“อภิชาต” พร้อมสนองนโยบายออกเสียงประชามติแก้ไม่แก้ รธน.เดือน ก.ค.แต่รับหนักใจจัดพิมพ์บัตร เกรงข้อครหาซ้ำรอยเลือกตั้ง ส.ส.ด้าน “สดศรี” คาดจะมี ปชช.ออกมาสิทธิมากกว่าร้อยละ 70 เพราะถูก ส.ส.ในแต่ละพื้นที่เกณฑ์ออกมาใช้สิทธิ
วันนี้ (22 พ.ค.) ภายหลังการประชุม กกต.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.กล่าวถึงการที่รัฐบาลต้องการจัดให้มีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วงเดือน ก.ค.ว่า กกต.อาจต้องเร่งทำร่าง พ.ร.บ.การอออกเสียงประชามติให้เสร็จเร็วขึ้น จากเดิมที่จะเสร็จในเดือน ส.ค.เพื่อนำส่งให้สภาให้พิจารณา อย่างไรก็ตาม แม้ กกต.จะสามารถจัดการออกเสียงประชามติได้ทันในช่วงปลายเดือน ก.ค.แต่ยอมรับว่า รู้สึกกังวลต่อการจัดพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติ โดยวิธีพิเศษ ที่อาจถูกครหาและถูกนำมาเป็นประเด็นโจมตีว่า กกต.ไม่โปร่งใสได้ เพราะมีช่วงระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป ไม่สามารถจัดจ้างแบบวิธีปกติที่ต้องใช้เวลาหลายเดือน ซึ่งหากรัฐบาลจะทำอะไรก็ให้เวลา กกต.บ้าง แต่ส่วนตัวเรื่องนี้คงไม่จำเป็นต้องเข้าหารือกับนายกฯ
“จะให้ กกต.ทำอะไรก็ทันทั้งนั้น แต่เรื่องจัดพิมพ์บัตรอาจขลุกขลักหน่อย และอาจจะเป็นจุดโจมตีได้ เพราะแทนที่จะสามารถจัดประกวดราคาว่ากันไปตามปกติได้ มันก็จะกลายเป็นว่าเราต้องไปจัดจ้างวิธีพิเศษ ซึ่งมันเป็นข้อครหาได้ ทั้งที่อยากให้มันเป็นไปตามปกติและเปิดเผยแบบทั่วไป แต่หากลงเวลาจำกัดมาแบบนี้ ท้ายสุดมันจะมีข้อจำกัดและหลีกเลี่ยงการใช้วิธีพิเศษไม่ได้ จะทำอะไร ก็ขอให้ กกต.ได้มีเวลาพอสมควรบ้าง”
นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า การที่นายกฯออกมาบอกว่าจะทำประชามติ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์การเมืองคลี่คลายไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรง และลดภาวะความร้อนแรงให้เบาลงได้ ซึ่งตนคิดว่าการลงประชามติครั้งนี้จะมีประชาชนมาออกเสียงมากกว่าการครั้งก่อน เนื่องจากครั้งนี้ ส.ส.คงจะพูดให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงประชามติมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ส่วนประเด็นที่จะสอบถามประชาชนในการลงประชามตินั้นคิดว่าหากจะให้ง่ายขึ้นควรถามให้ชัดไปเลยว่าจะแก้ไขโดยยึดรัฐธรรมนูญ 40 ทั้งฉบับหรือใช้รัฐธรรมนูญปี 50 มากกว่าการถามประชาชนเรียงตามมาตรา ทั้งนี้ หากจะมีการทำประชามติ ทางรัฐสภาก็ต้องชะลอการบรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อน
ส่วนการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นั้น ควรใช้ พ.ร.บ. ของปี 2541 เป็นหลัก ถ้าใช้วิธีนี้ การยกร่างในส่วนของ กกต.จะแล้วเสร็จไม่เกินปลายเดือน มิ.ย.และทางรัฐสภาก็ควรพิจารณา 3 วาระรวด เพื่อให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ประกาศใช้ทันในเดือน ก.ค.ตามที่นายกฯเสนอ แต่ก็คิดว่าการพิจารณาในส่วนสภาอาจไม่เร็วนัก เพราะฝ่ายค้านอาจมีการแปรญัตติในบางมาตรา ซึ่งแตกต่างกับ พ.ร.บ.ประชามติของปี 2550 ที่สามารถพิจารณา 3 วาระรวดได้ เนื่องจากขณะนั้นมีแต่ สนช.ไม่ได้มีฝ่ายค้านเหมือนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณที่รัฐบาลจะจัดสรรให้ 2 พันล้าน ก็คิดว่าน่าจะเพียงพอ