กกต.โยนกฤษฎีกาฯ พิจารณา พ.ร.ก.ประชามติ บังคับใช้ได้หรือไม่ ระบุ พร้อมปฏิบัติตาม ด้านเลขาฯ กกต.ระบุ การออก พ.ร.ก.ทำประชามติอาจมีปัญหาไม่ชอบด้วย รธน.
วันนี้ (26 พ.ค.) นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวถึงกรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ระบุว่า หาก กกต.พิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติล่าช้า จะมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาบังคับใช้แทน ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกฤษฎีกาที่จะพิจารณาว่ารัฐบาลจะสามารถออก พ.ร.ก.มาบังคับใช้ได้หรือไม่ ทั้งนี้ กกต.ในฐานะหน่วยปฏิบัติ เมื่อมีกฎหมายออกมาบังคับ กกต.ก็ต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า ขณะนี้บ้านเมืองของเรากำลังมีปัญหา ดังนั้น ทุกฝ่ายควรช่วยแก้ไขเรื่องความขัดแย้งมากกว่า
“กกต.เป็นหน่วยงานปฏิบัติ ถ้ามีกฎหมายออกมา เราก็ต้องทำตาม ส่วนการออก พ.ร.ก.เป็นเรื่องของกฤษฎีกา ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติของ กกต.นั้น ขั้นตอน วิธีการอาจจะล่าช้าบ้าง เพราะเมื่อ กกต.พิจารณาเสร็จแล้ว ก็ต้องส่งให้สภาพิจารณา ซึ่งอาจมีความเห็นต่างจาก กกต.ได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาบ้านเมืองขณะนี้เราต้องช่วยกันแก้ไข ลองเทียบปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านเราก็น่าจะดีใจที่เรามีปัญหาเบากว่า” นายสมชัย กล่าว
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่ากฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติยังไม่มี และรัฐธรรมนูญมาตรา 165 กำหนดให้การออกเสียงประชามติต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ซึ่งในมาตรา 302 วรรคท้าย ระบุให้ กกต.เป็นผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ หากใช้บททั่วไปออกเป็น พ.ร.ก.อาจจะมีปัญหา ในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ กกต.ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาพรรคการเมืองดูแลในเรื่องของการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งตามกรอบเวลาจะครบกำหนด 1 ปี คือ ในเดือนสิงหาคม ขณะนี้ กกต.กำลังเร่งยกร่างฯ ซึ่งจะต้องทำอย่างรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะเรื่องที่จะเป็นปัญหา เรื่องที่ไม่ชอบโดยรัฐธรรมนูญ
“จะใช้กฎหมายเก่าของปี 2541 เป็นต้นแบบ เพื่อนำมาพิจารณาประกอบกับรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจากกฎหมายเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นการดำเนินการไม่น่าจะยุ่งยากในส่วนของ กกต.ต่อจากนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐสภา” นายสุทธิพล กล่าว
เมื่อถามว่า หากกฤษฎีกา เห็นว่า รัฐบาลสามารถออก พ.ร.ก.ประชามติได้ กกต.พร้อมจะปฎิบัติหรือไม่ นายสุทธิพล กล่าวว่า กกต.ทำงานภายใต้กรอบของกฎหมาย หากมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน เพราะขณะนี้ตัวหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติเรายังไม่มี ข้อกำหนดของ พ.ร.บ.ยังไม่มี ดังนั้น หากมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน กกต.ในฐานะองค์กรที่ปฎิบัติตามกฎหมายก็ยินดีที่จะปฎิบัติตาม ในกระบวนการที่จะนำไปสู่กฎหมายดังกล่าว อยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะจะมีแนวทางในการปฏิบัติ ทั้งผู้จัดออกเสียงประชามติ เนื้อหาที่จะมีการทำประชามติ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้ประชาชนเข้าใจยาก อยากให้รัฐบาลกำหนดให้ชัดเจนว่าประชาชนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในประเด็นใด เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการอธิบาย เพราะขณะนี้ไม่มี ส.ส.ร.คอยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ จึงต้องเป็นหน้าที่ กกต.ในการทำความเข้าใจกับประชาชน