“ประธานกรรมการสมานฉันท์” ลั่นเดินมาถูกทางแล้ว เชื่อดึงคู่กรณีเข้ามาร่วมแสดงความเห็นจะหาข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ด้านเวทีเสวนาประสานเสียงปฎิรูปการเมืองจะเกิดได้จริงต้องปลูกฝังจิตสำนึกรักประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับอนุบาล ด้านตัวแทนสหภาพรัฐวิสาหกิจงง เหตุสมานฉันท์ครั้งนี้ใครได้ประโยชน์กันแน่
วันนี้ (29 พ.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “เราต้องการอะไรจากการปฏิรูปการเมือง” เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า เหตุที่ตั้งกรอบการทำงานให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วันไม่ใช่เกมซื้อเวลาของใคร แต่เกิดขึ้นจากความวิตกของทุกคนที่ไม่เคยเห็นบ้านเมืองแตกแยกมากมายขนาดนี้ หากไม่ตั้งคู่กรณีมาร่วมเป็นกรรมการเลยก็เชื่อว่าแต่ละฝ่ายจะไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯแน่ แต่ถ้าให้คู่กรณีร่วมแสดงความคิดอย่างเต็มที่เพื่อหาข้อยุติร่วมกันมั่นใจว่าท้ายสุดจะนำไปสู่การยอมรับและปฏิบัติได้
“ผมคิดว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ในครั้งนี้ ถือว่าเราได้เดินมาถูกทางแล้ว” นายดิเรก กล่าว และว่า นอกจากรับฟังความคิดเห็นจากการสัมมนาแล้วยังได้เปิดเวทีสมัชชาสมานฉันท์ทางอากาศโดยขอเวลาจากสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและเปิดเว็บไซต์ของรัฐสภา คือ www.parliament.go.th พร้อมเปิดตู้ ปณ. และส่งหนังสือขอความเห็นไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงของการเสวนาได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความเห็น โดยนายสมเกียรติ รอดเจริญ อดีต ส.ส.ร.ปี 50 แสดงความเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 50 เป็นการพัฒนารัฐธรรมนูญปี 40 ให้ดีขึ้น แต่นักการเมืองรู้สึกไปเองว่าติดขัด จึงควรนำกลับไปสอบถามประชาชนทั้งประเทศว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้าน นายสยม สยมภู เลขาธิการพรรคกิจสังคม แสดงความเห็นว่าการเมืองในปัจจุบันปิดโอกาสพรรคการเมืองที่เกิดใหม่และคิดว่าผู้ที่เป็นรัฐมนตรีในขณะนี้ล้วนเห็นด้วยกับการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่ไม่กล้าพูด เพราะสามารถทำให้เกิดนักการเมืองหน้าใหม่ได้ดี
นายวิรัตน์ สุขสวัสดิ์ ผู้แทนจากสหภาพรัฐวิสาหกิจ แสดงความเห็นว่า การเมืองปัจจุบันเป็นตัวสร้างปัญหาให้แก่บ้านเมืองเสียเองแทนที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้แก่บ้านเมือง และทุกคนกำลังตั้งคำถามในครั้งนี้ว่าสมานฉันท์แล้วใครได้ประโยชน์ ปฏิรูปการเมืองเพื่อประโยชน์ของใครกันแน่ เป้าหมายที่แท้จริงมีอะไรแอบแฝงหรือไม่
นางชวนี ทองโรจน์ ตัวแทนจากประชุมอธิการบดี ม.ราชภัฏ กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากคน หากไปแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วผู้ปฏิบัติไม่เข้าใจก็ย่อมจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนไปอีก จึงต้องใช้การศึกษาปลูกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตย ควรสอดแทรกในหลักสูตรทุกระดับมิใช่แค่ระดับอุดมศึกษา และปลูกฝังจิตสึกนึกแนวความคิดประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับอนุบาล อยากเห็นโรงเรียนที่จะฝึกนักการเมืองที่ดีๆ บ้าง โดยเฉพาะเรื่องมารยาทที่จะต้องเป็นต้นแบบให้กับสังคม ไม่ใช่ใช้กริยาและคำพูดที่เสียดสีกันอยู่ตลอดเวลา
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กล่าวว่า จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เห็นความคิดของรมว.ศึกษาธิการที่จะเร่งปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นประชาธิปไตยให้แก่เยาวชนอย่างจริงจัง ดีแต่พูดกันไปว่าควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ลงมือปฏิบัติ ทั้งที่ต่างประเทศจะมีหลักสูตรพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้แก่เยาวชนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงปริญญาตรี
ด้าน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณะกรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า ความสมานฉันท์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการฝ่าข้ามความลำบากของประชาชนส่วนใหญ่แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะประเทศไทยน่าจะได้คณะรัฐมนตรีที่มีคุณภาพและประกอบด้วยคนที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศโดยการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง จึงเสนอให้ปฏิรูปการเมืองที่สมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดและให้เลือกนายกรัฐมนตรีรวมทั้งคณะรัฐมนตรีโดยตรง เพราะเชื่อว่าจะสามารถแก้วงจรอุบาทว์ทางการเมือง การซื้อเสียง ถอนทุน รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ซื้อเสียงได้ ที่สำคัญการเมืองใหม่จะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อมีระบบการศึกษาเพื่อมวลชนที่เข้มแข็ง ต้องเป็นการศึกษาที่ปลูกฝังประชาธิปไตยให้หยั่งรากลึก ให้คนทั้งหมดเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเต็มที่