40 คณะ ส.ว.อออกแถลงการณ์คัดค้านรัฐบาลเขยแม้วกุลีกุจอแก้ รธน. ชำแหละตั้ง ส.ส.ร.3 แก้วิกฤตชาตไม่ได้ แถมย่ำยีจิตใจ ปชช. เข็นร่าง รธน.ฉบับหมอเหวงเข้าสู่สภา ถลกหนัง “สมชาย” ร่างทรง “แม้ว” ตัวจริง
วันนี้ (6 ต.ค.) ที่รัฐสภา กลุ่ม 40 ส.ว.เลือกตั้งและสรรหา เช่น น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. นายตวง อันทะไชย พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ร่วมกันหารือกรณีข้อเสนอการแก้วิกฤตการเมืองด้วยการตั้ง ส.ส.ร. 3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550
จากนั้นคณะ 40 ส.ว.ร่วมกันแถลงคัดค้านการแก้วิกฤตการเมืองด้วยวิธีการดังกล่าว โดยนายตวง กล่าวว่า การดำเนินการของรัฐบาลขณะนี้กำลังจะนำไปสู่ทางตันของประเทศอีกครั้ง เพราะแทนที่รัฐบาลจะแสดงความจริงใจในการปรองดองคนในชาติ แต่ปรากฏว่า มีการจับกุมแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ มือขวาบอกว่าจะลดเงื่อนไขความขัดแย้ง แต่มือซ้ายกลับจับกุมแกนนำผู้ชุมนุม แล้วบอกว่าจะให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯมาเจรจากับพันธมิตรฯ ถามว่าทำแบบนี้แล้วจะเจรจาได้อย่างไร นอกจากนี้ รัฐบาลบอกจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่กลับนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) เข้าสู่กระบวนการรัฐสภา ถือเป็นการสร้างความแตกแยกที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบโดยตรง เพราะรัฐบาลบรรจุเรื่องการสร้างความสมานฉันท์ในการแถลงนโยบายของรัฐบาล จึงถือว่าไม่จริงใจในการแก้ปัญหา
“แม้จะชนะทางการเมือง แต่ประเทศกำลังเสียหายหนัก ตอนนี้รัฐบาลทำให้ประชาชนมั่นใจไม่ได้เลยว่า จะไม่มีการปิดสนามบิน ปิดส่วนราชการ คณะ ส.ว.เป็นห่วง จึงเรียกร้องให้รัฐบาล จริงใจแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้ต่อยอดความแตกแยก โดย ส.ว.มองว่าการแก้รัฐธรรมนูญแก้วิกฤตไม่ได้” นายตวง กล่าว
ด้าน น.ส.รสนา กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งเริ่มจากการที่ฝ่ายการเมืองมุ่งแก้รัฐธรรมนูญ 50 ทำให้พันธมิตรฯ ออกมาประท้วงคัดค้าน เพราะมองเห็นว่าเป็นการทำเพื่อปลดล็อกคดีต่างๆ ของตัวเอง เช่น คดียุบพรรค หรือคดีทุจริตของอดีตนายกฯ ถึงตอนนี้สังคมเหมือนจะยอมรับการแก้วิกฤตด้วยการมี ส.ส.ร.3 แต่เมื่อประธานสภานำร่างฯ ของ คปพร.เข้าสู่กระบวนการรัฐสภา ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า เป็นเกมการเมือง เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระบุในจดหมายก่อนหนีออกนอกประเทศว่า ต้องแก้ด้วยการเมือง ฉะนั้น ไม่ว่าจะตั้ง ส.ส.ร. 3 หรือเอาร่างของ คปพร.มา ปัญหาความขัดแย้งของประเทศจะยิ่งลุกลามรุนแรง เพราะชัดเจนว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเกมเพื่อแก้ปัญหาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งนี้ คณะ ส.ว.เห็นด้วยกับนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธาน ส.ส.ร.40 ที่แม้ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 50 แต่ก็ระบุว่า ไม่ควรแก้รัฐธรรมนูญ 50 ตอนนี้ แต่ควรใช้ไป 3 ปีก่อน ทั้งนี้ การมี ส.ส.ร.3 จะกลายเป็นการใช้เสียงส่วนใหญ่ในสภาล็อกสเปก เป็นเกมยาว ส่วนเกมสั้นคือใช้ร่างของ คปพร.
“นอกจากนี้ ประธานสภาอาจทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะการที่ประชาชนแม้เข้าชื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย แม้จะเอากฎหมายประกอบปี 42 มาใช้แทนก็ไม่ได้ เพราะข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ 50 ต่างจากของปี 40 รวมถึง มาตรา 291 ไม่ได้ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ร่าง คปพร.ถือเป็นการเอาฉบับปี 40 กลับมาใช้เท่ากับยกเลิกฉบับ 50 ถือเป็นรัฐประหารเงียบ แต่ประธานสภาก็บรรจุเข้าวาระการประชุมรัฐสภา” น.ส.รสนา กล่าว
ส่วน พ.ท.กมล กล่าวว่า ที่ประธานสภานำร่าง คปพร.เข้าสู่วาระการประชุมทำให้ยิ่งเกิดความแตกแยกรุนแรง ทั้งนี้ การจะแก้รัฐธรรมนูญต้องศึกษา แต่ฝ่ายรัฐบาลจู่ๆ จะมาแก้ โดยใช้เกมเสียงข้างมาก ทั้งที่รัฐธรรมนูญมีเพื่อคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เพื่อนักการเมืองเสียงข้างมาก ฉะนั้นตอนนี้ไม่ควรแก้รัฐธรรมนูญด้วยวิธีการใด
ขณะที่ นายสมชาย กล่าวว่า การตั้ง ส.ส.ร.3 ไม่ใช่ทางแก้ที่ถาวร แต่การแก้ที่ถาวรคือมีคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาปฏิรูปสังคมทั้งหมด โดยอาจนำผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียทางการเมืองมาเป็นคณะกรรมการประมาณ 10 กว่าคน เช่น อดีตประธานศาลฎีกา อดีตนายกฯ ประธานที่ดีอาร์ไอ นักวิชาการ สื่อ อดีตข้าราชการ อดีตประธาน ส.ส.ร.เป็นต้น ซึ่งคล้ายข้อเสนอของ 24 อธิการบดี จากนั้นก็ให้เวลาคณะกรรมการพิเศษทำงาน เมื่อได้ข้อมูลมาก็ถามประชามติประชาชนว่าจะให้ดำเนินการเรื่องนั้นๆ ดีหรือไม่ โดยคณะกรรมการนี้ ผู้นำ 4 ฝ่าย คือ ประธานสภา ประธานวุฒิสภา นายกฯ ผู้นำฝ่ายค้าน อาจตกลงกันและตั้งในนามรัฐสภา มีเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ามาเป็นเลขาฯ คณะกรรมาการชุดนี้ จึงขอให้ผู้นำ 4 ฝ่ายที่จะหารือกันเย็นนี้ทบทวนเรื่อง ส.ส.ร.3 และพิจารณาเรื่องคณะกรรมการพิเศษด้วย
เมื่อถามว่า หากสถานการณ์ไปถึงจุดตีบตัน นายกฯ ควรยุบสภาหรือไม่ น.ส.รสนา กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ ก็รับผิดชอบด้วยการยุบสภา ทั้งนี้ นายกฯ ที่เป็นน้องเขยอดีตผู้นำ ถ้าไม่มีสถานะนี้จะเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ แถมยังไปเคารพบรรพบุรุษด้านภรรยาแล้วประกาศว่า อดีตผู้นำเป็นคนดีต้องตอบแทน สะท้อนว่า การเข้ามาครั้งนี้เป็นร่างทรงเข้ามาปลดล็อกให้อดีตผู้นำ วันนี้คดีต่างๆ เริ่มชัดแล้ว อดีตผู้นำพอจะแพ้จึงหนีไปต่างประเทศ การแก้ปัญหาวิกฤตประเทศจึงอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายกับทุกฝ่ายอย่างยุติธรรม โดยจับแกนนำพันธมิตรฯ และจับ พ.ต.ท.ทักษิณ มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่จะมาแก้รัฐธรรมนูญแบบปากว่าตาขยิบ จนประชาชนหมดความเชื่อถือ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้มีปัญหากับประชาชน แต่มีปัญหากับนักการเมืองเท่านั้น นอกจากนี้การมีคณะกรรมการพิเศษน่าจะเป็นทางออก เหมือนที่นายมารุต บุญนาค ประธานสภา เคยตั้ง นพ.ประเวศ วะสี ก่อนมี ส.ส.ร.1 หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่ทั้งนี้ต้องไม่แตะมาตรา 291
ผู้สื่อข่าวรายด้วยว่า คณะ 40 ส.ว.ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า คณะ ส.ว.มีความเห็นต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน 5 ประเด็น ดังต่อไปนี้ 1.ขณะที่นายกฯ มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ ทำหน้าที่ช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งโดยเฉพาะส่งตัวแทนไปเจรจากับพันธมิตรฯ แต่หากเกิดการจับกุมกับพันธมิตรสองคนส่งผลให้ล้มโต๊ะการเจรจาอย่างสิ้นเชิง ปิดทางแห่งการปรองดองสมานฉันท์ทำให้การเกิดการเผชิญหน้าขึ้นอีกครั้งหนึ่ง 2.การจับกุม พล.ต.จำลอง โดยตั้งข้อหากบฏ ถือว่ารุนแรงเกินกว่าเหตุ ไม่ใช่การดำเนินการตามกระบวนการปกติของกฎหมาย แต่เป็นปฎิบัติการเพื่อตอบสนองแนวทางของฝ่ายการเมือง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ แทนที่จะทำให้สถานการณ์วุ่นวายในทางบวก กลับทำให้เกิดวิกฤตการณ์เผชิญหน้า สุ่มเสี่ยงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง 3.ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไป รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ทำความผิดอะไรเลย การเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองที่จะถูกตัดสินยุบพรรค เป็นการปลดล็อกให้อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยให้พ้นผิดจากคดีต่างๆ ซึ่งขณะนี้คดีมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นปก.เป็นการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย และยังไม่มีกฎหมายประกอบเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมา ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ในบอบช้ำมายิ่งขึ้น คณะ ส.ว.จึงขอคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแข็งขัน หรือการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนพ.เหวง หรือการตั้ง ส.ส.ร.3 ก็ตาม
4.ปัญหาของประเทศมีขอบเขตกว้างไกล ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม การศึกษาวัฒนธรรมและความขัดแย้งในสังคม ปัญหาของประเทศจึงต้องปฎิรูปในมิติที่กว้างขวาง ด้วยการให้มีคณะกรรมการพิเศษที่เป็นอิสระขึ้นมาทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศชาติในองค์รวม ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 คณะ ส.ว.เห็นด้วยกับนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธาน ส.ส.ร.ที่ระบุว่าไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ใช้ไป 3 ปีก่อน 5.รัฐบาลจะปรองดองสมานฉันท์หรือต้องการให้เกิดการเผชิญหน้านำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งเป็นปมเงื่อนสำคัญอย่างยิ่ง คณะ ส.ว.เห็นร่วมกันว่ารัฐบาลควรลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความรุนแรง หากเกิดความรุนแรงใดๆ ขึ้นรัฐบาลผู้มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้