“หมัก” เดินหน้าปาหี่ประชามติใช้เวลา 45 วัน ขณะที่ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา ก็ไม่ต้องถอนออกมา มอบหมายให้กฤษฎีกาดูข้อกฎหมายว่า พ.ร.บ.ประชามติ ปี 41 ยังใช้ได้หรือไม่ ถ้าใช้ไม่ได้ให้ กกต.ยกร่างแล้วเสนอสภา ลุ้นช่วงเปิดสภาวิสามัญดำเนินการให้เสร็จแต่ถ้าทำไม่ได้ต้องรอสภาสมัยสามัญเดือนกรกฎาคม ไม่เสนอเป็น พ.ร.ก.อ้างจะถูกตีรวน
วันนี้ (27 พ.ค.) ที่ทำเนียบฯ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับฟังความเห็นของนายกรัฐมนตรี เห็นชอบที่จะให้มีการลงประชามติ เมื่อตรวจสอบกับทางกฤษฎีกาแล้วมีกฎหมายประชามติ ซึ่งออกไว้ตั้งแต่ปี 2541 และมีข้อถกเถียงกันว่ากฎหมายฉบับนี้จะหายไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะ เป็นกฎหมายลูกหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจึงได้ขอให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีการับเรื่องนี้ไปตรวจสอบ ถ้าเรื่องกลับมาได้เร็วเราก็จะใช้กฎหมายฉบับนี้ดำเนินการ แต่ถ้ากลับมาไม่ได้เร็ว จะออกพระราชกำหนด
อย่างไรก็ดี นายสมัคร กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ถึงการออกพระราชกำหนดก็ออกได้ แต่จะต้องมีการเปิดสภา นำเข้าสภา เมื่อเข้าสภาก็คาดการณ์ได้ว่า จะมีผู้คนทำให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อไปไม่ได้ โดยการเอาเรื่องไปส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีอนาคตว่าจะทำประชามติได้เมื่อไหร่ ช่องทางที่จะทำได้อีกช่องทาง คือ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กรุณาให้ความเห็นว่า กำลังทำกฎหมายเรื่องนี้ เพราะเป็นกฎหมายลูกปี 2550 และกฎหมายนี้กำลังจะเสร็จ ซึ่งกกต.จะช่วยทำให้เสร็จก่อนสภาเปิดประชุมสมัยวิสามัญ จะเอากฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ที่ประชุมสมัยวิสามัญ เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็จะส่งให้วุฒิสภา หากวุฒิสภายินดีจะพิจารณาให้เราก็จะขยายเวลาการประชุมสมัยวิสามัญออก แต่ถ้าวุฒิสภาบอกว่ายังไม่อยากพิจารณาก็จะรอจนถึงเดือนกรกฎาคม เมื่อสภาเปิด วุฒิสภาก็ต้องพิจารณาตรงนั้น กฎหมายเสร็จแล้วก็จะทำประชามติ ระหว่างนี้ที่สภาปิดเดือนครึ่ง อย่างไรเรื่องก็ยังคาอยู่ในสภาอย่างนั้นเอง เมื่อสภาเปิดมาก็จะทำกฎหมายนี้เป็นวาระแรก ถ้าทำได้สำเร็จก็จะได้ลงประชามติ
“ฉะนั้น จะอธิบายให้ฟังชัดเจนว่า ตรวจสอบกฎหมายเดิม กฤษฎีกาต้องรับเอาไปดูให้ ว่าตกลงยังอยู่หรือไม่ ถ้าอยู่ส่งกลับมาก็จะใช้กฎหมายฉบับนี้ดำเนินการลงประชามติ เพราะต้องใช้กฎหมายรองรับ มีระเบียบกฎหมายบริหารราชการแผ่นดินมันไม่มีศักดิ์ศรีพอที่จะเอาไปทำเดี๋ยวจะมีคนโต้แย้ง หากจะใช้พระราชกำหนดก็จะทำให้เจอทางตัน เพราะคนที่ไม่อยากให้ทำจะยักย้ายส่งไปให้ศาลพิจารณา ก็ไม่รู้จะมีอนาคตเมื่อไหร่ ตกลงเราจะเลือก 2 ทาง คือ รอกฤษฎีกาแจ้งให้ทราบว่าทำได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็จะทำอีกทาง คือ รอของ กกต. โดย กกต.จะส่งไประหว่างเปิดวิสามัญ เมื่อผ่านเสร็จก็จะส่งให้วุฒิสภาโดยประสานกับประธานวุฒิสภา ถ้าท่านจะพิจารณาให้ก็จะยืดเวลาการประชุมสภาวสมัยวิสามัญออกไป แต่ถ้าจะรอสภาเปิดเราก็จะรอ ตกลง ครม.ยืนยันให้ทำประชามติเพื่อตัดประเด็นการถกเถียงทั้งหลายทั้งปวง” นายสมัคร กล่าว
นายสมัคร กล่าวด้วยว่า เมื่อมีประชามติแล้วหากไม่แก้ก็ต้องเลิกเรื่องนี้ไปเลย ถ้าแก้ก็ขอให้รู้ว่า การแก้จะอยู่ในความดูแลของคนที่รับเลือกตั้งมา ทั้งแต่งตั้ง 74 เลือกตั้ง 76 และเลือกตั้งอีก 480 จะเป็นคนดูแลเรื่องนั้น จะเสนอขึ้นไปอย่างไรก็สุดแท้แต่คนทั้งหมดนี้จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าเรื่องใดจะผ่านได้หรือไม่ได้ มาตราไหนควรจะแก้หรือไม่ซึ่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่โต ถ้าเรื่องไม่ควรแก้คนทั้ง 2 ซีกนั้นเขาจะเป็นคนวินิจฉัยว่าเขาจะไม่แก้ การเสนอย่อมเสนอได้ แต่อาจจะไม่ผ่าน เพราะมันไปทีละมาตราขอให้เข้าใจเรื่องเท่านั้นอะไรที่ไม่สมควรแก้ ไม่ผ่านก็แก้ไม่ได้ แต่สิ่งที่สมควรแก้ก็มี ฉะนั้นเวลา 45 วัน คือ ต้องการจะให้มีการรณรงค์ ใครที่ให้แก้ก็รณรงค์หาเสียงให้แก้ ใครไม่ให้แก้ก็รณรงค์หาเสียงไม่ให้แก้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบ 2,000 ล้านบาท เพื่อจัดทำประชามติหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า เรื่องกฎหมายต้องเสร็จก่อน เงินเขามีอยู่แล้ว เมื่อถามว่า จะให้ ส.ส. ของพรรคถอนญัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่ต้อง
นอกจากนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงจัดการกับแกนนำพันธมิตรฯ เพื่อสลายม็อบ ว่า ตอบไปแล้วว่า ผมแม้แต่คิดยังไม่เคย