ว่าที่รมว.ศึกษาฯ เตรียมใช้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ ย้ำกฏเหล็ก 9 ข้อถือเป็นบรรทัดฐานให้นักการเมืองรุ่นต่อๆไป ชี้แค่บกพร่องต่อหน้าที่ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน เชื่อ"นิพิฏฐ์"ไม่ถอดใจ เลิกเล่นการเมือง มั่นใจ“วิทยา” ทำหน้าที่ปธ.วิปรัฐได้ดี เพราะเก๋าทางการเมือง
วันนี้ (7 ม.ค.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และว่าที่รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ได้ส่งข้อความทางโทรศัพท์ มาแสดงความยินดีว่า ความจริงทุกคนที่เป็นแคนดิเดตได้ให้กำลังใจ และยืนยันว่าตนมีความเหมาะสม ส่วนกรณีนายนิพิฏฐ์นั้นเป็นเพื่อนส.ส.รุ่นเดียวกัน และทำงานร่วมกันมา เมื่อวานนี้ (6 ม.ค.) พอมติพรรคได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว นายนิพิฏฐ์ก็ส่งข้อความมาแสดงความยินดี และขอให้ตนได้ทำงานในหน้าที่ในตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ ให้ประสบความสำเร็จ เพราะถือว่าตนเหมาะสมแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าดูเหมือนนายนิพิฏฐ์ให้สัมภาษณ์ทำนองน้อยใจ ถึงขั้นจะยุติบทบาท เลิกเล่นการเมือง นายชินวรณ์ กล่าวว่า เราได้คุยกันตลอด และไม่มีเรื่องนี้ นายนิพิฏฐ์ยังยืนยันว่า ยังยินดีที่จะเป็นประธานฝ่ายกฎหมายของพรรค และร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ต่อไป ตนเข้าใจว่านายนิพิฏฐ์ยังมีอนาคตอีกยาวไกล และเป็นคนที่ทุ่มเททำงานให้กับพรรคอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นโอกาสย่อมจะมีกับคนที่มีความอดทน และมีความพยายามเสมอ
เมื่อถามว่าคิดว่าการปรับครม.ครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในพรรคหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ไม่มี เมื่อวานนี้ (6 ม.ค.) ในที่ประชุมพรรคก็ชัดเจนว่า พรรคได้ดำเนินการตามกระบวนการของข้อบังคับ และเป็นการคัดสรรรัฐมนตรีอย่างมียุทธศาสตร์ และเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย และที่สำคัญทุกคนที่เป็นแคนดิเดตได้ขึ้นเวทียืนยันกันชัดเจนว่า เหมือนที่นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันไปแล้วว่าการปรับครั้งนี้ เป็นการปรับแทนตำแหน่งรมว.สาธารณสุข ซึ่งเมื่อกรรมการบริหารพรรคเห็นว่า ควรจะมีการสับเปลี่ยนตำแหน่งให้เหมาะสมกับงาน โดยเอาตนอยู่กระทรวงศึกษาธิการ และโยกนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไปอยู่กระทรวงสาธารณสุข เป็นสิ่งที่ตนเข้าใจว่าเพื่อนส.ส.ให้การตอบรับ และเมื่อวานนี้มีผู้ใหญ่ของพรรคหลายคนมานั่งคุยกับตนว่า ไม่เคยมีการคัดเลือกรัฐมนตรีครั้งใดที่มีการปรบมือและขานรับอย่างกึกก้องเหมือนครั้งนี้ ตรงนี้จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคได้ยึดแนวทางที่ถูกต้อง รวมทั้งอธิบายเหตุผลให้ทุกฝ่ายเข้าใจได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่แกนนำพรรคภูมิใจไทยระบุว่า กฎเหล็ก 9 ข้อใช้ได้กับพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคใด นายชินวรณ์ กล่าวว่า ตนไม่อยากแสดงความคิดเห็น เพราะกำลังอยู่ในจุดที่เป็นกระบวนการขั้นตอน แต่ตนเข้าใจว่าเมื่อนายกฯ ได้วางมาตรฐานทางการเมือง ก็เป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องช่วยดึงและดันให้การเมืองของเรา ได้รับความเชื่อถือและความศรัทธาจากประชาชน ส่วนการที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวนั้น เราก็ต้องลดเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว และผลประโยชน์เรื่องพรรคออกไป ตนเชื่อว่านายกฯ สามารถที่จะขับเคลื่อน พัฒนามาตรฐานดังกล่าว ให้เป็นบรรทัดฐานทางสังคมไทยต่อไป เมื่อถามว่าภาพที่ออกมายืนยันแล้วว่านายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ยืนยันว่าไม่ออก นายชินวรณ์ กล่าวว่า บางเรื่องก็ต้องรอกระบวนการ ดังนั้น ก็คงต้องให้โอกาสทุกคนได้พิสูจน์ และตนเข้าใจว่ากฎเหล็กในทางการเมืองทุกคนก็ต้องยอมรับ ตนเองก็ยังตระหนักเลยว่า เมื่อมีโอกาสได้เข้าไปนั่งในตำแน่งรัฐมนตรี ก็ต้องทำงานด้วยความมุ่งมั่นและซื่อสัตย์ สุจริตและจะเอาผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะเมื่อนายวิทยา แก้วภราดัย อดีตรมว.สาธารณสุข ได้แสดงสปิริตลาออก ก็ถือว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานเอาไว้ในระดับหนึ่งแล้ว ต่อไปนี้ใครก็ตามที่แม้ว่าไม่ทุจริต แต่ว่าละเลย บกพร่องก็ต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของประธานวิปรัฐบาลได้มอบหมายงาน หรือเป็นห่วงงานจุดไหนบ้าง นายชินวรณ์ กล่าวว่า เดิมทีเดียวหลายคนก็เป็นห่วง เพราะการทำงานในช่วงที่เกิดความแตกแยกขึ้นในบ้านเมืองที่ผ่านมา ถือว่าวิปทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันที่นำเป้าหมายมาเป็นตัวตั้ง ในการทำงานให้เกิดผลชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเสนอร่างกฎหมาย และทำงานร่วมในฐานะคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อปฏิรูปการเมือง และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถือว่าเดินหน้าไปได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ เมื่อได้นายวิทยา แก้วภราดัย มาแทนตนในตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล ตนเข้าใจว่าความวิตกกังวลดังกล่าวจะหมดไป เพราะนายวิทยาถือว่าเป็นผู้ที่มีความอาวุโสทางการเมือง และเป็นคนที่มีพรรคพวก เพื่อนฝูงสามารถที่จะประสานงานได้ และที่สำคัญคือประธานวิปรัฐบาลจะต้องสามารถชี้แจงหลักเกณท์ ข้อบังคับในสภาให้เป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งตรงนี้คิดว่านายวิทยาจะทำได้ดี ไม่มีปัญหาอะไร แต่ในช่วงระหว่างเปลี่ยนผ่านมีงานส่วนใดที่ยังค้างอยู่ ที่วิปได้เตรียมการไว้ อาทิ กฎหมายทั้งหมดที่จะเข้าสู่สภาสมัยประชุมหน้า ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเรื่องการรับมืออภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งตนจะเข้าร่วมประชุมกับวิปรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 18 ม.ค. เพื่อที่จะได้สานต่อ และให้การทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม งานในสภาแม้ว่าตนจะเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว ตนก็ถือว่าสำหรับบทบาทของส.ส. ตนก็ต้องทำหน้าที่ให้งานด้านฝ่ายนิติบัญญัติเดินหน้าต่อไปได้