“ประพันธ์” เผยทำประชามติแก้ไม่แก้ รธน. เดือน ก.ค.อาจไม่ทัน เหตุ กม.ประชามติยังอยู่แค่ชั้นยกร่าง ด้าน “สมชัย” บ่นเสียดายเงิน 2 พันล้าน แต่หากลงทุนแล้วทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายลดทิฐิ บ้านเมืองมีทางออกก็น่าดำเนินการ
วันนี้ (21 พ.ค.) นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฝ่ายสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวถึงกรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะทำมติว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ว่า ในฐานะฝ่ายปฏิบัติงาน กกต.ก็มีความพร้อมที่จะจัดการลงประชามติภายในเดือนกรกฎาคมตามที่กำหนด เพราะ กกต.มีบุคลากรมีความรู้ความสามารถเพียงพอ ซึ่งหากจะติดปัญหาก็เป็นเพียงเรื่องการจัดพิมพ์บัตรลงประชามติ เพราะที่ผ่านมักประสบปัญหาว่า กกต.ถูกกล่าวหาเรื่องการพิมพ์บัตรเลือกตั้งมาโดยตลอดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลให้เวลาในการเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างก็คงไม่มีปัญหา
เมื่อถามว่าการทำประชามติจะเป็นทางออกให้บ้านเมืองสงบลงจริงหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศชาติเรายากจน ทำไมต้องมาเสียค่าใช้จ่ายขนาดนี้ แต่ถ้าเงินจำนวน 2 พันล้านสามารถทำให้บ้านเมืองสงบได้จริงและทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ก็สมควรที่จะเสีย ซึ่งที่ผ่านมาเราเสียเงินเพื่อรักษาประชาธิปไตยไปเยอะมาก
“ยอมรับว่าคนไทยเรามีศักดิ์ศรีสูง บางทีหากบอกว่าผมแพ้คุณ ก็ยอมไม่ได้ แต่หากจะลงประชามติเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายลดทิฐิลง อย่างน้อยก็ถอยกันคนละก้าว ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นทางออกให้กับสังคมได้ และให้บ้านเมืองได้ยอมรับหลักการนี้ซึ่งเป็นหลักการประชาธิปไตย เมื่อเกิดปัญหาบ้านเมืองเดินไปไม่ได้ ฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิดก็ยังไม่รู้ จึงเห็นด้วยที่จะโยนอำนาจคืนสู่ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ใช้อำนาจนี้อีกสักครั้ง”
ด้าน นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่า การทำประชามติเป็นหน้าที่ของ กกต.อยู่แล้ว ถ้าถามว่าพร้อมหรือไม่ก็ไม่มีปัญหา เพราะมีประสบการณ์มาก่อน แต่ขณะนี้กกต.อยู่ระหว่างการให้เจ้าหน้าที่ยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยเจ้าหน้าที่ได้เสนอหลักการให้ กกต.ให้ความเห็นชอบไปแล้ว และกำลังดำเนินการยกร่างในส่วนของเนื้อหา คาดว่าเดือนหน้าร่างแรกจะแล้วเสร็จและต้องมาขอความเห็นชอบจาก กกต. ซึ่งอาจจะมีการแก้ไขปรับปรุง เชื่อว่าการที่รัฐสภาจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญ กกต.คงไม่สามารถเสนอร่างดังกล่าวได้ทันในสมัยประชุม ดังนั้น การที่รัฐบาลคาดการณ์ว่าจะทำประชามติในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมจึงไม่มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้
นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า แม้ขณะนี้จะมี พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ 50 อยู่ แต่ร่างดังกล่าวเป็นการยกร่างขึ้นเพื่อรับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 50 และคงใช้ได้สำหรับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถนำมาใช้กับการทำประชามติให้แก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญได้ ซึ่งตอนที่ยกร่างพรบ.ฉบับออกเสียงประชามติ 50 ใช้เวลาถึง 3 เดือนจึงแล้วเสร็จ ดังนั้น ร่างออกเสียงประชามติที่อยู่ระหว่างการยกร่างของ กกต.นี้ หากรัฐบาลมีความประสงค์จะเร่งดำเนินการออกเสียงนั้นในการประชุม กกต.ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ก็จะมีการหารือเพื่อเร่งรัดเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการยกร่างให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งเชื่อว่ากลางเดือน มิ.ย.นี้ ผ่านขั้นตอนของ กกต.ไปได้ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว ถ้าจะให้เร็วกว่านั้น โดยให้ กกต.ร่าง พ.ร.บ.เสนอไปยังสภาอย่างไม่รอบคอบแล้วให้ไปแก้กันในสภา กกต.ก็คงทำไม่ได้ เพราะการยกร่างพรบ.นี้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นอำนาจของ กกต.ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ดังนั้น กกต.จึงต้องรอบคอบให้มากที่สุด
“การทำประชามติทำได้ไม่มีปัญหา แต่อยากให้ระหว่างที่ยกร่างกฎหมาย รัฐบาลควรจะมีประเด็นที่เสนอต่อประชาชนให้ชัดเจน เช่น ระบบการเลือกตั้งจะใช้เขตเดียวเบอร์เดียว ส.ส.และ ส.ว.ควรให้มีที่มาอย่างไร เพื่อเวลาทำประชามติประชาชนจะได้ออกเสียงถูกว่าสมควรแก้หรือไม่ เพราะถ้าแก้ไปในระหว่างที่ไม่มีกฎหมาย โดยไปใช้ร่างระเบียบสำนักนายกฯ มันก็จะไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย และเมื่อถึงเวลานั้นหากเกิดปัญหา เช่น มีการตั้งโต๊ะซื้อเสียงหรือมีการทุจริตการทำประชามติเกิดขึ้นจะเอากฎหมายอะไรมาดำเนินการ ถ้าจะออกเป็นพระราชกำหนด ดูแล้วก็ไม่น่าเข้าว่าจะออก พ.ร.ก.ได้” นายประพันธ์กล่าว