xs
xsm
sm
md
lg

พปช.ยื่นแก้ไขรธน.รอบใหม่หลังญัตติเดิมตก-ส.ส.แก๊งเนวินนำทีมล่าชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่รัฐสภา วานนี้ (30 พ.ค.) กลุ่ม 7 ส.ว.ประกอบด้วย นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี นายมงคล ศรีกำแหง ส.ว.จันทบุรี นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี นายบวรศักดิ์ คณาเสน ส.ว.อำนาจเจริญ นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ส.ว.ศรีสะเกษ นายยุทธา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร และนายรักพงษ์ ณ อุบล ส.ว.หนองบัวลำภู ร่วมกันแถลงข่าวว่า ได้ตัดสินใจถอนชื่อออกจากญัตติเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว เพื่อความสงบสุขของประเทศ ส่งผลให้ขณะนี้มีรายชื่อการเสนอญัตติดังกล่าว เหลือจำนวน 124 คนเท่ากับจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญพอดี เพราะขณะนี้มีสมาชิกรัฐสภาเหลืออยู่เพียง 620 คน จากทั้งหมด 630 คน เนื่องจากถูกใบเหลืองและใบแดงจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำให้ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงมีผลไม่ได้ตกไปตามที่หวังไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าระหว่าง 7 ส.ว.แถลงการถอนชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นกลุ่ม ส.ส.อีสานเหนือกลุ่มของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาฯ 8 คนได้หารือถึงท่าทีว่าจะถอนชื่อในญัตติดังกล่าวที่ห้องกรรมาธิการ 3 อาคารรัฐสภา 1 หรือไม่ แต่ปรากฎว่าเมื่อประชุมไปได้สักครู่ นายพีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคพลังประชาชน ได้แจ้งว่ามีข้อความที่ส่งผ่านโทรศัพท์มือถือแจ้งว่า ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปแล้ว เพราะมี ส.ส.7 คน ถอนชื่อทำให้ ส.ส.กลุ่มดังกล่าวเลิกประชุมกระทันหัน แต่เมื่อลงมาพบผู้สื่อข่าวที่ห้องแถลงข่าวได้รับยืนยันว่าญัตติยังไม่ตก เพราะมีผู้สนับสนุนพอดี 124 คน ส.ส.กลุ่มดังกล่าวจึงกลับขึ้นไปหารือกันอีกครั้ง พร้อมกับตรวจสอบข่าวกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นได้หลบนักข่าวเพื่อออกไปประชุมพรรคพลังประชาชน

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากการถอนชื่อในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ว.7 คนล่าสุดไม่เป็นผลทำให้ญัตติแก้ไขรัฐธรรนนูญต้องตกไป ในเวลาต่อมา นายทวีศักดิ์ คิดบรรจุ ส.ว.บุรีรัมย์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือขอถอนชื่อในญัตติดังกล่าวอีกคนคนทำให้เหลือชื่อในญัตติเพียง 123 คนมีผลทำให้ญัตติดังกล่าวตกไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ตนถอนชื่อในญัตตคิเพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขทางสังคม ประกอบกับรัฐบาลได้เตรียมทำประชามติจึงเห็นว่าควรสร้างความปรองดอง ให้เกิดขึ้นแม้เรื่องนี้จะขัดกับหลักการที่ตนตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกว่าจะไม่ถอนชื่อก็ตาม แต่เมื่อเห็นว่ากำลังนำไปสู่เงื่อนไขที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะชุมนุมยืดเยื้อจึงถอน เพื่อให้หมดเรื่องไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเวลา 14.00 น. มีการประชุม ส.ส.พรรคพลังประชาชน เพื่อหารือเรื่องญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจาก ส.ว. 8 คนถอนชื่อจนญัตติตกไป โดยมี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รมว.ศึกษาธิการ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุม โดยหารือถึงเวลา 17.00 น.

นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พร้อมด้วยนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวว่า ที่ประชุมพรรคพปช. มีมติเป็นเอกฉันฑ์ที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยยังยืนยันแนวทางเดิม และมีมติเห็นชอบกับมติ ครม. ที่ให้มีการลงประชามติเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งที่ที่ประชุมได้ให้ตั้งคณะกรรมการเตรียมการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคของพรรคจำนวน 12 คน เพื่อให้ตรวจสอบ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่จะนำเสนอและยื่นในโอกาสต่อไป อีกทั้งยังมีมติร่วมกันว่าให้รวบรวมรายชื่อส.ส.อีกครั้ง โดยจะใช้แนวทางการเสนอชื่อส.ส. จำนวน 1 ใน 5 หรือประมาณ 96 คน เพื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

ด้านนายบุญจง กล่าวว่า ที่ประชุม ส.ส.พรรคพลังประชาชนมีมติให้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ให้ทันช่วงประชุมสภาสมัยวิสามัญ ส่วนจะเป็นวันใด คณะกรรมการที่ตั้งมา 12 คนจะหารือกันว่าการยกร่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามข้อบังคับการประชุมสภาหรือไม่ เมื่อเรียบร้อยเราก็จะยื่นให้สภาทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอประชามติ ส่วนเมื่อยื่นไปแล้วประธานสภาจะบรรจุเข้าสู้การพิจารณาของการประชุม หรือรอประชาติก็อยู่ที่ดุลพินิจของท่าน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะไม่เป็นการก่อความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นหรือ นายบุญจง กล่าวว่า เป็นการใช้เอกสิทธิ์ของ ส.ส. ส่วนพันธมิตรฯจะไม่พอใจหรือจะเคลื่อนไหวก็เป็นสิทธิของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ส่วน พ.ร.บ.ประชามตินั้นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จะต้องเสร็จภายใน 1 ปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ซึ่งก็คือวันที่ 23 ส.ค.2551 ฉะนั้นช่วงที่ประชุมพิจารณา กฎหมายประชามติอยู่ญัตติรัฐธรรมนูญก็ยังไม่มีการพิจารณาอะไร เหมือนกับค้างไว้ในสภาเท่านั้นเอง

นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น พรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมมีการแสดงความเป็นห่วงการชุมนุมของพันธมิตรฯว่าอาจจะบานปลาย เพราะพันธมิตรฯได้เคยล้มรัฐบาลชุดที่แล้วสำเร็จมาแล้ว แม้แต่กรณีนายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯก็ต้องลาออกเพราะแรงกดดันจากกลุ่มพันธมิตรฯ ดังนั้นตนจึงเสนอว่าวันนี้แม้แต่ตำแหน่ง ผบ.ตร.ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งเลย การดำเนินการ ใดๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มพันธมิตรฯ จึงดูว่ายังไม่ได้ผลเท่าที่ควร หากยังไม่ดำเนินการใดๆ กับกลุ่มพันธมิตรฯหรือจัดหาบุคคลมาดำเนินการก็อาจจะบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ในที่สุดได้ จึงเสนอให้ที่ประชุมเสนอต่อ ครม.เพื่อขอให้ มอบอำนาจให้ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย โดยอาจใช้กฎหมายความมั่นคงมมาดำเนินการกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ท่านก็ยินดีแต่เรื่องนี้คงต้องแล้วแต่ผู้ใหญ่ที่จะมอบความไว้วางใจให้

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ในการหารือมีการถกเถียงกันอย่างมาก เนื่องจากส.ส.ส่วนหนึ่งเห็นว่า หากพรรคยืนยันที่จะยื่นญัตติให้ได้จะทำให้เรื่องไม่จบ จึงยังไม่ควรยื่นญัตติในเวลานี้ หากยื่นในช่วงนี้ก็จะเข้าทางพันธมิตรฯ ซึ่งนพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.นครพนม ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม จึงเสนอว่าวันนี้จะยังไม่มีข้อสรุปใดๆ โดยให้มีการตั้งเป็นคณะกรรมการเตรียมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 จำนวน 12 คนขึ้นมาก่อน

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคพลังประชาชนไม่ได้มีมติให้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาประเด็นแก้ไขเท่านั้น การแถลงของนายศุภชัย และนายบุญจง เป็นการแถลงข่าวตามใจตัวเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากกลุ่มส.ส.อีสานลาบก้อย ซึ่งเป็นส.ส.อีสานกลางและใต้ ซึ่งสังกัดกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ ต้องการจะให้มีการยื่นญัตติอีกครั้ง ซึ่งค้านกับกลุ่มส.ส.อีสานพัฒนาหรือกลุ่มส.ส.อีสานอาวุโส กลุ่ม ส.ส.เหนือบางส่วนและกลุ่ม ส.ส.กทม.ที่ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะยิ่งทำให้เกิด กระแสต่อต้านจนเข้าทางของกลุ่มพันธมิตรฯ ดังนั้นจึงพยายามที่จะขอให้ชะลอเรื่อง เอาไว้ก่อน

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 1 ในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงภายหลังการหารือกับ 5 พันธมิตรว่า การที่พรรคพลังประชาชนเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่รอร่างกฎหมายประชามตินั้น ถือว่าเป็นเล่ห์เหลี่ยมของ พรรคการเมืองและรัฐบาล ซึ่งพันธมิตรฯ ไม่เห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าใส่ใจอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น