“อภิสิทธิ์” รับปากรัฐบาลจะไม่บรรจุแผนแก้ รธน.ไว้ในร่างนโยบาย จัดตารางพิสูจน์ฝีมือ 1 เดือน เชื่อปัญหาภายในพรรคจะราบรื่น เตือน “แม้ว” อย่าโฟนอินปลุกระดม ชี้ประชาชนเดือดร้อนมากพอแล้ว ไม่ให้ราคาม็อบเสื้อแดงป่วนสภา
วันนี้ (22 ธ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เตรียมชุมนุมที่สนามหลวงและเรียกร้องให้ยุบสภาว่า สิ่งที่ตนต้องการจะทำคือ ดูแลให้บ้านเมืองสามารถตั้งหลักและเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะขณะนี้ต้องยืนยันความเป็นประธานและความเป็นผู้นำในอาเซียน เพื่อให้ต่างชาติมั่นใจ และประเทศไทย รวมทั้งคนไทยจะได้ประโยชน์ ซึ่งหากทำตรงนี้ได้จะทำให้ปัญหาเศรษฐกิจมีกรอบการทำงานที่ทำให้เรามั่นใจว่าคนจะไม่ตกงานจำนวนมาก หรือหากคนตกงานเราจะมีมาตรการรองรับ ขณะเดียวกันก็เปิดทางสำหรับการปฏิรูปการเมือง ซึ่งน่าเชื่อได้ว่าในที่สุดต้องนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากตั้งธงที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เกรงจะเข้าใจผิดคิดว่าแก้เพื่อเรื่องนั้นเรื่องนี้ ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่บรรจุเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบาย ทั้งนี้เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาคัดค้านจากกลุ่มเพื่อนเนวิน เพราะตอนคุยกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็อยู่ในกรอบของการปฏิรูปการเมืองทั้งสิ้น
ส่วนกรณีที่ยังคงมีปัญหาขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและการบริหารประเทศหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามที่จะทำให้ทุกอย่างราบรื่น และตนมั่นใจว่าไม่มีปัญหา รวมทั้งมั่นใจว่ารัฐบาลอยู่ในภาวะที่เริ่มต้นทำงานได้ หลังจากนั้นเราก็เอาผลงานมาเป็นตัวช่วยในเสถียรภาพ ซึ่งคิดว่าในช่วง 2-3 เดือนแรกต้องมีความชัดเจนมาก อย่างน้อยที่สุดที่วางตารางเวลาเอาไว้หลังแถลงนโยบายภายใน 1 เดือน คือเรื่องของอาเซียน กับเรื่องแผนเศรษฐกิจเรียบร้อย
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาล โดยย้อนถามว่ารัฐบาลไหน และยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเป็นกระบวนการที่ให้ความเป็นธรรม เชื่อถือได้ และอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนที่จะยังคงเดินหน้าโฟนอินนั้น เห็นว่าหาก พ.ต.ท.ทักษิณจะพูดคุยกับใครก็สามารถทำได้ แต่อย่าปลุกระดมหรือกระตุ้นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เพราะคนไทยเดือดร้อนกันมาเป็นปี จึงอยากให้หลายสิ่งหลายอย่างเดินไปข้างหน้าได้
เมื่อถามว่าบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศจะต้องเข้าไปดูแลไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นฐานในการโจมตีประเทศไทยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเชื่อว่ามิตรประเทศคงไม่อยากให้ใครใช้ประเทศของเขามาโจมตีไทย แต่ขณะนี้เราไม่ทราบว่าที่ไปที่มาของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นอย่างไร