xs
xsm
sm
md
lg

หมอพลเดช ค้าน “หมัก” นายกฯ เสนอตั้ง รบ.ไร้ขั้ว ตั้ง ส.ส.ร.3 แก้วิกฤตชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
“หมอพลเดช” เสนอแนวทางคลายวิกฤต ชี้ ยิ่งดัน “สมัคร” เป็นนายกO สัญญาณรุนแรงจะเกิดขึ้น พร้อมเสนอรัฐบาลไร้ขั้ว ที่นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ยก ส.ส.ร.3 เป็นตัวกลางผสานปัญหานำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย้ำหากได้รัฐบาลหน้าใหม่ช่วยเรียกศรัทธาจากประชาชนคืนมา

วันนี้ (11 ก.ย.) เมื่อเวลา 11.30 น. นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป อดีต รมช.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาทางการเมือง ว่า ตอนนี้หน้าต่างของการแก้ปัญหาได้เปิดแล้วโดยศาล แต่จะเป็นการเปิดเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้ง ส.ส.และ สภา จะมีสิทธิในการใช้อำนาจ และใช้โอกาสนี้ในการคลายวิกฤตปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น แทนประชาชนทั้งประเทศ แต่หากไม่คว้าโอกาสนี้เอาไว้วิกฤตก็จะเกิดขึ้นหนักกว่าเดิม

ทั้งนี้ หากมองกลับไปที่ปมปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น มาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล นำโดยพรรคพลังประชาชน และการเมืองภาคประชาชน โดยกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นความขัดแย้งต่อเนื่องมากว่า 4 ปี และความขัดแย้งนั้นก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ จนมาสู่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีของ นายสมัคร สุนทรเวช ก็เป็นเหมือนโอกาสในการยุติปัญหานั้นจะเปิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งในวันที่ 12 ก.ย.จะชี้ได้ว่ากระบวนการต่างๆ จะรุนแรงขึ้น หรือว่าจะก้าวผ่านช่วงสำคัญไปได้ด้วยดี

“ในเมื่อหน้าต่างแห่งโอกาสเปิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ว่า จะสามารถก้าวผ่านพ้นวิกฤตไปได้โดยไม่จำเป็นต้องนองเลือด และการปฏิวัติ หากทหารออกมาปฏิวัติในช่วงนี้ก็จะไม่เป็นผลดีเลย แต่หากหลังจากที่มีการเสนอตัวนายกฯ และเป็นหน้าเก่าๆ ที่จะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ทีนี้เมื่อทหารจะออกมาอาจจะได้ ดังนั้น จึงอยู่ที่บทบาทของ ส.ส.ในสภา ซึ่งแต่ละขั้วแต่ละกลุ่มก้อน จะเป็นตัวกุมชะตาประเทศไว้ ซึ่งประชาชนทั่วประเทศจับตามองอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้”

เมื่อถามว่าอะไรคือส่วนสำคัญในการผ่าวิกฤตครั้งนี้ นพ.พลเดช กล่าวว่า หัวใจสำคัญในการฟันฝ่า คือ ต้องให้มีรัฐบาลที่มีการปฏิรูปการเมือง ซึ่งใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ แต่ต้องมุ่งมั่นในการปฏิรูปการเมือง รอบ 2 ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยถือกุญแจสำคัญที่อยากจะเสนอ คือ การเกิดขึ้นของ ส.ส.ร.3 ที่จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมให้ทุกฝ่ายคุยกัน มีการเจรจาต่อรองเกิดขึ้นจากทุกฝ่าย และรับความคิดเห็นจากทั้งประชาชนระดับรากหญ้าจนถือชั้นบน ที่จะนำมาซึ่งการยุติปัญหาต่างๆ และรัฐสภา ส.ส. ส.ว.ต้องมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นปิดท้ายด้วยการทำประชามติ เชื่อว่า เมื่อผ่านกระบวนการทุกอย่างไปได้จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ และผลประชามติจะเห็นด้วยเกิน 90%
นายสมัคร สุนทรเวช
นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นนับแต่นี้เป็นต้นไปนั้น สามารถออกได้ทั้ง 3 ด้าน คือ 1.รัฐบาลโดยพรรคพลังประชาชน ที่มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม แต่จะยิ่งเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ของวิกฤตประเทศ 2.รัฐบาลขั้ว คือ ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ที่นำโดยพรรคใหญ่ เช่น พรรคพลังประชาชน แต่เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือเปลี่ยนไปเลย ซึ่งก็จะมีโอกาสในการปฏิรูปการเมืองได้แต่ก็จะมีข้อจำกัด และจะยังมีการต่อสู้ระหว่างขั้วเกิดขึ้นอยู่ 3.รัฐบาลไร้ขั้ว ซึ่งเป็นเหมือนรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งก็จะแบ่งได้อีกว่า ไร้ขั้วแบบมีพลังประชาชนเป็นแกนนำ, ไร้ขั้วแบบมีประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ, ไร้ขั้วแบบมีพรรคเล็กเป็นแกนนำ ซึ่งแนวทางนี้จะเอื้อต่อการปฏิรูปการเมืองมากที่สุด และรูปแบบสุดท้ายคือการนำคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องยุ่งยากกับการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 171 วรรค 2 ซึ่งก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น

“วิธีการที่จะนำไปสู่การคลายวิกฤตนั้นการได้มาซึ่งรัฐบาลหน้าใหม่ ที่มีความสด ไม่มีรอยด่าง ประชาชนจะให้ความเชื่อถือมากกว่าหน้าเดิมแน่นอน และการโหวตนายกรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ก็อยากให้มีการปลดล็อกพันธนาการระหว่าง ส.ส.กับต้นสังกัด ได้มีโอกาสใช้ดุลพินิจของตนเอง ไม่ควรอยู่ภายใต้มติของพรรคในการโหวตเลือกตัวนายกรัฐมนตรี แต่ก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้เป็นเหมือนการโยนหินถามทาง แต่สิ่งสำคัญคือไม่อยากให้มีการดันนายสมัครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพราะสัญญาณแห่งความรุนแรงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ และการเสนอการเมืองใหม่นั้น นพ.พลเดช กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรฯ มีการพูดถึงการเมืองใหม่มาก ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจแก่ประชาชนในรูปแบบ และหลักการ แต่รายละเอียดทุกอย่างประชาชนก็ต้องเป็นผู้มีส่วนร่วม แต่การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯนั้น ก็เป็นการดำเนินการของการเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็ง และสร้างการตื่นตัว จิตสำนึกทางการเมืองให้เกิดขึ้น และประเทศจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากการที่มีการเมืองภาคประชาชนอย่างนี้ เป็นการยกระดับที่ดี ต่อไปการเมืองภาคประชาชนแบบนี้จะเป็นรากฐานของประชาธิปไตยเชิงคุณธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น