xs
xsm
sm
md
lg

“เด็กแม้ว” หางโผล่จ้องยื่นญัตติแก้ รธน.รอบสอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิสิต สินธุไพร
“นิสิต” ลั่นพร้อมรวบรวมชื่อยื่นญัตติแก้ไข รธน.รอบสอง ใช้ร่างเดิม หากญัตติตกไปเพราะ ส.ส.-ส.ว.บางส่วนร่วมใจถอนรายชื่อ เมิน ส.ว.ใช้ช่องทาง ส.ส.96 เสียงยื่น โวมีแล้ว 100 ส.ส.คาดยื่นได้ก่อนเปิดสมัยวิสามัญ

วันนี้ (30 พ.ค.) นายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน แกนนำ ส.ส.ที่ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 2550 กล่าวถึงญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อาจต้องตกไปเพราะมี 8 ส.ส.พรรคพลังประชาชน กลุ่มอีสานอาวุโส หรืออีสานพัฒนา จะถอนรายชื่อว่า ยังไม่ทราบว่ามีใครถอนรายชื่อบ้าง แต่ถ้ามีการถอนชื่อจริง ตนก็จะทำการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรอบสอง เพราะเรามีเจตจำนงที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดังนั้น เราจะยื่นญัตติเพื่อรอฟังผลการทำประชามติโดยจะเป็นร่างเดิมกลับไปอีกครั้ง หากญัตติดังกล่าวตกไป และเมื่อผลประชามติออกมาไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ญัตตินี้ก็ตกไป

เมื่อถามว่ากรณีที่ นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะประกาศลาออกจากตำแหน่งและญัตติดังกล่าวอาจตกไป ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงไป นายนิสิต กล่าวว่า ต้องวิเคราะห์และต้องรวบรวมรายชื่อไว้ก่อน โดยจะใช้ช่องทางยื่นเฉพาะ ส.ส.ใช้เสียง 96 คน มั่นใจว่า จะได้รายชื่อ ส.ส.มากกว่าเดิม ซึ่งสามารถรวบรวมได้ในวันนี้ตอนนี้มีอยู่ 100 คน ส่วนยื่นเมื่อไหร่ขอหารือกันก่อน แต่น่าจะยื่นได้ก่อนเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 9 มิ.ย.นี้

เมื่อถามว่าแล้วเรื่องจะมีมติพรรคให้มีการถอนญัตติออกไปหรือไม่ นายนิสิต กล่าวว่า “เรื่องนี้พรรคคงไม่มีมติให้มีการถอนญัตติ เพราะเป็นการยื่นเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.ไม่ใช่มติของพรรคและเป็นเรื่องของรัฐบาล ดังนั้น พรรคคงไม่ก้าวล่วง หรือมีมติมาบังคับพวกเราไม่ได้ แต่ในพรรคอาจมีการปรึกษาหารือซึ่งเรื่องนี้ไม่มีผู้ใหญ่คนใดมาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องของ ส.ส.เท่าที่คุยมั่นใจว่ารายชื่อ 96 ส.ส.คงไม่น่ามีปัญหาเพราะกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีอยู่ อย่างไรก็ตามในการประชุม ส.ส.ของพรรควันนี้คงจะได้มีการพูดคุยกัน ถ้าพรรคมีเหตุผลดี เราก็รับฟัง หากไม่ดีก็ต้องชี้แจงกัน

นอกจากนี้ นายนิสิต ยังกล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.และ ส.ว.ที่ขอถอนชื่ออาจทำให้ญัตติตกไปนั้นว่า ใครถอนชื่อก็ต้องรับกรรมกันไปเอง ก็ต้องไปตอบคำถามกับประชาชนในพื้นที่ว่า ทำไมถึงต้องถอนชื่อ และเชื่อว่า อาจส่งผลกระทบต่ออนาคตทางการเมืองด้วย

พปช.ดันทุรังยื่นแก้ รธน.รอบสอง

เมื่อเวลา 17.00 น. วันนี้(30พ.ค.) ที่พรรคพลังประชาชน นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พร้อมด้วยนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน รองโฆษกพรรคพลังประชาชน ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุมส.ส.พรรคเพื่อหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายศุภชัย กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะให้มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยยังยืนยันแนวทางเดิม และมีมติเห็นชอบกับมติคณะรัฐมนตรี ที่มีการเสนอให้แก้ไขปัญหาความแตกแยกทางความคิดในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะแก้หรือไม่แก้ โดยเสนอให้มีการลงประชามติเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศมีโอกาสตัดสินใจ ตั้ง 12 คณะกรรมการตรวจร่างแก้ไข

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ส.ส.พรรคได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง คือ คณะกรรมการเตรียมการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคของพรรคจำนวน 12 คน เพื่อให้ตรวจสอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่จะนำเสนอและยื่นในโอกาสต่อไป อีกทั้งยังมีมติร่วมกันว่าให้รวบรวมรายชื่อ ส.ส.อีกครั้ง โดยจะใช้แนวทางการเสนอชื่อ ส.ส. จำนวน 1 ใน 5 หรือประมาณ 96 คน เพื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งคณะกรรมการชุดนี้จะมีการปรึกษาเรื่องเงื่อนเวลาด้วยก่อนที่จะยื่นญัตติเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อประธานสภา โดยก่อนจะยื่นต่อสภานั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมส.ส.อีกครั้งหนึ่งด้วย

เผยยื่นรอบ 2 ภายในสมัยประชุมวิสามัญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะยื่นญัตติเข้าไปใหม่ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ เข้าสู่การพิจารณาของสภาหรือไม่ นายบุญจง กล่าวว่า ประเด็นประชามติสมาชิกพรรคพลังประชาชนเห็นด้วย เพราะการสอบถามประชาชนเป็นสิ่งที่เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ผ่านการลงประชามติมาแล้ว ฉะนั้นรัฐบาลก็มีความเห็นชอบที่จะทำประชามติ ส่วนประเด็นว่าเราควรจะยื่นก่อนญัตติก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ เข้าสู่การพิจารณาของสภาหรือไม่นั้น คาดว่าจะนำสู่การพิจารณาของสภาในสมัยประชุมวิสามัญในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ฉะนั้นที่ประชุม ส.ส.พรรค จึงเห็นตรงกันว่า เราจะยื่นญัตติขึ้นใหม่ให้ทันช่วงประชุมสมัยวิสามัญ ส่วนจะเป็นวันใด คณะกรรมการที่เราแต่งตั้ง 12 คนจะมาหารือกันว่า การยกร่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามข้อบังคับการประชุมสภาหรือไม่ เมื่อเรียบร้อยเราก็จะยื่นให้สภาตามข้อบังคับการประชุมสภาระบุ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ต้องเสร็จภายใน 23 ส.ค.

ส่วนแสดงว่าจะไม่รอผลประชามติใช่หรือไม่ นายบุญจง กล่าวว่า การยื่นไม่จำเป็นต้องรอ เรายื่นเข้าไปก่อนตามระเบียบข้อบังคับการประชุมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อยื่นแล้วหลังการเปิดสมัยประชุมสภา ประธานสภาจะบรรจุระเบียบวาระหรือไม่ อยู่ที่ดุลยพินิจประธานสภา เมื่อบรรจุแล้วเราจะต้องรอประชามติก่อนอยู่ดี

ส่วนอาจจะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นนั้น นายบุญจง กล่าวว่า การใช้สิทธิเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ประเด็นอยู่ที่ว่า กลุ่มพันธมิตรฯจะไม่พอใจหรือจะเคลื่อนไหว ซึ่งก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่มพันธมิตรฯ ถ้าอยู่ในกฎหมายหรือกติกาก็ใช้สิทธิได้ เราก็ใช้สิทธิตามกฎหมายที่รองรับในการแก้ไขกฎหมาย เพื่อยื่นญัตติ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าในระหว่างที่มีการพิจารณากฎหมายประชามติ ช่วงนี้เราต้องให้กระบวนการพิจารณากฎหมายประชามติให้แล้วเสร็จ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว กฎหมายประชามติจะต้องจบในภายใน 1 ปี คือวันที่ 23 ส.ค. 2551 ฉะนั้นช่วงที่ประชุมพิจารณากฎหมายประชามติอยู่ ญัตติรัฐธรรมนูญก็ยังไม่มีการพิจารณาอะไร เหมือนกับค้างไว้ในสภาเท่านั้นเอง

พปช.เสียงแตก ยื่น-ไม่ยื่นญัตติแก้ รธน.รอบ 2

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ในการหารือร่วมกันของ ส.ส.พรรคพลังประชาชนในวันนี้นั้น มีการถกเถียงกันอย่างมาก เนื่องจากส.ส.ส่วนหนึ่งเห็นว่า หากพรรคยืนยันที่จะยื่นญัตติให้ได้จะทำให้เรื่องไม่จบ จึงยังไม่ควรยื่นญัตติในเวลานี้ อีกทั้งกฎหมายประชามตินั้น หากรอให้เสร็จสิ้นกระบวนการก่อนก็ใช้เวลาอย่างน้อยจนถึงวันที่ 23 ส.ค. เท่ากับว่าจะเข้าทางของกลุ่มพันธมิตรฯทันที และหากเสนอไปก็เป็นการแช่แข็งรัฐธรรมนูญ เปล่าๆ จนกลายเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีได้ ดังนั้นนพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.นครพนม ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม จึงเสนอว่า ดังนั้นในวันนี้จะยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เพราะต้องมีการหารือกันอีกครั้งหนึ่งก่อน โดยในขั้นนี้จะให้มีการตั้งเป็นคณะกรรมการเตรียมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 จำนวน 12 คนขึ้นมาก่อน ซึ่งน่าจะได้ตัวคณะกรรมการทั้งหมดภายในวันอังคารที่ 3 มิ.ย. จากนั้นจึงจะมีการนัดหารือร่วมกันอีกครั้ง

"จตุพร"เชื่อ พันธมิตรฯไม่เลิกราแน่

นายจตุพร ยังกล่าวถึงการลาออกของนายจักรภพด้วยว่า การตัดสินใจของนายจักรภพเป็นไปเพื่อปกป้องพรรคจากการที่ฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรฯที่พยายามหยิบยกเรื่องนายจักรภพมาเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาล นอกเหนือจากเรื่องการยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้พรรคจับตาดูว่าปัญหาอาจจะไม่จบเท่านี้ เพราะถึงแม้ว่านายจักรภพจะลาออกและญัตติจะตกไป แต่เชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรฯจะยังคงใช้เรื่องประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ และประเด็นอื่นเพื่อพยายามโค่นล้มรัฐบาล ขอให้พรรคอย่ายอมแพ้

จวก"ศุภชัย-บุญจง"แถลงตามใจตัวเอง

ขณะที่นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคพลังประชาชน กล่าวถึงการยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญของส.ส.พรรคพลังประชาชนว่า มติที่ประชุมวันนี้คือให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาประเด็นที่แก้ไข ซึ่งอย่างไรก็ต้องแก้อย่างแน่นอน แต่จะยื่นเมื่อไหร่อย่างไรเท่านั้นเอง ซึ่งจะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง เพราะยังต้องมีการทำประชามติเพื่อฟังเสียงประชาชนก่อน ส่วนการแถลงข่าวของนายศุภชัย โพธิ์สุ และนายบุญจง วงศ์ไตรัตน์ รองโฆษกพรรคพลังประชาชน ที่ทำให้เข้าใจว่าเราจะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกนั้น เป็นการแถลงข่าวตามใจตัวเองเพราะไม่ตรงกับผลการประชุม ที่ประชุมในวันนี้ยังไม่มีกำหนดการว่าจะยื่นญัตตินี้ในนามพรรคเมื่อใด เรื่องนี้อาจเป็นชนวนทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมต่อไปอีก ดังนั้นจึงน่าจะมีการแถลงแก้ข่าวใหม่อีกครั้ง รวมทั้งต้องมีการตักเตือนผู้ที่แถลงข่าวด้วย เพราะการประชุมวันนี้นายศุภชัยเสนอให้ส.ส.เข้าชื่อเพื่อให้ญัตติคาไว้ในสภาฯ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะไม่ได้หมายความแบบนั้น ความจริงคือต้องฟังเสียงประชาชนจากการทำประชามติเสียก่อน

อีสานลาบก้อย-อีสานพัฒนา ฟัดกันเละ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากกลุ่ม ส.ส.อีสานลาบก้อย ซึ่งเป็นส.ส.อีสานสายกลางและใต้ ซึ่งสังกัดกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งได้ลงชื่อไปในการยื่นญัตติครั้งแรก โดยต้องการจะให้มีการยื่นญัตติอีกครั้ง กับกลุ่มส.ส.อีสานพัฒนาหรือกลุ่มส.ส.อีสานอาวุโส กลุ่มส.ส.เหนือบางส่วน และกลุ่มส.ส.กทม.ที่ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะยิ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านจนเข้าทางของกลุ่มพันธมิตรฯ ดังนั้นจึงพยายามที่จะขอให้ชลอเรื่องเอาไว้ก่อน
"ชูศักดิ์" ติง อย่าเร่งยื่นญัตติ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวช่วงหนึ่งต่อที่ประชุมว่า ตนเห็นด้วยว่าไม่ควรที่จะรีบร้อน หากจะมีการยื่นญัตติอีกครั้งก็ควรที่จะมีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งก่อน เพื่อให้กระบวนการต่างๆในครั้งนี้เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้ญัตติไม่ตกไปอีกอย่างครั้งนี้ ขณะที่นายไพจิตร ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม ได้ลุกขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมช่วงหนึ่งว่า ควรจะคอยผลประชามติก่อนแล้วจึงค่อยยื่นญัตติอีกครั้ง เพราะขณะนี้ยังมีเวลาอีกมาก ซึ่งหากผลประชามติออกมาว่าเห็นชอบให้แก้ไขก็จะทำให้เกิดความชอบธรรมมากขึ้น เรื่องนี้ต้องทำให้รอบคอบ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น