xs
xsm
sm
md
lg

“หมัก” ไร้น้ำยาบีบลูกพรรค ตะแบงคลอด พรก.เร่งลงประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี
“หมัก” เบรกแตก ลั่นเดินหน้าตะแบงดัน พรก.เร่งลงประชามติ ย้ำชัดไม่รอร่าง กม.ของ กกต. ยันไม่สนผลลัพธ์ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร กร้าวถ้าสภาจะแก้ รธน.ก็ห้ามไม่ได้ ปากสั่นไม่หวั่น “พันธมิตรฯ” แห่ชุมนุม อ้างเฉยไม่อายชาวบ้านให้มันรู้ไป

วานนี้ ( 23 พ.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญกรณีที่ได้ส่งสัญญาณให้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชะลอการบรรจุวาระการประชุมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ยื่นไว้ แต่ประธานได้บรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมเรียบร้อย แล้วจะขอให้ลูกพรรคดึงเรื่องกลับหรือไม่ ว่า คงไม่ต้องถอน เขาจะทำอะไรก็ทำไป ในเมื่อเถียงกันมาก ตนก็ต้องการให้ทำประชามติเสียเลย แต่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกว่าต้องมีกฎหมาย ซึ่งถ้าหากรอ กกต.ก็คงช้า และไม่อยากให้ใครมาปลุกระดมกันด้วยเรื่องนี้ จึงเห็นว่าการทำประชามติ น่าจะเป็นการตัดประเด็น

“ผมจะหารือกับฝ่ายกฎหมายของผมว่าจะทำอย่างไร กฤษฎีกาจะแนะนำให้ผมทำอย่างไร มีหนทางตั้งเยอะแยะ คือเขาไปพูดว่าการลงประชามติเป็นการเขียนไว้ผูกพันเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่า ทำแล้วให้ลงประชามติ ก็จะไม่เอาอันนั้นมาเกี่ยวพัน ว่ากันตามจริง ผมก็พูดไปตามสัญชาติญาณของผม ซึ่งแน่ใจว่ามันมีกฎหมายประชามติอยู่แล้ว แต่ถ้าหากบังเอิญมันไม่มีอย่างที่คุณสดศรี พูด ที่จริงก็ไม่ยาก หากเราก็จะรอช้า ให้ กกต.ทำกฎหมายนี้เป็นมาตรฐาน แต่ถ้าใครจะปลุกระดมข่มขู่ จะเอากันให้ได้ ผมก็อาจจะใช้วิธี ออกพระราชกำหนด เมื่อออกพระราชกำหนดเราก็ทำได้เลยทันที แล้วก็มีลงประชามติ และใครจะทำอะไร ยังไงก็สุดแท้แต่”นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วก็มีเวลา 2 เดือนกว่าสภาจะเปิด นายชัย บรรจุไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้นัดวันประชุม มันก็ไม่มีปัญหาอะไร เราต้องการเวลา 45 วันไว้หาเสียงแล้วลงประชามติ ถ้าผลออกมาไม่ให้แก้ ก็ไม่ต้องแก้ ถ้าประชามติบอกให้แก้ ก็แก้ เท่านั้นเอง นี่เป็นวิธีการบริหารบ้านเมืองชนิดหนึ่ง ที่เขาให้รัฐบาลทำ ใครไปใช้ถ้อยคำว่ารัฐบาลก้าวก่ายสภา มันก้าวก่ายอย่างไร ในเมื่อสภาทำประชามติไม่ได้ รัฐบาลเป็นคนทำ มันต้องมีค่าใช้จ่าย ระบบมีกฎหมายรองรับ ผมไม่อยู่วันเดียวก็หาว่าไปพูดจาก้าวก่ายสภา นายชัย อยู่ฝ่ายนิติบัญญัติ ตนอยู่ฝ่ายบริหาร ท่านจะบรรจุก็บรรจุ เพียงแต่ไม่เรียกประชุมเพราะสภาปิดอยู่ ก็ไม่เห็นเป็นไร เขาเปิดประชุมสภา ก็มีกฎหมายหลายฉบับที่จำเป็นรีบด่วนกว่าการแก้รัฐธรรมนูญ และถ้าหากนายชัย ไม่เรียกประชุมเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่บรรจุไว้สภาซึ่งปิด 2 เดือน แต่การลงประชามติใช้เวลาเดือนครึ่ง จึงไม่เห็นมีอะไรที่ขัดข้อง หรือสับสน

เมื่อถามถึงการประชุม ครม.ครั้งหน้า จะมีการหารือเรื่องการลงประชามติโดยเฉพาะการออก พรก.ด้วยหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ตนคุยแน่นอน และในวันที่ 24 พ.ค.นี้ จะถามกฤษฎีกาให้ตรวจว่ามีกฎหมายนี้หรือไม่ ถ้ามีก็ให้นำมาใช้ทำประชามติ คือ เราจะลงประชามติว่าแก้หรือไม่แก้เท่านั้น สะดวกกว่าคราวที่แล้ว ลงมติให้ดู 309 มาตรา ยังลงประชามติได้ คนอ่านไม่อ่านไม่รู้ แต่คราวนี้ไม่ต้องอ่านเลย แค่แก้หรือไม่ควรแก้ ง่ายจะตาย ประเด็นเดียว

ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้าน แล้วห่วงสถานการณ์หรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า เรื่องของเขา ไม่ห่วง เมื่อถามอีกว่า มีสาเหตุอะไรหรือไม่ที่ไม่ห่วงกรณีที่เกิดขึ้น นายสมัคร กล่าวว่า สาเหตุ คือ มีวิธีการแก้ไข เขาทำก็ทำไปไม่อายชาวบ้านก็แล้วไป ตกลงกันแล้วว่าเราจะขอลงประชามติ แล้วยังจะทำอะไรกันอยู่ ทำอย่างไรชาวบ้านเขาเห็นเองว่าเป็นอย่างไร ฉะนั้นจึงไม่ห่วงเรื่องนี้เลย

ต่อข้อถามที่ว่า ก่อนหน้านี้นายกฯ เคยปล่อยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา แต่พอสภาทำ กลับผุดความคิดเรื่องการทำประชามติ นายสมัคร กล่าวว่า แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าใครจะทำอะไร พูดอยู่หยกๆ ว่าใครจะเคลื่อนไหว ทำอะไร ต้องการที่จะให้บ้านเมืองมันนองเลือดตามคำทำนายของโหรในเดือน พ.ค. บางคนแถมเดือน มิ.ย.อีกด้วย อยากให้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า อยู่ดีๆ บ้านเมืองกำลังเดิน กำลังทำงาน กำลังจะแก้ไขปัญหาบ้านเมือง สภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบ่งกันแล้ว พอเขายื่นปั๊บ ก็มีคนประกาศบอกว่า ยื่นเมื่อไหร่เอาเมื่อนั้น กำลังดำเนินการบริหารบ้านเมืองก็ก่อกวนอีก ตนก็ต้องการดับชนวนการก่อกวน ใครไม่อายก็ตามใจ ประกาศให้คนทั้งโลกเขารู้ว่าเราจะทำประชามติ แต่บอกจะก่อกวน จะรวน เอาสิ ชาวบ้านทั้งประเทศเขาจะได้เห็นว่าเป็นอย่างไร ดูสิว่าคนไทยทั้งหมดจะอยู่ข้างไหน จะอยู่ข้างประชาชนคนที่รักสงบ หรือจะอยู่ข้างพวกปลุกระดม

ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 โดยอยากให้นายกฯ แสดงความจริงใจเรื่องการใช้เงิน 2 พันล้านบาท ในการทำประชามติ นายสมัคร กล่าวว่า เขาไม่อยากให้ทำเหรอ อยากให้ก่อการจลาจลก่อนหรือ คือ ทำให้คนไทยแบ่งค่ายตั้งแต่แรกไม่ดีกว่าหรอ ถ้าบอกว่าให้แก้ก็แก้ จะได้ปิดปากกันให้รู้แล้วรู้รอดไป ถ้าไม่แก้ก็ไม่ต้องแก้ ก็ปิดปากคนอยากจะแก้ อย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ

เมื่อถามอีกว่า ถ้าผลประชามติออกมาไม่ให้แก้ไข ขณะที่สภาเดินหน้าแก้ มั่นใจหรือไม่ว่าจะยุติการดำเนินการของสภาได้ นายสมัคร กล่าวว่า ตนไปยุติสภาไม่ได้ แต่สภาเขาคงจะรู้สึกเองว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้แก้ แล้วยังจะไปแก้ก็เรื่องของเขา ตนจะทำอย่างไรได้ รู้จักไหม อำนาจอธิปไตยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย ตุลาการ โดยศาล นิติบัญญัติ โดยสภา บริหารโดยรัฐบาล ทั้ง 3 อำนาจเขาก้าวก่ายกันอยู่ตามสมควร ฉะนั้นเรื่องพรรค์นี้ เวลาสภาเขาลงมติ เราไปบอกเขาได้ไหมว่าประชุม 2 วัน ได้อย่างไร มากเกินไป วันเดียวไม่ได้หรือ ตนคงไปบอกอย่างนี้ไม่ได้ หากเขาจะพิจารณากฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลจะไปบอกไม่ได้ แต่เราแสดงความเห็นว่าจะเป็นแบบนี้ นายชัย จะไม่รอก็ได้ แต่บังเอิญสภาปิดอยู่ หรือบรรจุแล้วไม่เรียกประชุมก็ไม่เป็นไร มีเวลา 2 เดือน ตนต้องการแค่ 45 วัน ทุกอย่างมีคำอธิบายทั้งนั้น

ส่วนเวลานี้สังคมกำลังสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลกับ ส.ส. ที่ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นพรรคเดียวกัน ไม่ประสานกันในเรื่องความคิด นายสมัคร กล่าวว่า ประสานอย่างไร อำนาจมันแบ่งกันอย่างนั้น เขาจะใช้อำนาจนิติบัญญัติ ตนถามว่าจะบริหารบ้านเมือง ส.ส.เขาจะมายับยั้งไหม เขาห้ามไหม ห้ามทำข้าวถุง ห้ามขายประเทศไหน ซึ่งเป็นอำนาจบริหารของตน เขาจะจัดการมันก็เรื่องของเขา เราแบ่งกันแล้วระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร

เมื่อถามถึงระบบพรรคการเมือง ทำไม ส.ส.ทำอะไรจึงไม่ปรึกษาหารือ นายสมัคร กล่าวว่า บางอย่างไม่จำเป็นต้องมาบอกว่าปรึกษาหรือไม่ปรึกษา แต่ข้อสำคัญสุด คือ เมื่อแบ่งหน้าที่กันแล้ว ก็ต่างคนต่างทำหน้าที่ เขามีสิทธิคิด ตนมีสิทธิบริหาร และตอนนี้ตนจะฟังเสียงประชาชน ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่ให้แก้ ส.ส.ก็ต้องคิดว่า ประชาชนว่าอย่างไร ถ้าเขาให้แก้ พวกต่อต้านจะได้รู้ว่าไม่ควรต่อต้าน เขาจะให้แก้อย่างนี้ดีไหม มีประโยชน์ไหมที่ทำ และมีประโยชน์ต่อประเทศชาติแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น