xs
xsm
sm
md
lg

กกต.อาจจัดทำประชามติไม่ทันต้น ก.ค.อ้างยกร่าง ก.ม.เสร็จไม่ทัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะเสนอของบประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การทำประชามติเป็นหน้าที่ของ กกต.อยู่แล้ว และไม่มีปัญหา เพราะมีประสบการณ์มาก่อน แต่ติดปัญหาอยู่ว่า ขณะนี้ กกต.อยู่ระหว่างการให้เจ้าหน้าที่ยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยเจ้าหน้าที่ได้เสนอหลักการให้ กกต.ให้ความเห็นชอบไปแล้ว และกำลังดำเนินการยกร่างในส่วนของเนื้อหา คาดว่าเดือนหน้าร่างแรกจะแล้วเสร็จและต้องมาขอความเห็นชอบจาก กกต. ซึ่งอาจจะมีการแก้ไขปรับปรุง เชื่อว่าในการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ กกต.คงไม่สามารถเสนอร่างดังกล่าวได้ทันในสมัยประชุม ดังนั้น การคาดการณ์ของรัฐบาลว่าจะทำประชามติในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมจึงไม่มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้
นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า แม้ขณะนี้จะมี พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ 2550 อยู่ แต่ร่างดังกล่าวเป็นการยกร่างขึ้นเพื่อรับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และคงใช้สำหรับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถนำมาใช้กับการทำประชามติให้แก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญได้ ซึ่งตอนที่ยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับออกเสียงประชามติ 2550 ใช้เวลาถึง 3 เดือนจึงแล้วเสร็จ
นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลมีความประสงค์จะเร่งดำเนินการออกเสียง คิดว่าในการประชุม กกต.วันที่ 22 พฤษภาคมนี้ จะหารือเพื่อเร่งรัดเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ที่อยู่ระหว่างการยกร่างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งเชื่อว่ากลางเดือนมิถุยายนนี้ ผ่านขั้นตอนของ กกต.ไปได้ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว ถ้าจะให้เร็วกว่านั้น โดยให้ กกต.ร่าง พ.ร.บ.เสนอไปยังสภาฯ อย่างไม่รอบคอบแล้วให้ไปแก้กันในสภาฯ กกต.คงทำไม่ได้ เพราะการยกร่าง พ.ร.บ.นี้ ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ให้เป็นอำนาจของ กกต.ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ดังนั้น กกต.จึงต้องรอบคอบให้มากที่สุด
ทั้งนี้ การทำประชามติทำได้ ไม่มีปัญหา แต่อยากให้ระหว่างที่ยกร่างกฎหมาย รัฐบาลควรจะมีประเด็นที่เสนอต่อประชาชนให้ชัดเจน เช่น ระบบการเลือกตั้งจะใช้เขตเดียวเบอร์เดียว ส.ส.และ ส.ว.ควรให้มีที่มาอย่างไร เพื่อเวลาทำประชามติ ประชาชนจะได้ออกเสียงถูกว่าสมควรแก้หรือไม่ เพราะถ้าแก้ไปในระหว่างที่ไม่มีกฎหมาย โดยไปใช้ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มันจะไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย เมื่อถึงเวลานั้นหากเกิดปัญหา เช่น มีการตั้งโต๊ะซื้อเสียงหรือมีการทุจริตการทำประชามติเกิดขึ้นจะเอากฎหมายอะไรมาดำเนินการ ถ้าจะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ดูแล้วก็ไม่น่าเข้าว่าจะออก พ.รก.ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น