xs
xsm
sm
md
lg

กก.สมานฉันท์ประสานสื่อ เพิ่มพื้นที่ สร้างสมานฉันท์ พท.เพ้อ จี้คืนสิทธิ์ “นช.แม้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กก.สมานฉันท์ มีมติประสานสื่อเพิ่มพื้นที่ สร้างความสมานฉันท์ ชงรัฐสภาเป็นเจ้าภาพควานหาคู่กรณีนั่งโต๊ะเจรจา เพื่อยุติความขัดแย้ง และแก้ไข รธน.ฉบับเฉพาะหน้า และฉบับถาวร ขณะที่ พท.จี้ คืนสิทธิ์ความเป็นธรรมให้ “นายใหญ่” แนะ “มาร์ค” หนุนแก้ รธน.ร่างกติกาใหม่ให้ ปชช.ตัดสินใจเลือกใครกลับมาบริหาร ปท.เชื่อ สมานฉนท์เกิดได้หากใช้แนวทางนี้

วันนี้ (27 พ.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการ ทำหน้าที่ประธาน ในที่ประชุม โดยเป็นการนัดสรุปข้อเสนอของคณะอนุกรรมการสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย โดยที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการจัดให้เวทีสมัชชาสมานฉันท์ทางอากาศเพื่อสร้างกระแสให้เกิดความปรองดอง และเปิดเวทีให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นในทุกภาคทุกพื้นที่ โดย นายตวง อันทะไชย ประธานอนุกรรมการสร้างความสมานฉันท์ รายงานว่า เพื่อต้องการลดพื้นที่ข่าวทำร้ายทำลายประเทศเพิ่มพื้นที่ข่าวในการสร้างความสมานฉันท์ให้สื่อมวลชนช่วยสร้างสังคมสมานฉันท์ โดยให้รัฐสภาเป็นเจ้าภาพประสานงานกับสื่อ ทั้งนี้ ได้มีการประสานกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 หรือ เอ็นบีที ไว้เรียบร้อยแล้วถึงรูปแบบการดำเนินการและจัดให้มีเวทีสมานฉันท์ทั้ง 4 ภาค ที่สมาคมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน รับเป็นผู้ดำเนินการ

ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานอนุกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องระบุว่าอย่าเอาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นหลักการพูดคุยในรายการที่จะจัดขึ้น เพราะจะทำให้เสียเวลามาก แต่ให้รับฟังข้อเสนอแนะเรื่องรัฐธรรมนูญมารวบรวมไว้

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ทำอย่างไรจะได้รับความร่วมมือจากสื่อสารมวลชนที่ไม่เป็นทางการและมีการรายงานในลักษณะเอียงข้างทั้งเคเบิลทีวีและวิทยุชุมชน ขณะที่ นายคณิน บุญสุวรรณ กรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า ควรให้สื่อสารมวลชน หรือรัฐสภาเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการจัดรายการ เนื่องจากจะทำให้เนื้อหามีความเป็นกลางไม่เอียงข้างไปข้างใดข้างหนึ่ง นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช กรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า ควรขอความร่วมมือจากสื่อให้ระวังในการพาดหัวข่าว และการใช้ภาษาของผู้รายงานข่าวด้วย

ในที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับข้อเสนอให้มีเวทีสมัชชาสมานฉันท์ทางอากาศ
สำหรับกระบวนการเจรจาต้องสร้างความสันติสุขกับคู่ขัดแย้งทุกระดับโดยการประสานงานอย่างไม่เป็นทางการกับคู่กรณี โดย นายตวง เสนอให้สถาบันพระปกเกล้าฯรับเป็นเจ้าภาพในการเจรจากับคู่ขัดแย้งหากจับคู่ขัดแย้งได้ก็จะถึงกรอบในการเจรจาเพียงแต่ต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้เริ่มต้นในการเจรจาก่อน เพราะเชื่อว่าจะเป็นทางออกให้กับประเทศ แต่นายไพจิต ศรีวรขาน กรรมการสมานฉันท์ จากพรรคเพื่อไทย แย้งว่า ยังมองไม่เห็นว่าคู่ขัดแย้งจะมาเจรจากันได้อย่างไร และใครจะมาเจรจาหรือจะอาศัยมือที่มองไม่เห็น

ขณะที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา กรรมการสมานฉันท์ ขอให้แก้ไขให้รัฐสภา ซึ่งมีตัวแทนจากทุกฝ่ายเป็นเจ้าภาพคนกลาง และผู้เริ่มต้นในการเจรจากับคู่ขัดแย้ง เพราะไม่ควรให้รัฐบาล หรือสถาบันพระปกเกล้าดำเนินการเอง และกลไกการเจรจาจะสำเร็จได้จะต้องหาคู่ขัดแย้งให้พบเสียก่อนว่าบ้านเมืองที่มีปัญหาเกิดจากความขัดแย้งระหว่างใครกับใครกันแน่ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นด้วยที่จะแก้ไขให้รัฐสภาเป็นเจ้าภาพ หรือคนกลางเชิญคู่ขัดแย้งมาเจรจากันเพื่อยุติความขัดแย้งทางสังคมและนำไปสู่กระบวนการเยียวยา

ส่วนการจัดตั้งสมัชชาสมานฉันท์ส่วนภูมิภาค เพื่อระดมความเห็นจากประชาชนทั้งสี่ภาค โดยมีรัฐสภาเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้มีพื้นที่ให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นอย่างเป็นอิสระ ซึ่ง นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ กรรมการสมานฉันท์จากพรรคเพื่อไทย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากรัฐบาลไม่กำชับข้าราชการในระดับพื้นที่ให้มีความเป็นกลาง ความสมานฉันท์ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะปัจจุบันทุกพื้นที่ยังมีทหารลงไปให้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนอยู่ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้รัฐภาเป็นเจ้าภาพและเพิ่มให้สภาพัฒนาการเมืองเป็นอีกหนึ่งในองค์กรที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย

สำหรับการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์ โดยให้รัฐสภา รัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ส. ส.ว.และองค์กรภาคประชาชนทุกภาคส่วนรวบรวมข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับที่ผ่านมานั้นโดย นายตวง ได้ให้เหตุผลว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงบางส่วน หรือทั้งฉบับก็ได้เพียงขอให้ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์ที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้ก่อน ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมใช้เวลาถกเถียงกันถึงชื่อหัวข้อที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงได้นานกว่าครึ่งชั่วโมงในที่สุดที่ประชุมมีมติให้แก้ไขหัวข้อที่ 6 ใหม่เป็น “แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายของการประชุม นายตวง ยังได้เสนอให้มีคณะกรรมการสมานฉันท์ถาวร เพื่อรองรับกระบวนการปฏิรูปการเมืองการแก้ไขรัฐธรรมนูญและรองรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันแก่สังคมไทยที่จะต้องเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยร่วมกันด้วย แต่ นายกฤต อาทิตย์แก้ว กรรมการสมานฉันท์ ระบุว่า เป็นการกระทำที่นอกเหนือหน้าที่ ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมการสมานฉันท์ เห็นว่า สามารถเสนอให้ประธานรัฐสภาพิจารณาได้ ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่ก็เห็นสอดคล้องกันว่าให้เป็นข้อเสนอหนึ่งของคณะอนุกรรมการที่จะเสนอให้ประธานรัฐสภาพิจารณาต่อไป

จากนั้นเป็นการพิจารณาข้อ 4 กระบวนการเจรจาสร้างสันติสุขกับคู่ขัดแย้งทุกระดับ
นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กรรมการ กล่าวว่า นึกภาพไม่ออกว่าจะเจรจาอย่างไรในทางลับ และใครจะเป็นเจ้าภาพ รัฐบาลก็เป็นคู่ขัดแย้งอยู่ และปกติการเจรจาก็ต่อเมื่อฆ่ากันตายสองฝ่าย แต่ตอนนี้เป็นความขัดแย้งทางความคิด เถียงกันสามวันสามคืนก็ไม่จบ ใครจะเจรจา หรือจะให้มือที่มองไม่เห็นเจรจา ทำให้ นายตวง ชี้แจงว่า ต้องจับคู่ขัดแย้งให้ตรงกับปัญหาก่อน แล้วค่อยออกแบบการเจรจา ซึ่งการเจรจาแต่ละประเด็นก็มีความแตกต่างกัน บางประเด็น รัฐบาลเป็นเจ้าภาพเริ่มต้นกระบวนการเจรจาก็ได้ ทั้งนี้ อาจเริ่มจาก 2 พรรคที่มีความขัดแย้งมาจับมือกันก่อน ซึ่งต้องให้คู่ขัดแย้งเข้าใจกันก่อน จากนั้นนำไปสู่การออกแบบเจรจาเพื่อสมานฉันท์

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา กรรมการ กล่าวว่า เจรจาทางลับยาก ยิ่งสื่อมีอิสระมาก ขนาดไม่ได้มีการเจรจาอะไรยังหาว่า มีการเจรจาเรื่องสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ และกับวาระ ส.ว.สรรหา ตนคิดว่า ความขัดแย้งช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา เป็นเรื่อง การต้องการเข้าสู่อำนาจและการไม่ต้องการให้อีกคนเข้าสู่อำนาจ แต่ตนชื่นชม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ที่ทำยิ่งกว่าเจรจา คือ ประกาศว่าช่วยไปสร้างความสมานฉันท์ แก้รัฐธรรมนูญ แล้วค่อยเลือกตั้ง ตนคิดว่า เลือกตั้งอีกประมาณ 2 ครั้ง คงเขย่าให้เข้ากันได้ ซึ่งสิ่งที่ นายเสนาะ พูด เป็นเรื่องจริง แต่อาจไม่ต้องใช้วิธีการอย่างที่ นายเสนาะ เสนอก็ได้

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย กรรมการ กล่าวว่า หากแก้เรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคมได้ ทุกอย่างจบ ความไม่เป็นธรรมประกอบด้วย 2 ส่วน คือ คน และกติกา หมายถึงรัฐธรรมนูญ จึงต้องแก้ตรงนี้ โดยคนต้องละวางผลประโยชน์ แต่แก้ตรงนี้ก็ลำบาก อีกทางเลือกหนึ่ง คือ แก้กติกา เพื่อเปิดช่องให้จัดการคนที่เห็นแต่ผลประโยชน์ สร้างความขัดแย้ง ฉะนั้น รัฐธรรมนูญที่มาจากการปฏิวัติ สร้างเครือข่าย มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ คือ ต้นเหตุชัด จึงต้องแก้บางมาตราที่เป็นความขัดแย้ง แล้วเลือกตั้งให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ เมื่อมีรัฐบาลใหม่ก็ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อย่าให้รัฐธรรมนูญที่ไม่บริสุทธิ์เป็นเครื่องมือทำลายเจตนารมณ์ของประชาชน ตนเชื่อมั่น นายอภิสิทธิ์ ว่า เป็นนักประชาธิปไตย จึงฝากความหวังด้วย

หลังจากการหารือนานกว่า 1 ชั่วโมง นายดิเรก กล่าวสรุปว่า ยุทธศาสตร์ข้อ 4 คือ การให้รัฐสภาเป็นเจ้าภาพจัดให้มีกระบวนการเจรจาระหว่างผู้ขัดแย้ง ทั้งการเปิดเผยบนโต๊ะเจรจา และการประสานงานอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งมีผลที่คาดว่า จะได้รับ 3 ประการ คือ นำความสันติสุขมาสู่สังคม ยุติความขัดแย้งในสังคม และนำไปสู่การเยียวยา
กำลังโหลดความคิดเห็น