยายผลจากวิวาทะ ในอดีต ที่แรงที่สุดคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีการขยายผล หรือการถ่ายทอดสอ แต่ตอนนี้ ทั้งการปราศรัยตามที่ต่างๆ ก็ถ่ายทอสดทั้งนั้น ก็ต้องปลุกอารมณ์ ตนคิดว่า สื่อต้องคว่ำบาตรคนที่พูดจาไม่สร้างสรรค์ ไม่เสนอข่าวคนๆ นั้น ทั้งนี้ วิวาทะไม่ได้มีแค่ครั้งเดียวจบ แต่มีมาเรื่อยๆ ยิ่งวันเสาร์อาทิตย์ ไม่มีข่าว แต่ละคนก็สรรหาคำมาโต้ตอบกัน เช้าพูด สายโต้ตอบ เย็นวิเคราะห์ ค่ำเชิญนักวิชาการมาผสมโรง รุ่งขึ้นข่าวก็เป็นการยำทั้งหมดรวมกัน ขยายผลต่ออีก สื่อเองก็เอาไมค์ไปจ่อปาก เป็นข่าวปิงปอง ประชาชนก็ดูบางช่วงไม่ได้ดูบางช่วง เกิดความเบื่อหน่าย ฉะนั้นต้องวิวาทะ ลดทิฐิ ลดอคติ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ กรรมการจากสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สนับสนุนให้สื่อการคว่ำบาตรไม่ลงข่าวผู้ที่พูดเท็จ ใส่ร้าย สร้างความขัดแย้ง เหมือนในต่างประเทศ สื่อก็มีมาตรการแบบนี้กับคนที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ส่วน นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน กรรมการจากสัดส่วนพรรคเพื่อไทย เสนอว่า ต่อไปควรมีโรงเรียนการเมือง เพื่อเตรียมพร้อมมาตรฐานของคนที่จะเข้าสู่วงการการเมือง

ด้าน นายตวง ชี้แจงว่า ที่อภิปรายกันมา ไม่แน่ใจว่า ที่ประชุมจะแก้ปัญหาที่โลกทัศน์ของประชาชน หรือโลกทัศน์ของนักการเมืองกันแน่ เพราะประชาชนดูถ่ายทอดการประชุม ก็เห็นข้อเท็จจริงอยู่ว่า นักการเมืองทะเลาะกัน ไม่ได้พูดสาระสำคัญอะไรมากมายในการประชุม ฉะนั้นนักการเมืองต้องดูตัวเองด้วยเช่นกัน สมมติฐานของคณะอนุกรรมการฯคือ นักการเมืองต้องเป็นคนเริ่มในการหยุดการสร้างเงื่อนไขทั้งหลาย ซึ่งทำได้ง่ายสุด เพราะเป็นผู้แทนจากประชาชน

ขณะที่ นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ที่ปรึกษาคณะกรรมการ กล่าวว่า การจะทำให้สมานฉันท์เป็นรูปธรรม ต้องมองไปที่สาเหตุ ซึ่งข้อเสนอข้อ 1.เรื่องการลดการวิวาทะ ตนคิดว่า วิวาทะ ไม่ได้สร้างความแตกแยกประชาชนมากนัก เหตุที่เกิดขึ้นอย่ามาโยนแต่นักการเมือง นักการเมืองเล่นการเมืองตามระบบ แต่ก็ถูกดูหมิ่น ตนเป็นนักการเมืองเก่าแก่ ยอมรับว่า วิวัฒนาการทางการเมือง เปลี่ยนจารีตประเพณีที่ทำให้ประชาชน เคารพมั่นใจในนักการเมือง เดิมคำว่าผู้แทนราษฎร ไปที่ไหนสง่างาม ภูมิใจในตัวเอง และวงศ์ตระกูล แต่ต่อมา ก็มีการโจมตีว่า ซื้อเสียง เดิมรัฐมนตรีสง่างาม แต่เดี๋ยวนี้ รัฐมนตรีชื่ออะไร หน้าเป็นอย่างไร ประชาชนยังไม่รู้จัก นี่คือปัญหา

นายเสนาะ กล่าวว่า การลดวิวาทะการตอบโต้ เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง แต่เมื่อก่อนทางการเมือง ไม่ได้มีการมดเท็จใส่ร้ายป้ายสีจนเกินเหตุ แต่เดี๋ยวนี้มีเครื่องมือเยอะแยะ ใครพูด ทำอะไรไปขัดผลประโยชน์ของตนเอง ก็จะมีใช้มือที่สองที่สาม ไปกล่าวหา เดี๋ยวนี้มีนักวิชาการที่รับจ้าง ไปออกรายการ พูดเหน็บแนม เยอะแยะ คณะอนุกรรมการชุดนี้สำคัญมาก ต้องทำให้เป็นรูปธรรมให้ได้ แต่ต้องดูดีๆ ว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิวาทะ หรือเรื่องอื่นๆ พัฒนาไปไกลเหลือเกิน จนตนหนักใจ ทางที่จะถอยคนละก้าว ไม่มีแล้ว ยาก เพราะมีมือที่สอง สาม ทำให้การเมืองแตกแยกกันอย่างละเอียด ร้าวลึกถึงประชาชน

“ปัญหาเกิดจากคนนอกวง และกลุ่มผลประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าเป็นข้างในวง จะไม่ขนาดนี้ ตอนนี้พรรคการเมืองเป็นแก๊งการเมือง เดี๋ยวนี้ซื้อผู้แทนเลยแล้วมาตั้งกันเป็นแก๊งเป็นกลุ่มเป็นฝ่าย เกิดการส่งนอมินีเข้ามาเป็นผู้แทนฯ เข้ามาเป็นรัฐมนตรี มาจัดสรรผลประโยชนื รัฐบาลก็ต้องมีเสียง จึงเกิดปรากฏการณ์ว่า ใครจะเอาอะไรก็ได้ ดังนั้น ผมคิดว่า ต้องหาทางจัดรัฐบาล ไล่กุ๊ยการเมืองไปให้ได้ ทำได้ปัญหาจบเลย และผมจึงบอกว่า จับมือกันทุกฝ่ายได้หรือไม่ เป็นสมัชชากันทุกฝ่าย สร้างความมั่นใจ แต่นี่ก็ไม่ทำกัน ผู้ใหญ่ทั้งนั้นยังเล่นแง่เล่นมุมกัน บุคลากรตอนนี้แค่นี้มีไม่พอบริหารประเทศหรอก ผมคิดว่า ช่วยกันหาคนนอก คนใน แต่ละพรรคช่วยกันสรรหามา คนนอก 10 คน คนใน 20 คน แค่นี้ สมานฉันท์คนทุกภาคให้เกิดความปรองดอง เสียสละกันแป๊บเดียวเอง ไปไหนก็ไปหาประชาชนด้วยกัน เลือกตั้งคราวหน้าถ้ามีปัญหา ก็เอาแบบนี้อีก ไม่รู้ว่า ทำไมไม่ช่วยกันรักษาบ้านเมืองไว้” นายเสนาะ กล่าว

นายเสนาะ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอข้อ 2 กรณีให้รัฐบาลและฝ่ายค้านลดการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง เวลานี้ฝ่ายค้านและรัฐบาล มี 6-7 พรรค ถ้าหันหน้ามาหากัน คงไม่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็ง บ้านเมืองวิกฤตตกต่ำสุดๆ ทำไมไม่ทำ วันนี้ มีอะไรมากมาย มีมือปืนรับจ้าง สร้างความแตกแยก ปล่อยไปวิบัติ ทำแค่นี้ไม่ได้ ก็ไม่ควรอาสามาทำงานเพื่อบ้านเมือง ถ้าหันหน้ามาหากัน โดยอาศัยคนจากประชาชนไปอุดรอย ไม่ใช่ไปหาช่างมาฉาบ มาอ๊อก ทั้งนี้ไม่ใช่การฮั้วกัน แต่เป็นการฮั้วกันทำให้กับประเทศชาติ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กรรมการ กล่าวว่า ประเด็นลดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตนคิดว่า การจัดสรรงบประมาณที่ไม่เป็นธรรมนำไปสู่ความขัดแย้งมาก เรื่องนี้มีกรณีเกิดขึ้นในอดีตที่ว่า ให้งบลงพื้นที่ ส.ส.ของตัวเองก่อน และไม่ให้พื้นที่ของฝ่ายค้าน การใช้งบแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของบ้านตัวเองนำมาสู่การรักษาฐานเสียง แต่บ้านเมืองโดยรวมจะไปไม่รอด ตนสู้เรื่องนี้มาตลอด และหากพรรคตนเป็นรัฐบาลแล้วจัดสรรงบไม่เป็นธรรม ตนก็จะสู้

นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กรรมการ กล่าวว่า เรื่องการจัดสรรงบในอดีต ไม่น่าเป็นวิวาทะอีก รัฐบาลไหนทำแบบนั้นอยู่ไม่ได้แน่ แต่ควรจะมาดูตอนนี้มากกว่าเพราะเกิดปัญหาขึ้นแล้ว โดยสมัยพรรคตนเป็นรัฐบาลก็ทำถนนร่วมกับเพื่อนฝ่ายค้าน พอวันนี้ตนมาเป็นฝ่ายค้าน ถนนแหว่งตรงกลาง พอไปถามกรมทางหลวงชนบท ได้รับคำตอบว่า เป็นเหตุผลฝ่ายการเมือง

นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย กรรมการ กล่าวว่า การจัดสรรงบตอนนี้เป็นความขัดแย้งสำคัญ ขนาดมีกฎหมายจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกไปแล้ว แต่ยังมีความไม่เท่าเทียม เช่น งบท้องถิ่น 15,000 ล้านบาท ตอนนี้เบิกจ่ายไปได้ 4,000 ล้านบาท และลงในพื้นที่ฝ่ายรัฐบาลทั้งนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากการอภิปรายนานกว่า 3 ชั่วโมง นายดิเรก ได้สรุปข้อเสนอระยะเร่งด่วน ซึ่งที่ประชุมมีมติแก้ไขแล้ว 2 ข้อ คือ 1.ให้ทุกฝ่ายลดวิวาทะ ลดทิฐิ ลดอคติ และการตอบโต้ใส่ร้ายทางการเมือง ทั้งนักการเมืองและองค์กรทางสังคม 2.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ควรลดเงื่อนไขเดิมที่มีอยู่และไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ในความขัดแย้ง และนัดประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาข้อเสนอที่เหลือต่อ ในวันที่ 27 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 09.30-16.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น