xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เข็นร่างประชามติเข้าสู่การพิจารณาสภาศุกร์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สดศรี สัตยธรรม กกต.
กกต.เตรียมส่งร่าง พ.ร.บ.ประชามติให้สภาฯพิจารณาทันศุกร์นี้ ด้าน “สดศรี” หวั่นความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายอาจเป็นเหตุให้ทหารเข้าแทรกแซงเพื่อความมั่นคงของชาติ

วันนี้ (28 พ.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง และการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2550 ว่า คณะกรรมการฝ่ายกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติซึ่งมีนายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธานจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ (28) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 40 มาตรา จากนั้นในการประชุม กกต.วันที่ 29 พ.ค.ก็จะพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อจะได้ส่งให้สภาฯพิจารณาภายในวันศุกร์ที่ 30 พ.ค.ต่อไป

“ที่จริงเราร่างเสร็จมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้นัดหมายให้คณะกรรมการฝ่ายกิจการพรรคการเมืองไปพิจารณาเท่านั้น โดยจะให้คณะกรรมการ ดูทั้งข้อกฎหมาย และวิธีปฏิบัติ ทั้งนี้ ส่วนรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะไม่แตกต่างจาก พรบ. ออกเสียงประชามติ ฉบับ 2541 มากนัก แต่ในส่วนของวิธีปฏิบัติอาจแตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน”

นางสดศรี กล่าวต่อว่า ส่วนการกำหนดคำถามในการลงประชามตินั้น กกต.จะร่างเป็นแนวทางไปก่อน จากนั้นจะให้ฝ่ายรัฐสภาเป็นฝ่ายพิจารณาแก้ไขเอง ซึ่งหลังจากนี้เรื่องทุกอย่างขึ้นอยู่กับสภา ว่า จะพิจารณาได้รวดเร็วหรือไม่ เพราะกรอบการพิจารณาของสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะต้องใช้เวลาพิจารณาในส่วนของ ส.ส.120 วัน ในส่วนของ วุฒิสภาอีก 90 วัน จึงอาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ดังนั้น หากมีการประชุมร่วมกัน แล้วแปรญัตติ 3 วาระรวด ก็จะทำให้การพิจารณาเร็วขึ้น แต่ทั้งหมดก็ขึ้นประธานสภา ว่า จะพิจารณาอย่างไร และเมื่อร่าง พรบ.ฉบับดังกล่าวผ่านสภาฯ และมีผลบังคับใช้แล้ว กกต.ก็มีหน้าที่ต่อไปคือต้องทำประชามติให้
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2541 ยังไม่สิ้นสภาพตามรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้น นางสดศรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้กำหนดให้มี พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติปี 2541 เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 สิ้นสภาพ พ.ร.บ.ประชามติปี 41 ก็น่าจะสิ้นผลไปด้วย ก็น่าจะสิ้นสภาพทั้งหมด แต่ทั้งนี้ หากคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า พรบ.ออกเสียงประชามติปี 41 ยังไม่สิ้นสภาพ กกต.ก็คงไม่โต้แย้งอะไร และคงไม่ต้องใช้ร่าง พรบ.ฉบับที่กำลังร่างอยู่ปัจจุบันในการทำประชามติ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะทำให้การลงประชามติง่ายกว่า พรบ.ออกเสียงประชามติปี 2541

เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่ว่าปัญหาความขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญขณะนี้จะทำให้ทหารเข้ามา นางสดศรี กล่าวว่า บ้านเมืองไม่ใช่ของเล่น เราต้องดูว่าเราจะก้าวถึงจุดไหน หากถอยกันคนละก้าว อยู่กันด้วยเหตุผลบ้านเมืองก็จะเดินต่อไปได้ และในภาวะปัจจุบันหากมีการแบ่งขั้วแบ่งข้าง 2 ฝ่าย อาจมีการแทรกแซงได้ และบ้านเมืองไหนที่มีความแตกแยกกัน เราคงอยู่กันไม่ได้ แต่หากเราปรับความเห็นตรงกันได้อาจทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นยุติลงได้รวดเร็ว

“สำหรับ กกต.เราทำภารกิจที่ระบุไว้ตามกฎหมาย เราไม่ได้เอาใจใคร เชื่อว่า จากการทำประชามติครั้งนี้ อาจทำให้สถานการณ์ความเครียดทางการเมืองผ่อนคลายลงได้ หากทุกฝ่ายมีเหตุและผล”
กำลังโหลดความคิดเห็น