xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.ร.50-นักวิชาการ ยัน ประชามติเรื่องการเมือง ขัดต่อ กม.-ทำไปก็ไร้ผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเสรี สุวรรณภานนท์
อดีต ส.ส.ร.50 “เสรี สุวรรณภานนท์” ประสานเสียง นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ “เจษฎ์ โทณะวณิก” ชี้ แนวคิด “หุ่นเชิด” ทำประชามติเรื่องการเมืองไม่น่าจะทำได้ และอาจขัดต่อ รธน.ในอนาคต หากผลประชามติออกมาว่า “พันธมิตรฯ” ไม่สามารถชุมนุมได้ แถมเสี่ยงต่อการเพิ่มความขัดแย้งให้สังคม แนะ รัฐบาลตัดสินใจให้ตัวเอง ไม่ควรทำประชามติ

วันนี้ (5 ก.ย.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.50) ให้สัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์ ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ถึงกรณีผลการประชุม ครม.นัดพิเศษมีมติเห็นด้วยทำประชามติ หาทางออกวิกฤตประเทศ ว่า โดยส่วนตัวแล้วตนเชื่อว่า การทำประชามติเพื่อถามความคิดเห็นในเรื่องนี้ ไม่น่าจะเข้าข่ายในการทำได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วการทำประชามติ ก็จะทำต่อเมื่อต้องการสำรวจความคิดเห็นในเรื่องของกิจการ หรืองานใดๆ สักอย่างที่รัฐต้องการจะทำ เช่น หากรัฐบาลต้องการจะทำบ่อนกาสิโน แต่ประชาชนมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงเสนอให้ทำประชามติ แต่ในกรณีสอบถามว่าจะให้รัฐบาลเลิกทำงาน (ยุบสภา) หรือไม่นั้น ตนคิดว่ายังไม่น่าจะเข้าข่ายที่สอบถามได้

แต่อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า ถึงแม้จะมีข้อสรุปออกมาว่าสามารถทำประชามติได้ แต่ตนก็เชื่อว่า ผลของการทำประชามติที่ออกมาก็น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ (รธน.) อยู่ดี เนื่องจากหากมีการทำประชามติขึ้นจริงแล้วผลประชามติออกมาว่า ต้องการให้กลุ่มพันธมิตรฯ สลายการชุมนุม แล้วรัฐบาลจะทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ เลิกชุมนุมได้จริงหรือ เพราะหากกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ยินดีที่จะเลิกชุมนุม แล้วรัฐบาลไปบีบบังคับให้เลิก ก็จะเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบของประชาชนอีก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็ต้องนำเรื่องดังกล่าวให้ศาล รธน.ตีความต่อไปอีก

ดังนั้น ตนมองว่า เรื่องการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหานี้ นอกจากมีแนวโน้มว่าจะขัดต่อ รธน.แล้ว ยังไม่ได้ทำให้ปัญหาที่มีอยู่จบลงด้วย และตนยังมองว่า หากมีการทำประชามติจริง ก็อาจจะเกิดความแตกแยกในสังคมมากขึ้นไปอีก เพราะการทำประชามติต้องเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เหมือนกับยิ่งจุดชนวนให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงออกถึงความขัดแย้งได้ชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ ตนมองว่า ปัญหาที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาล ที่คนกลุ่มหนึ่งมาชุมนุมถูกกดดันรัฐบาล แล้วก็ทวีความกดดันมากขึ้น ด้วยการที่สหภาพแรงงาน และกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมออกมากดดัน ดังนั้น รัฐบาลต้องหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของตัวเอง ในวิธีอื่นๆ ที่ต้องคิดหาต่อไป แต่ต้องไม่ใช่แก้ด้วยการทำประชามติ

ด้าน ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วตนมองว่า เรื่องของการทำประชามตินั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จู่ ๆ อยากจะทำแล้วก็สามารถทำได้ เพราะว่ามีปัญหาหลายแง่มุมที่ต้องนำมาคำนึงถึง ทั้งเรื่องที่ว่าหากทำแล้วประชาชนจะขัดแย้งกันมากขึ้นหรือไม่ หากทำจริง จะต้องเสียงบประมาณเท่าไหร่ หรือแม้แต่ระยะเวลาที่กว่าจะทำประชามติได้ ก็ต้องผ่านกระบวนการทางด้านกฎหมายต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น่าจะต่ำกว่า 3 เดือน แล้วถามว่าหากระหว่าง 3 เดือนที่รอนั้น เกิดเหตุการณ์รุนแรงอะไรขึ้นจะทำอย่างไร หรือแก้ไขกันอย่างไร

แม้กระทั่ง หากรอไปได้ จนถึงเวลาที่ทำประชามติจริง ก็ยังมีเรื่องที่ต้องคิด ต้องทำอีกมากมาย ทั้งการให้ข้อมูลกับประชาชน ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าต้องให้ข้อมูลในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ ซึ่งก็ต้องถามรัฐบาลว่า คิดว่าจะต้องใช้นานเท่าใด จึงจะให้ข้อมูลประชาชนได้อย่างครบถ้วน ทั่วถึง เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น ตนจึงมองว่าปัญหาความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ รัฐบาลต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ควรทำประชามติอย่างที่กำลังพยายามอยู่
ดร.เจษฎ์ โทณวณิก
กำลังโหลดความคิดเห็น