xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” ชี้ เหตุพันธมิตรฯ ต้องชุมนุม เพราะ รบ.ยังตีสองหน้าเรื่องแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุริยะใส กตะศิลา” แจงผ่าน เนชั่นแชนนัล ย้ำจุดยืนพันธมิตรฯ ต้องการให้แก้ รธน.แบบโปร่งใส ไม่เคยคิดเรื่องรัฐประหาร แจงเหตุ ต้องนัดชุมนุม เพราะรัฐบาลสร้างเงื่อนไขใหม่ แม้ “หมัก” บอกจะให้ทำประชามติ แต่กลับปล่อยให้ ส.ส.ไปยื่นแก้ รธน.-อดีต ส.ส.ร.“เดโช สวนานนท์” ชี้ แก้ รธน.ต้องคำนึงถึงประชาชนให้มากที่สุด ไม่อย่างนั้นเสี่ยงเกิดเหตุนองเลือด


คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ คมชัดลึก

ต่อกรณีที่วานนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เตรียมของบประมาณ 2 พันล้านบาท ในการทำประชามติว่าประชาชนจะให้แก้รัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ ขณะที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน กลับไปยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญต่อประธานสภาผู้แทนฯ แล้วจนทำให้เกิดความสับสนว่า แท้จริงแล้วทางรัฐบาลจะดำเนินการแก้ไข รธน.ไปในทิศทางใดกันแน่

วันนี้ (22 พ.ค.) นายสงวน พรหมมณี ส.ส.จังหวัดลำปาง พรรคพลังประชาชนให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก ทางสถานีโทรทัศน์ เนชั่นแชนนัล ดำเนินรายการโดย นายกวีพันธ์ มนตรีวงศ์ ถึงกรณีดังกล่าว ว่า การที่ตนรวมถึงกลุ่ม ส.ส.ส่วนหนึ่งยื่นขอแก้ไข รธน.ในครั้งนี้เป็นการทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชนเมื่อตอนหาเสียง ส่วนร่างแก้ไข รธน.ที่เสนอไปนั้นเป็นฉบับเดียวกับของกลุ่ม นพ.เหวง โตจิราการ นำมาให้ และขอย้ำว่า การทำครั้งนี้ก็เป็นการทำเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนที่ต้องการแก้ไข รธน.โดยเห็นได้จากการที่กลุ่มประชาชนมาชุมนุมกันหน้ารัฐสภา เพื่อยื่นร่างแก้ไข รธน.โดยการนำของ นพ.เหวง

ส่วนกรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เสนอให้มีการทำประชามติก่อนที่จะแก้ รธน.นั้นตนเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี และน่าจะทำควบคู่ไปกับการแก้ไข รธน.ได้ เนื่องจากนายสมัครเองก็เป็นนักกฎหมาย คงจะไม่ใช่แค่พูดขึ้นมาลอยๆ ท่านต้องมองความเป็นไปได้แล้วจึงพูดออกมา และการแก้ รธน.ในครั้งนี้เราก็ทำไปตามกระบวนการ รธน.ที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งตนอยากจะฝากไปถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ว่า ตอนนี้กฎหมายมาตรา 291 เปิดช่องว่างเอาไว้ในแก้ รธน.เอง

“ตอนนั้นเมื่อ 19 ก.ย.ท่านมีส่วนในการเคลื่อนไหว แล้วก็ฉีก รธน.ปี 40 แล้วเขียนใหม่ ถ้าสมมติท่านบอกว่าไม่ควรใช้มาตรา 291 คือ ยังไม่ควรแก้ ทำไมไม่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า มาตรา 291 ให้ถ่วงไว้ปี สองปีก็ได้ ก็ในเมื่อตอนนั้นคุณมีอำนาจ คุณก็น่าจะทำตามนั้นไป”

ส่วนประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า หากแก้ รธน.แล้วจะส่งผลต่อองค์กรอิสระ เช่น คตส.ให้หมดวาระไปนั้นตนอยากจะบอกว่า ถึงแม้ คตส.จะหมดอำนาจไป ก็ไม่ควรจะต้องปริวิตกกันไป เนื่องจากถึงไม่มี คตส.องค์กรอื่นๆ ซึ่งมีอยู่ใน รธน.เช่น ปปง.ทำต่อไปได้ และที่เกรงกันว่าจะแก้ รธน.เพื่อนิรโทษกรรมแก่ 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยนั้น ตนก็ขอตอบว่าไม่เป็นความจริง เพราะในเมื่อศาลพิพากษาแล้วว่าเขาต้องเลิกยุ่งเกี่ยวทางการเมือง 5 ปี เขาก็รู้ตัวแล้วซึ่งเราก็ไม่สามารถเขียน รธน.เปลี่ยนคำพิพากษาของศาลได้ จึงไม่อยากให้หลายฝ่ายปริวิตกกันไปก่อน

ด้าน นายเดโช สวนานนท์ อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.50) กล่าวว่า การแก้ไข รธน.ขณะนี้สามารถแก้ไขได้หากทำถูกต้องตามกระบวนการ เพราะ รธน.ก็เปิดช่องให้แก้ไขได้อยู่แล้ว แต่โดยส่วนตัวแล้วตนคิดว่าสิ่งที่ ส.ส.กำลังทำอยู่ในตอนนี้ไม่ได้เป็นการแก้ไขบางมาตรา แต่เป็นรื้อโครงสร้าง รธน.ทั้งฉบับ ซึ่งตนเห็นตอนนี้ว่า ส.ส.ทำเกินหน้าที่ไปแล้ว เพราะ ส.ส.มีหน้าที่แก้ไข รธน.เป็นรายมาตรา แต่ถ้าจะรื้อทั้งโครงสร้างหรือแก้ทั้งฉบับ ต้องเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร.ทำ แต่ตอนนี้บรรดา สส.ที่จะแก้ก็อ้างเหตุผลแบบศรีธนญชัย ว่า ไม่ได้แก้ทั้งฉบับเพราะคงหมวด 1 และ 2 ของ รธน.ไว้แต่แท้จริงตามปริมาณการแก้แล้วก็เป็นการแก้ทั้งฉบับอยู่ดี แต่ถ้าถามว่าผิดหรือไม่ ก็คงไม่ผิดเพราะก็ไม่ได้แก้ทั้งฉบับจริงก็คงเอาผิดไม่ได้ แต่บอกได้ว่าเป็นการแก้แบบ ศรีธนนชัย

และกรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช กล่าวว่า จะจัดให้มีการทำประชามติก่อนแก้ รธน.นั้น ตนคิดว่า ไม่น่าจะทำได้ เนื่องจากตอนนี้กฎหมายประชามติ ก็ยังพิจารณาไม่เสร็จ และคงเสร็จไม่ทันก่อนแก้ รธน.แน่ๆ เพราะอีกไม่กี่วันเรื่องขอแก้ไข รธน.กำลังจะบรรจุเป็นญัตติแล้ว ซึ่งตนมองว่าแนวทางเดียวที่จะทำให้มีการลงประชามติก่อนแก้ รธน.ได้ ก็คือ ให้ ส.ส.ที่มีรายชื่อในการเสนอแก้ รธน.ถอนเรื่องดังกล่าวออกมาให้เร็วที่สุด

นายเดโช กล่าวด้วยว่า อยากจะเสนอแนะรัฐบาลว่า การแก้ไข รธน.ครั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากที่สุด หากรัฐบาลมองข้ามความคิดของภาคประชาชนแล้ว การแก้ไข รธน.ครั้งนี้คงจะล้มเหลว และตนเกรงว่าเหตุการณ์นองเลือดอย่างที่หลายคนกลัวอาจจะเกิดขึ้นจริง

ด้าน นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ตนได้เห็นร่างแก้ไข รธน.แล้ว ซึ่งตนคิดว่ามันมีความอ่อนไหวมากที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกทั้งเรื่องของศาสนา และการพยายามจะแก้ไขในมาตราที่จะทำให้องค์กรอิสระ ทั้ง กกต. คตส.ฯลฯ ต้องหมดไป จนอาจจะรวมไปถึงการนิรโทษกรรมให้แก่อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

ต่อคำถามว่า ในเมื่อนายกฯบอกว่าจะทำประชามติแล้ว เหตุใดพันธมิตรฯจึงยังออกมาเคลื่อนไหวนั้น นายสุริยะใส กล่าวว่า แม้นายกฯจะบอกแล้วว่าจะให้ทำประชามติก่อนแก้ รธน.แต่วันนี้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ออกมาบอกเช่นกันว่าต้องเดินหน้าบรรจุญัตติการแก้ รธน.ต่อไป เนื่องจาก ส.ส.ได้ยื่นแล้ว ดังนั้น ทางพันธมิตรฯ จะยอมได้อย่างไรเมื่อเรายังไม่เห็นถึงความชัดเจนเลย

“ความชัดเจนมันต้องมีมากกว่านี้ เราจะทำประชามติขณะที่ญัตติแก้ไข รธน.ยังคาอยู่ในสภามันเป็นไปไม่ได้หรอก วันนี้เราต้องชัดก่อนว่าประชามติมันจะเกิดขึ้นบนเงื่อนไขอะไร พันธมิตรฯ ไม่รับถ้าหากว่า บอกว่าจะทำประชามติแต่อีกด้านหนึ่งกลับปล่อย ส.ส.ของพรรคไปเสนอแก้ไข รธน.อยู่ เราจะสบายใจได้อย่างไรว่าผลประชามติจะมีสภาพบังคับต่อการแก้ไข รธน.เพราะ ส.ส.ก็ยังอ้างอยู่ว่าเขามีสิทธิ์ที่จะแก้ไข รธน.ของเขาอยู่ในสภา”

นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า ไม่อยากให้คิดว่า พันธมิตรฯมีธงในเรื่องของการรัฐประหาร เพราะจุดยืนในการชุมนุมของพันธมิตรฯ เองก็ไม่ได้อยากจะสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร เพราะพันธมิตรฯเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่เราอยากจะเรียกร้องให้มีกระบวนการในการแก้ไข รธน.ให้เป็นไปอย่างชอบธรรม และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ดังนั้น หากรัฐบาลถอนญัตติออกมา และเปิดให้มีการลงประชามติ ทางพันธมิตรฯ ต้องเปลี่ยนท่าทีแน่นอน ถ้านายกฯแสดงให้เห็นว่ามีความจริงใจว่าต้องการให้ทำประชามติจริงๆ ไม่ใช่ยังเป็นที่กังขาของหลายฝ่ายว่ากำลังตีสองหน้าอยู่หรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วหากนายกฯเสนอว่าจะทำประชามติมาตั้งแต่ 2 อาทิตย์ที่แล้ว ก่อนที่ ส.ส.ไปยื่นเรื่องขอแก้ รธน.ป่านนี้พันธมิตรฯ ก็คงไม่ต้องออกมานัดชุมนุม แต่ในเมื่อตอนนี้มันเกิดเงื่อนไขใหม่ขึ้นมาแล้ว เราจึงต้องออกมารวมตัวเรียกร้อง




กำลังโหลดความคิดเห็น