xs
xsm
sm
md
lg

"หมัก" ผวายิ่งเร่งยิ่งช้า เลิกดัน พรก.ประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"หมัก" ยอมถอยไม่ออก พ.ร.ก.ประชามติ หวั่นติดกับดักตัวเอง ถูกยื่นตีความ ทำให้การแก้รธน.ไม่ทันการ แต่ยังอยากจะใช้ กม.ลูกปี 41 สั่ง กฤษฎีกาหาคำตอบว่าใช้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็ต้องยอมรอกฎหมายลูกจากกกต. ด้านกฤษฎีกาขอเวลา 2 สัปดาห์รู้ผล ด้านกกต. เสก พ.ร.บ.ประชามติเอาใจรัฐบาล คาดศุกร์นี้ เอาเข้าที่ประชุมพิจารณาได้ ขณะที่ชมรม ส.ส.ร.50 เตรียมยื่น อสส. ส่งเรื่องศาลรธน.สั่งยกเลิกกระบวนการแก้ รธน.

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่าถึงแนวทางการออก พ.ร.ก. ออกเสียงประชามติ เรื่องจะแก้รธน. หรือไม่แก้ว่า เมื่อตรวจสอบกับทางกฤษฎีกาแล้ว มีกฎหมายประชามติ ซึ่งออกไว้ตั้งแต่ปี 41 และมีข้อถกเถียงกันว่า กฎหมายฉบับนี้จะหายไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 40 หรือไม่ เพราะเป็นกฎหมายลูก จึงได้ขอให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีการับเรื่องนี้ไปตรวจสอบ

นายสมัคร กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ถึงการออก พ.ร.ก. ก็ออกได้ แต่จะต้องมีการเปิดสภา นำเข้าสภา เมื่อเข้าสภาก็คาดการณ์ได้ว่า จะมีผู้คนทำให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อไปไม่ได้ ด้วยการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็จะไม่มีอนาคตว่าจะทำประชามติได้เมื่อไร

ดังนั้น อีกช่องทางที่จะทำได้ คือ รอให้กกต. ออกกฎหมายลูก ซึ่งกกต.ก็แจ้งว่า กำลังทำกฎหมายเรื่องนี้ และจวนจะเสร็จแล้ว คาดว่าทันก่อนสภาเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ก็จะเอากฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ที่ประชุมสมัยวิสามัญ เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็จะส่งให้วุฒิสภา หากวุฒิสภายินดีจะพิจารณาให้ เราก็จะขยายเวลาการประชุมสมัยวิสามัญออกไป แต่ถ้าวุฒิสภาบอกว่ายังไม่อยากพิจารณา ก็จะรอจนถึงเดือน ก.ค. เมื่อสภาเปิดสมัยสามัญ วุฒิสภาก็ต้องพิจารณาตรงนั้น กฎหมายเสร็จ แล้วก็จะทำประชามติได้

"ตกลงเราจะเลือก 2 ทาง คือ รอกฤษฎีกาแจ้งให้ทราบว่าใช้กฎหมายประชามติของปี 41 ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็จะรอของกกต. โดย กกต.จะส่งไประหว่างเปิดวิสามัญ เมื่อผ่านเสร็จก็จะส่งให้วุฒิสภาโดยประสานกับประธานวุฒิสภา ถ้าท่านจะพิจารณาให้ ก็จะยืดเวลาการประชุมสภาวสมัยวิสามัญออกไป แต่ถ้าจะรอสภาเปิด เราก็จะรอ ตกลง ครม. ยืนยันให้ทำประชามติ เพื่อตัดประเด็นการถกเถียงทั้งหลายทั้งปวง"นายสมัคร กล่าว

นายสมัคร กล่าวว่า เมื่อมีประชามติแล้วหากไม่แก้ก็ต้องเลิก เรื่องนี้ไปเลย ถ้าแก้ก็ขอให้รู้ว่า การแก้จะอยู่ในความดูแลของคนที่ได้รับเลือกตั้งมา ทั้งส.ว.แต่งตั้ง 74 คนส.ว.เลือกตั้ง 76 คนและ ส.ส.เลือกตั้งอีก 480 คน จะเป็นคนดูแลเรื่องนี้ จะเป็นผู้วินิจฉัยว่า เรื่องใดจะผ่านได้หรือไม่ได้ มาตราไหน ควรจะแก้หรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่โต ถ้าเรื่องไม่ควรแก้ คนทั้ง 2 ซีกนั้นเขาจะเป็นคนวินิจฉัยว่า เขาจะไม่แก้ การเสนอย่อมเสนอได้ แต่อาจจะไม่ผ่าน เพราะมันไปทีละมาตรา อะไรที่ไม่สมควรแก้ ไม่ผ่านก็แก้ไม่ได้ แต่สิ่งที่สมควรแก้ก็มี ฉะนั้นเวลา 45 วันคือต้องการจะให้มีการรณรงค์ ใครที่ให้แก้ก็รณรงค์หาเสียงให้แก้ ใครไม่ให้แก้ก็รณรงค์หาเสียง ไม่ให้แก้

ส่วนเรื่องงบประมาณ 2,000 ล้านบาทที่จะใช้ทำประชามตินั้น เงินมีอยู่แล้ว แค่รอกฎหมายให้เสร็จก่อน ส่วนเรื่องการถอนญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาก่อนหรือไม่นั้น ไม่ต้องถอน

กฤษฎีกาขอเวลาตรวจ 1-2 สัปดาห์

คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กฤษฎีกาจะใช้เวลา1-2 สัปดาห์ ในการพิจารณา และหากพบว่า พ.ร.บ.ฉบับนั้นยังนำมาใช้ได้ ก็จะนำมาใช้ แต่รัฐธรรมนูญ 2550 เปลี่ยนไปจากรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะเรื่องประชามตินั้น ในรัฐธรรมนูญปี 2540 อยู่ในมาตรา 214 แต่ฉบับ 2550 อยู่ในมาตรา165 เรื่องนี้ก็ต้องสอบถามกันด้วยว่า จะมีปัญหาหรือไม่ เมื่อถามว่าพ.ร.บ.ฉบับนั้นจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่าไม่ขัด เมื่อถามว่า จำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ต้องดูว่าใครจะส่งไป และขอไปศึกษาก่อน

อย่างไรก็ตาม คุณพรทิพย์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ก่อนการประชุมครม.ว่า พ.ร.บ. การลงประชามติ ปี 2541 ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. กล่าวว่า ในฐานะที่กกต.จะเป็นผู้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ก็จะเร่งร่างให้แล้วเสร็จอย่างเร็วที่สุด และคาดว่าในการประชุม กกต.ครั้งหน้า จะได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงได้ หากแล้วเสร็จก็จะส่งให้รัฐสภาโดยเร็ว

ด้านนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา เคยชี้ชัดแล้วว่า กฎหมายเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติปี 2541 ไม่มีผลบังคับใช้ในช่วงนี้ ดังนั้นเมื่อไม่กฎหมายก็ต้องรอ กกต. ร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ซึ่งหากจะออกเป็นพ.ร.ก. โดยส่วนตัวคิดว่าจะมีปัญหาข้อกฎหมายอย่างแน่นอน ดังนั้นการจะทำประชามติ ควรออกให้เป็นพ.ร.บ.ที่ชัดเจนจะดีกว่า เพื่อป้องกันปัญหาข้อกฎหมายตามมา

"ในความเห็นของผมอยากให้ทั้ง 2 ฝ่าย ถอยออกมาคนละก้าว แล้วรอให้ออกกฎหมายประชามติ ซึ่งในส่วนของ กกต. เราพยายามจะทำให้เสร็จให้ทันกลางเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นก็สามารถนำเข้าสู่สภา แล้วจากนั้นก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อประกาศใช้ ผมอยากให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าว และเอาเวลาที่เหลือ 45-60 วัน มาศึกษารัฐธรรมนูญ เพื่อรอกฎหมายประชามติออกมา หากดูด้วยเหตุด้วยผลแบบนี้ก็จะทำให้บ้านเมืองเดินไปได้ เพราะผมเองก็เป็นห่วงบ้านเมืองมากว่าเราจะหาจุดยุติอย่างไร" นายประพันธ์ กล่าว

ส.ส.ร.50 เล็งยื่นตีความล้ม รธน.

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกชมรม ส.ส.ร.50 แถลงว่า ในการประชุมชมรมส.ส.ร.50 มีความเห็นว่า ญัตติแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ 50 ที่ส.ส.และส.ว.ยื่นต่อประธานรัฐสภานั้น ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการล้มล้าง หรือฉีกรัฐธรรมนูญ 50 ทิ้ง การที่รัฐบาลจะจัดทำประชามติ ถามประชาชนว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการแสดงถึงการไม่ยอมรับในประชามติของประชาชน 14.7 ล้านเสียง

ดังนั้น การที่รัฐบาลจะออกเป็น พ.ร.บ.จึงเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งหนทางที่จะแก้ไขสถานการณ์ความแตกแยกของคนในชาติ ชมรมฯเห็นควรให้มีการถอนญัตติดังกล่าวออกไป แต่หากยังฝืนที่จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง และพวกพ้องทางชมรมก็มีมติที่จะดำเนินการเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งการให้เลิกกระทำการดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 แต่หากอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการใดๆ ทางชมรมฯก็จะดำเนินการยื่นศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง

นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า การลงประชามติเพียงถามว่า จะแก้หรือไม่แก้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่จริงใจที่จะรับฟังมติประชาชนจริง เพียงแต่ลดกระแสการต่อต้านเท่านั้น และไม่ได้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ เพราะในข้อเท็จจริงประชาชนแต่ละคนก็อาจมีความคิดเห็นไปคนละประเด็น ดังนั้นการถามเพียงแก้หรือไม่แก้ แล้วเอามติของคนที่ต้องการให้แก้ไขต่างประเด็นมารวมกันย่อมเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นทางชมรมฯ จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนออกมาร่วมกันคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

เมื่อถามกรณีที่รัฐบาลเตรียมปัดฝุ่น พ.ร.บ.ประชามติ 41 ขึ้นมาดำเนินการ นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา ก็พูดไว้ชัดเจนแล้ว และเป็นเรื่องของกกต.ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ตนเชื่อว่าที่สุดแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะต้องใช้เวลาถึงปีเศษ ซึ่งอาจไม่ตรงตามเป้าประสงค์ของเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น