xs
xsm
sm
md
lg

“เจิมศักดิ์” เตือนสื่อ กำลังตกเป็นเครื่องมือ รบ.-หลอกให้เสนอข่าว 3 ส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
อดีต ส.ส.ร.“เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” เตือนสื่อมวลชน กำลังตกเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลหลอก ให้นำเสนอข่าวว่า 3 ส.พรรคพลังประชาชนใครจะได้เป็นนายกฯ โดยที่ลืมมองประเด็นว่า ที่จริงแล้วทั้ง 3 ส.และพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ จนไม่มีสิทธิ์เลือกนายกฯแล้ว-นักวิชาการรัฐศาสตร์ “อัษฎางค์ ปานิกบุตร” จวกการเมืองปัจจุบัน มีแต่เรื่องผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึง ปชช.แนะปฏิรูปการเมืองใหม่ ให้คนนอกเข้ามาร่วมบริหาร

วานนี้ (16 ก.ย.) รายการคมชัดลึก ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนนัล ดำเนินรายการโดย นางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร ทั้งนี้ เนื้อหาในรายการได้มุ่งประเด็นไปที่การพูดคุยแสดงความคิดเห็นว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งเมื่อเริ่มรายการผู้ดำเนินรายการถามว่า คิดว่าใครใน 3 ส.ของพรรคพลังประชาชน อันได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.คลัง ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 50 จึงกล่าวตอบว่า ตนไม่คิดอยากจะตอบคำถามนี้เลย เพราะโดยส่วนตัวแล้วตนคิดว่า ขณะนี้สื่อมวลชนกำลังถูกพรรคร่วมรัฐบาลหลอก โดยการเบี่ยงประเด็น ให้สื่อนำเสนอเรื่องของ 3 ส.ในพรรคพลังประชาชน ว่า ใครจะได้เป็นนายรัฐมนตรี ให้สื่อต่างๆ เดากันไป และให้น้ำหนักกับประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียว ซึ่งเปรียบเสมือนการไปซื้อสินค้าแล้วคนขายเอามาให้เลือกว่ามี 3 สีจะเอาสีไหน แล้วเราก็พยามเลือกใน 3 สีนั้น โดยที่ลืมไปเลยว่าของสิ่งนั้นเหมาะสมที่จะซื้อหรือไม่

เช่นเดียวกับกรณีนี้ ที่สื่อมวลชนไม่ได้คิดถึงความเหมาะสม ว่า แท้จริงแล้ว 6 พรรคร่วมรัฐบาล ยังเหมาะที่จะมีอำนาจในการคัดเลือกผู้บริหารบ้านเมืองหรือไม่ เพราะหากพิจารณากันให้ดีแล้ว ก็จะเห็นได้เลยว่ารัฐบาลชุดนี้กระทำผิดมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งการไปเซ็นแถลงการณ์ร่วมเขาพระวิหาร เรื่องการจัดตั้งม็อบมาปลุกปั่น เพื่อหวังให้เกิดความรุนแรงในการชุมนุม รวมไปถึงคดีที่ 3 พรรคร่วมรัฐบาลกำลังจะถูกยุบ ซึ่งทั้งหลายนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความชอบธรรมในทางกฎหมายที่จะจัดตั้งรัฐบาลแล้ว

ดังนั้น ประเด็นที่สังคมควรจะกล่าวถึงในวันนี้ ก็คือ จะทำอย่างไรให้ปฏิรูปการเมืองใหม่ได้มากกว่า เพราะการเมืองแบบเดิมๆ ที่เต็มไปด้วยธุรกิจผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติดีขึ้เลย มีแต่จะแย่ลง ดังนั้น ตนมองว่า ทางออกของปัญหาบ้านเมืองในวันนี้ จึงไม่ใช่เป็นการพูดถึงว่า 1 ใน 3 ส.ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงจะแก้ไขปัญหาได้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องพูดว่าจะปฏิรูปการเมืองใหม่ ให้การเมืองในประเทศพัฒนาไปได้อย่างไร

นายเจิมศักดิ์ เสนอด้วยว่า ตนคิดว่า การปฏิรูปการเมืองใหม่นั้น ควรเริ่มจากการตั้งคณะทำงานขึ้นมาฟื้นฟูภาพรวมของการเมือง โดยเริ่มจากการแก้ไข รธน.บางส่วนที่จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้ระบบสามารถพัฒนาได้ โดยกระจายอำนาจการบริหารไปยังภาคส่วนต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ใช่ให้อำนาจการบริหารอยู่แต่ในกำมือของนักการเมือง จากนั้นก็ต้องทำการปฏิรูปสื่อ โดยมุ่งให้ความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชน รวมไปถึงทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความศักดิ์สิทธิ์ และเอาจริงกับกติกาทางการเมือง ทั้งนี้ตนมองว่าตอนนี้ระบบศาลก็มีความศักดิ์มากแล้ว จะติดอยู่บ้างก็ในขั้นของตำรวจที่ควรต้องปฏิรูป ซึ่งหากทำได้เช่นนั้นจึงจะถือเป็นการปฎิรูปการเมืองได้อย่างสัมฤทธิ์ผล

ด้าน รศ.อัษฎางค์ ปานิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ตนคิดว่าการเมืองในขณะนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทั้งสิ้น ดังนั้น เรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่แค่หากจัดสรรผลประโยชน์ต่อรองกันลงตัว การเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ก็หมดปัญหา ดังนั้น ตนจึงมองว่า การเมืองของประเทศไทย ยังคงเป็นการเมืองแบบเดิมๆ ที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ โดยไม่ได้คิดทำประโยชน์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

ดังนั้น ตนจึงอยากจะเสนอแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้ คือ ขอให้มีการคัดเลือกคนนอกที่มีความรู้ความสามารถ ที่ทุกประชาชน นักวิชาการทุกภาคส่วนยอมรับ เข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นคณะรัฐมนตรีจำนวน 1 ใน 3 ของ คณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีคนที่เป็นกลาง มีความรู้ความสามารถขึ้นมาร่วมบริหารบ้านเมือง แทนที่จะมีแต่นักการเมืองหน้าเดิมๆ ที่แท้จริงแล้วก็ไม่ค่อยมีความสามารถบริหารบ้านเมืองเท่าไหร่ แต่เข้ามาดำรงตำแหน่งได้ก็เพราะอิทธิพลของกลุ่ม และการต่อรองผลประโยชน์ จนทำให้บ้านเมืองมีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ แต่ก็อยู่ที่ว่านักการเมืองในขณะนี้จะกล้าหรือไม่ เพราะหากกล้าก็จะถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะปฏิรูปการเมืองได้

ขณะที่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเช่นเดียวกันว่า ตนเชื่อว่าหากวันสองวันนี้ ผลการต่อรองภายในพรรคพลังประชาชนลงตัว ก็คงจะได้รายชื่อนายกรัฐมนตรีออกมาแล้ว ส่วนสาเหตุที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าสรุปแล้วจะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นเพราะขณะนี้หลายกลุ่มก็กำลังต่อรองตำแหน่งกันอยู่ เพราะตำแหน่งที่ต่อรองกัน จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ เพื่อจะได้นำไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

นายองอาจ กล่าวต่อไปว่า โดยส่วนตัวแล้ว ตนเชื่อว่า 3 ส.ของพรรคพลังประชาชนนี้ไม่มีความเหมาะสม จะเป็นนายกรัฐมนตรีเลย ซึ่งความเหมาะสมของตนไม่ได้อยู่ที่การศึกษา หรือคุณสมบัติส่วนตัวแต่อย่างใด แต่อยู่ที่ว่า ระหว่าง 7 เดือนที่รัฐบาลชุดนี้บริหารบ้านเมือง ทั้ง 3 ส.นี้เคยประพฤติตนไม่เหมาะสมมาแล้ว ทั้งเรื่องของการลงนามในแถลงการณ์ร่วมเขาพระวิหาร ที่ศาล รธน.ก็ตัดสินแล้วว่า ครม.ชุดนี้มีความผิด รวมไปถึงการบริหารประเทศที่ ครม.ชุดดังกล่าวพยายามทำหลายเรื่องที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ทั้งการแก้ รธน. การโยกย้ายข้าราชการเพื่อหวังประโยชน์ของตัวเอง ดังนั้น ทั้ง 3 ส.และ ครม.ชุดนี้จึงไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีอีกต่อไปแล้ว

จึงเป็นที่มาที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพิเศษ ซึ่งรัฐบาลพิเศษตามความหมายของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติตามหมายเดิมๆ ที่เอาทุกพรรคมารวมกัน เมื่อนักการเมืองมีความเห็นไม่ตรงกัน เพราะทำเช่นนั้นจะเหมือนการกระทำที่เมื่อ แบ่งผลประโยชน์ไม่ตรงกัน มารวมกัน แล้วแบ่งปันผลประโยชน์เสียซึ่งแนวทางแบบนั้น ตนไม่เรียกว่ารัฐบาลแห่งชาติ แต่เป็นรัฐบาลผลาญชาติ

ทั้งนี้ รัฐบาลพิเศษ ในความหมายของพรรคประชาธิปัตย์ คือ การเอานักการเมืองที่อยู่ในระบอบรัฐสภาอยู่แล้ว มารวมกับประชาชนในภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่นักการเมือง เข้ามารวมกันเพื่อบริหารบ้านเมืองและหากลไกในการแก้ไขปัญหาของชาติพร้อมกัน อันจะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาทางการเมืองได้อย่างแท้จริง
รศ.อัษฎางค์ ปานิกบุตร
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์
กำลังโหลดความคิดเห็น