xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ นัดชุมนุมใหญ่ยันแก้ รธน.หวังฟอกผิด "แม้ว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พันธมิตรฯ นัดประกาศดีเดย์ชุมนุมใหญ่วันนี้ หลังพปช.สาย "เนวิน" นำทีม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล พร้อม ส.ว.ยื่นญัตติแก้ไข รธน. "ชัย" รับลูกบรรจุเข้าสู่วาระภายใน 15 วัน ขณะที่ 7 ส.ว.โวย ถูกหลอกให้เซ็น เตรียมขอถอนชื่อ เช่นเดียวกับ ส.ส.พปช.แฉมีรายชื่อ ส.ส.หลายคน ที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่อง เตรียมนำถกประธานสภาฯถึงปัญหาที่เกิดขึ้น "สมัคร" แก้ลำประกาศผลาญงบ 2 พันล้านทำประชามติถามประชาชนแค่แก้หรือไม่แก้ รธน. เดือน ก.ค."ทักษิณ" หนุนแนวคิดนายกฯ แต่ กกต. ระบุกม.ประชามติออกไม่ทัน ปชป.ซัด "สมัคร" เล่นปาหี่ เย้ยสั่ง "ชัย" ไม่ได้ แถมมีข้อบังคับให้ต้องบรรจุญัตติแก้ไขใน 15 วัน

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.35 น. วานนี้ (21 พ.ค.) ส.ส.พรรคพลังประชาชน พร้อมด้วย ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภาได้เดินทางมายื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2550 ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีส.ส.และส.ว.ที่ลงรายชื่อสนับสนุนญัตติดังกล่าวทั้งหมด 164 คน

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า วันนี้ส.ส.และส.ว.ได้ร่วมกันยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ประกาศใช้มาในระยะเวลาหนึ่ง และมีหลายประเด็นทีมีข้อจำกัดเรื่องสิทธิการทำงานของส.ส. และมีประชาชนจำนวนมากได้เรียกร้องให้มีการแก้ไข เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมาได้มีการยื่นหนังสือให้กับ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยภาคประชาชนเห็นว่ามีข้อจำกัดในการใช้กฎหมาย และเห็นว่าควรจะแก้ในหลายมาตรา ดังนั้นส.ส.จึงเห็นพร้องต้องกันที่จะเสนอประธานสภาฯเพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังงจากนายชัยได้รับญัตติดังกล่าวแล้วก็ได้ยื่นให้ นายพิฑูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร โดยนายชัยกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เวลา ซึ่งอยากให้เลขาธิการฯตรวจสอบให้เร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่ารายชื่อที่เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเพียง 158 คน ไม่ใช่ 164 คนตามที่ผู้เสนอญัตติอ้าง เนื่องจากมีชื่อซ้ำส่วนหนึ่งทำให้ขาดไป 5 คน ขณะที่มี ส.ว.ถอนชื่อ รวม 8 คน ทำให้รายชื่อ ส.ส.และ ส.ว.ที่ร่วมลงชืท่อมีเพียง 150 คนเท่านั้น โดยมี ส.ส.พรรคพลังประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ภาคอีสานสายนายเนวิน ชิดชอบ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคประชาราช และ ส.ว. รวม 150 คนร่วมลงชื่อในญัตติ

"ชัย" บรรจุเข้าวาระภายใน 15 วัน

นายชัย ชิดชอบ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากนี้จะตรวจสอบรายชื่อของสมาชิกรัฐสภาที่เข้าชื่อว่าถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ โดยตามกฎหมายจะต้องบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการชุมภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเปิดสมัยประชุมวิสามัญในวันที่ 9 พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ท่านบอกไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องจริง แต่เมื่อตนเป็นประธานสภาฯ เมื่อมีสมาชิกเข้าชื่อตามกฎหมาย ก็ต้องดำเนินการตามนั้น ส่วนที่คณะกรรมการประสานการประชาสัมพันธ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคพลังประชาชนไม่ทราบเรื่องนั้น คิดว่าจะสามารถทำความเข้าใจกันได้ภายในพรรค

นายชัย เชื่อว่า การยื่นแก้ไขรัฐธรรนูญจะไม่ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าเพราะประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย หากสื่อไม่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าก็ไม่เกิดการเผชิญหน้า ดังนั้งจึงอยากให้สื่อได้เสนอความจริง

ส่วนข้อเสนอที่ให้ทำประชาพิจารณ์ฟังความเห็นของประชาชนนั้น นายชัย กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยที่จะทำประชาพิจารณ์ แต่ขณะนี้ตนเข้ามาเป็นประธานสภาฯ ไม่เกี่ยวกับการดำเนินการของ ส.ส.ดังนั้นเป็นหน้าที่ของประธานสภาฯ ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย

ส่วนที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านนั้น นายชัย กล่าวว่า ไม่ทราบว่าพันธมิตรเป็นใคร ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยไปมาหาสู่ และขณะนี้ยังไม่เห็นประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน มีแต่คนออกมาให้มีการแก้ไขเพื่อ ให้เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย

"7 ส.ว." โวยถูกหลอกให้เซ็นแก้ รธน.

ขณะที่ นายวรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี และนายแวดือราแม มะมิงจิ ส.ว.สรรหา แถลงข่าวขอถอนชื่อสนับสนุนญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดย นายวรวิทย์กล่าวว่าตนทั้งสองพร้อมด้วย นายสุริยา ปันจอร์ ส.ว.สตูล นายมาหะมะรอสดี บอตอ ส.ว.นราธิวาส นายรุสดี บินหะยีสะมาแอ ส.ว.สรรหา นายภิญโญ สายนุ้ย ส.ว.กระบี่ และนายโสภณ ศรีมาเหล็ก ส.ว.น่าน ขอถอนชื่อจากการสนับสนุนญัตติเนื่องจากเป็นความเข้าใจผิด เพราะได้รับการประสานจาก นายต่วน อับดุลเลาะห์ ดาโอ๊ะมารียอ ส.ว.ยะลา และเพื่อน ส.ว.จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ลงชื่อสนับสนุนการเสนอให้ทำประชามติจากประชาชนว่าควรใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หรือรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550

แต่เมื่อมีการยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยนำ 164 รายชื่อมายื่นมี ส.ว. ร่วมลงชื่อด้วย 30 คน พวกตนเกรงว่าจะถูกนำรายชื่อเข้าไปรวม อยู่ในญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วยเพราะการลงชื่อดังกล่าวพวกตนเพียงแค่สนับสนุนในการทำประชาพิจารณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ให้นำมาใช้เพื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"การนำรายชื่อของพวกผมไปจึงผิดวัตถุประสงค์ในการลงชื่อ ไม่ทราบว่าจะมีการไปตัดตอนในคำขอลงชื่ออย่างไร ทั้งนี้ผมทั้ง 7 เห็นว่าควรใช้รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ไปสักระยะหนึ่งก่อน โดยเมื่อถึงเวลาจึงควรแก้ไข ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ โดยรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญ พวกเราจึงยื่นหนังสือขอถอนชื่อต่อประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา"

นายวรวิทย์ กล่าวว่า จุดยืนของเราทั้ง 7 คนคิดว่ายังไม่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะอยากให้มาแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้มากกว่า เหมือนอย่างที่ ประธานวุฒิสภาฯว่าให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ไปก่อนอย่างน้อย 1 ปี

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการยัดไส้รายชื่อผู้เสนอญัตติในครั้งนี้ นายวรวิทย์ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจ เนื่องจากมีสื่อมวลชนโทรศัพท์มาถาม โดย ส.ว.บางคนที่ไม่ได้ลงชื่อได้ติดต่อมา ตนขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่ทราบว่าจะมีการยัดไส้รายชื่อหรือไม่ การลงชื่อของตนเพื่อการทำประชามติ ส่วนการลงชื่อของ ส.ว.ที่เกิดขึ้นคงไม่มีผลทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ส.ว. ส่วนเรื่องนี้จะมีความรับผิดชอบหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยและหารือในหมู่ส.ว.อีกครั้งในภายหลัง

"สุนัย" ยัน ส.ส.ถูกแอบอ้างชื่อยื่นแก้ รธน.

เช่นเดียวกับ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค กล่าวว่าการยื่นญัตติยื่นญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่ามีรายชื่อของส.ส.หลายคน ที่ไม่รู้เรื่องว่าจะถูกนำรายชื่อมาบรรจุในญัตตินี้ เพราะก่อนหน้านี้ได้เซ็นชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของคณะอนุกรรมการศึกษาแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ของ วิปรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้อยากให้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาได้หารือกับพรรคถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

พันธมิตรฯ ลั่นชุมนุมใหญ่แน่

ที่บ้านพระทิตย์ วันเดียวกัน มีการประชุมแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสนธิ ลิ้มทองกุล พร้อมทั้งตัวแทนเครือข่ายทั่วประเทศ

หลังการประชุม ายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ แถลงภายหลังการประชุมว่า พันธมิตรฯขอย้ำว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอนหลังจากที่พรรคพลังประชาชนได้ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ทางแกนนำพันธมิตรฯ ขอประเมินสถานการณ์ภายใน 24 ชั่วโมงอีกครั้งหนึ่ง โดยจะแถลงถึงวัน เวลา และสถานที่การชุมนุมใหญ่ให้ทราบ ในวันนี้ (22 พ.ค.) เวลา 11.00 น.

"ขณะนี้ขอให้ประชาชนที่ร่วมอุดมการณ์ทุกคน เตรียมพร้อมและรอฟังกำหนดการแจ้งสถานที่ วันเวลาให้ทราบอีกครั้ง โดยเรายืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อการฟอกผิดให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้องเท่านั้น ขณะนี้แกนนำขอวิเคราะห์ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชาชนเสนอขอแก้ไขก่อน"นายสุริยะใส ระบุ

"สมัคร" เตรียมเสนอ ครม.ทำประชามติ

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส.พรรคพลังประชาชนว่า ตนมีแอ็คชั่นแน่นอน ขอบอกเสียวันนี้ว่าวันอังคารที่ 27 พ.ค.นี้ จะนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.จะยอมเสียเงินสัก 2 พันล้านทำประชามติ แต่ตอนนี้นายชัย ชิดชอบ ประธานภาฯ ต้องเก็บไว้ก่อน อย่าเพิ่งบรรจุญัตติฯ ตนจะใช้เวลา 45 วันให้หาเสียงและต้นเดือนกรกฎาคมก็ลงคะแนนว่า เอาหรือไม่เอา ถึงตอนนั้นแล้ว จะได้ปิดปากกันเสียที คือถ้าไม่เห็นด้วย ก็ไม่ต้องแก้ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยจะแก้ก็จะได้หมดเรื่องกันกันที

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะถามประชาชนแก้ในรายมาตราหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ปัทโธ่ บอกหยกๆ ว่าจะถามว่าแก้หรือไม่แก้เท่านั้นเอง เมื่อถามว่าการลงประชามติ เนื่องจากมีกระแสต่อต้านใช่หรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ไม่ใช่กระแสต่อต้าน ตนรำคาญ เมื่อถามว่ารำคาญใคร นายสมัคร กล่าวว่า ไม่บอก แต่ตนมีวิธีการ เมื่อถามว่าจะมีปัญหาหรือไม่ที่ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสมัคร กล่าวว่า เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของตน บอกแล้วว่าส.ส.เป็นคนจัดการแก้ ตนอยู่ฝ่ายบริหารแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เขาแก้กฎหมายแบ่งงานกันแล้ว เขามีตุลาการ มีฝ่ายนิติบัญญัติ มีฝ่ายบริหาร แต่ฝ่ายบริหารบังเอิญมีอำนาจที่จะเป็นคนขอให้มีการ ทำประชามติได้ ตนจะใช้สิทธิอันนี้

"ทักษิณ" หนุนทำประชามติแก้ไข รธน.

ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่าจะใช้เงินซื้อความรำคาญใช่หรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ไม่ใช่ซื้อความรำคาญเฉยๆ ซื้อความพอใจของคนในบ้านเมืองนี้จะได้แบ่งข้างกันได้ชัดเจนว่าใครอยากจะแก้ไข ใครไม่อยากแก้

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวสนับสนันแนวคิด นายสมัคร สุนทรเวช ที่จะให้มีการทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าเป็นแนวทางที่ดี ตนไม่อยากให้เอาชนะคะคานกัน อยากให้เคารพกติกาที่มีอยู่ หากกติกาไม่ดีก็ควรแก้ไข

เผยเหตุ ส.ส.ไม่ร่วมกลัวถูกถอดถอน

นายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า การที่ พรรคชาติไทยไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วยนั้นถือเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.ไม่เกี่ยวกับสภาฯและพรรค ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าส.ส.พรรคชาติไทยกลัวจะถูกยื่นถอดถอน ซึ่งครั้งนี้เป็นปัญหาใหม่ของรัฐธรรมนูญที่ไม่เคยเกิดขึ้น ทำให้ส.ส.ไม่กล้ายื่นลงชื่อ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงความไม่เป็นเอกภาพระหว่างส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.แต่ละคน

"ที่พรรคชาติไทยไม่ลงชื่อด้วยนั้นอาจเป็นเพราะเขาอาจเข้าใจผิดว่า ต้องให้พรรคเป็นผู้ประสานงานแต่ ส.ส.ยังสามารถร่วมลงชื่อได้จนถึงวันยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ"

นายนิสิต กล่าวอีกว่า การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้ทำอย่างเร่งรีบ แต่เป็นเพราะมีความจำเป็นว่ารัฐธรรมนูญต้องได้รับการแก้ไข ส่วนเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ยังคงหมวด1-2 รัฐธรรมนูญ2550 ส่วนในหมวดอื่นจะยึดตามรัฐธรรมนูญ2540 เป็นหลัก

ไม่เชื่อพันธมิตรฯ ระดับคนนับหมื่นค้าน

ส่วนที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อาจเคลื่อนไหวคัดค้านในวันที่มีการยื่นญัตติต่อสภาฯ นายนิสิต กล่าวว่า ไม่เป็นอะไร ในระบอบประชาธิปไตย คนเรามีความเห็นต่างกันได้ แต่ยืนยันว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเราทำตาม มาตรา291 ส่วนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น เขาคงไม่มีกำลังจะให้คนมาร่วมเป็นหมื่นเป็นแสนและเชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรฯจะยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

สำหรับ มาตรา14 ของร่าง คปพร. ที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่า ขอให้ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งคปค.ไปด้วยนั้น นายนิสิต กล่าวว่า ในการเสนอญัตติเข้าสู่สภา พรรคไม่ได้กังวลถึงประเด็นนี้ เพราะเป็นสิทธิในการเสนอ และพรรคมองว่าประกาศ คปค.เป็นเผด็จการขัดต่อหลักประชาธิปไตย ส่วนจะพิจารณาอย่างไรให้สภาฯ เป็นผู้พิจารณา

ย้ำโล๊ะ คตส.-นิรโทษคน ทรท.

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการโล๊ะ คตส.และนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรค ไทยรักไทย 111 คนหรือไม่ นายนิสิต กล่าวว่า คตส.ถ้าตั้งตามคำสั่งคปค. ก็ต้องถือว่า เป็นโมฆะ ส่วน111 คนก็เป็นเอกสิทธิ์ของสภา อย่างไรก็ตาม เมื่อบรรจุร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว หากมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญในวันที่ 9 มิ.ย ภายใน 15 วัน ก็จะมีการบรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับ

คตส.ไม่ห่วงถูกโล๊ะเหตุ กม.ไม่ย้อนหลัง

นายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กล่าวว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชนที่เสนอใน มาตรา 14 ที่ระบุว่า "การใดทั้งหลายที่คณะปฎิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ดำเนินการ หรือจัดให้มีขึ้น รวมถึงการจัดตั้งองค์กรใดขึ้นมา หากขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ เป็นอันบังคับใช้ไม่ได้ เพื่อให้ผู้ได้รับความเสียหายจากการดังกล่าวนำมาอ้างความชอบด้วยกฎหมายได้" ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้วสิ่งที่ออกมาภายหลังจะไม่มีผลย้อนหลัง และการให้มีผลบังคับใช้ ก็ต้องเริ่มนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จะไม่ให้มีผลกับสิ่งที่เกิดก่อนหน้านี้ไม่ได้

ดังนั้นหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาจริง มาตรา 14 ก็ไม่สามารถทำให้กระบวนการของคตส.เกิดปัญหาข้อกฎหมายได้ เพราะการเกิดของ คตส.ชอบด้วยกฎหมายทุกอย่างและมีการรับรองอย่างถูกต้อง

"ผมไม่สนใจเลยกับสิ่งที่เขาทำตอนนี้ แล้วแต่จะทำอะไรก็ทำหากถึงตอนนั้นจริงๆ ก็ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทุกอย่างอยู่ที่ศาลจะวินิจฉัย แต่ตามหลักมันไม่มีผลย้อนหลังอยู่แล้ว คตส.ก็ไม่หนักใจในส่วนนี้ เพราะคตส.ตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย"

"เติ้ง" แจงเหตุไม่ร่วมลงชื่อแก้ รธน.

นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่าการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการยื่นโดยส่วนตัวไม่ได้ยื่นในนามพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทยจึงไม่ได้รับการประสานและไม่ได้ร่วมลงชื่อในญัตติดังกล่าว อย่างไรก็ตามไม่ขอแสดงความเห็นกับข่าวเกิดความขัดแย้งในพรรคพลังประชาน แต่เชื่อว่า จะไม่มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคพลังประชาชนเข้าไปในสภาอีก เพราะ ส.ส.ที่ลงชื่อส่วนใหญ่ก็เป็น ส.ส.พรรคพลังประชาชน ส่วนกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาจะเกิดความราบรื่นหรือไม่นั้นยังไม่สามารถระบุได้

"ตอนนี้ผมยังไม่เห็นร่าง ยังไม่เห็นเนื้อหาสาระคงไปแสดงความเห็นอะไรไม่ได้ ต้องขอดูในสภาก่อน ซึ่งมันอีกยาวไกลจะเป็นอย่างไรตอบไม่ได้ แต่ละขั้นตอนมันก็เป็นไปตามกระบวนการ จะมีอะไรยังไม่รู้ คนที่ไม่เห็นด้วยก็ค้านได้ แต่การค้าน ต้องอยู่ในระบบ"

สำหรับการคัดค้านของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีอะไรต้องหนักใจ ยังกินได้นอนหลับ

"ชูศักดิ์" แนะ พปช.ให้ไปคุยกับพรรคร่วม

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องประสานกับพรรคร่วมรัฐบาล เท่าที่ฟังจากข่าวเห็นมีส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลบ้าง แต่มันควรจะมีการประสานกันมากกว่านี้ ตัวแทนพรรคการเมืองทั้งหลายควรจะมาดูร่างและเมื่อเห็นพ้องต้องกันก็ลงชื่อร่วมกัน มันจะได้เป็นเอกภาพ

"เรื่องการทำงานแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ ทำงานโดยลำพัง ส.ส.พรรคพลังประชาชนฝ่ายเดียวก็ไม่สำเร็จหรอก ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจาก ส.ส.และ ส.ว.ฉะนั้นดีที่สุดผู้ที่เป็นแกนนำในการดำเนินการควรจะมีการพูดจากันระหว่างพรรคทั้งหลายให้ชัดเจนน่าจะดีกว่า"

ส่วนกลุ่ม ส.ส.อีสานใต้พรรคพลังประชาชนที่ร้อนรนรีบยื่นญัตติแก้ไข โดยไม่ประนานกับพรรคอื่นมีอะไรหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้บอกไปแล้วว่า การยื่นวันนี้ (21 พ.ค.) มันเป็นปัญหาอยู่ ควรไปคุยกันให้รู้เรื่องว่าควรจะทำอย่างไร แต่เข้าใจว่าพอดีมันปิดสภา ทุกคนก็กระจัดกรายแยกย้ายกันไป คงไม่ได้พูดคุยกัน

กกต.เผย กม.ประชามติออกไม่ทัน

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่า การทำประชามติเป็นหน้าที่ของกกต.อยู่แล้ว ถ้าถามว่าพร้อมหรือไม่ก็ไม่มีปัญหา เพราะมีประสบการณ์มาก่อน แต่ขณะนี้กกต.อยู่ระหว่างการให้เจ้าหน้าที่ยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยเจ้าหน้าที่ได้เสนอหลักการให้กกต. ให้ความเห็นชอบไปแล้ว และกำลังดำเนินการยกร่างในส่วนของเนื้อหา คาดว่า เดือนหน้าร่างแรกจะแล้วเสร็จและต้องมาขอความเห็นชอบจาก กกต. ซึ่งอาจจะมีการแก้ไขปรับปรุง เชื่อว่าการที่รัฐสภาจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญ กกต. คงไม่สามารถเสนอร่างดังกล่าวได้ทันในสมัยประชุม ดังนั้นการที่รัฐบาลคาดการณ์ว่าจะทำประชามติในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมจึงไม่มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้

นายประพันธ์ กล่าวว่าแม้ขณะนี้จะมี พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ 2550 อยู่ แต่ร่างดังกล่าวเป็นการยกร่างขึ้นเพื่อรับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และคงใช้ได้สำหรับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถนำมาใช้กับการทำประชามติให้แก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญได้

"ตอนที่ยกร่างกฎหมายนี้ใช้เวลาถึง 3 เดือน ดันนั้นร่างออกเสียงประชขามติที่อยู่ระหว่าง กกต.ยกร่างหากรัฐบาลต้องการเร่งออกเสียง ในการประชุม กกต.วันที่ 22 พ.ค.นี้จะหารือเพื่อเร่งรัดเจ้าหน้าที่ให้รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ เชื่อว่ากลางเดือน มิ.ย.นี้ ผ่านขั้นตอนของกกต.ไปได้ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว ถ้าจะให้เร็วกว่านั้น โดยให้กกต.ร่างพรบ.เสนอไปยังสภาอย่างไม่รอบคอบแล้วให้ไปแก้กันในสภา กกต.ก็คงทำไม่ได้"

นายประพันธ์ กล่าวว่า การทำประชามติทำได้ไม่มีปัญหา แต่อยากให้ระหว่าง ที่ยกร่างกฎหมาย รัฐบาลควรจะมีประเด็นที่เสนอต่อประชาชนให้ชัดเจน เช่น ระบบการเลือกตั้งจะใช้เขตเดียวเบอร์เดียว ส.ส.และ ส.ว.ควรให้มีที่มาอย่างไร เพื่อเวลาทำประชามติประชาชนจะได้ออกเสียงถูกว่าสมควรแก้หรือไม่ เพราะถ้าแก้ไปในระหว่างที่ไม่มีกฎหมาย โดยไปใช้ร่างระเบียบสำนักนายกฯ มันก็จะไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย และเมื่อถึงเวลานั้นหากเกิดปัญหา เช่น มีการตั้งโต๊ะซื้อเสียงหรือมีการทุจริตการทำประชามติเกิดขึ้นจะเอากฎหมายอะไรมาดำเนินการ ถ้าจะออกเป็นพระราชกำหนด ดูแล้วก็ไม่น่าเข้าว่าจะออกพรก.ได้

ปชป.ระบุ "สมัคร" เล่นปาหี่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าการทำประชาพิจารการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวคิดของนายสมัคร แค่ปาหี่ตีสองหน้าตบตาประชาชน เนื่องจากขณะนี้ ส.ส. พรรคพลังประชาชนได้เดินหน้ายื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาแล้ว หากนายสมัครต้องการทำประชามติเพื่อให้เกิดผล ต้องทำก่อนที่ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนจะไปยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงจะถือว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญในความคิดเห็นของประชาชน ไม่ใช่คิดทำประชามติ เพื่อใช้เป็นเกมทางการเมืองหวังลดกระแสต่อต้าน

ส่วนที่นายสมัคร ระบุว่าจะให้ นายชัย ชิดชอบ ชะลอการนำระเบียบวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรจุไว้ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญนั้น ตนยังไม่เห็นว่า นายสมัครจะไปสั่งนายชัยได้หรือไม่ เพราะหากจะห้ามก็ต้องห้ามตั้งแต่ก่อนที่จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว

"มีประเด็นในเรื่องของข้อบังคับว่า เมื่อยื่นเข้าไปแล้วข้อบังคับกำหนดไว้ว่าจะต้องบรรจุระเบียบวาระภายใน 15 วัน สมมติว่านายกฯมีความตั้งใจจริง ที่ไม่ต้องการให้นำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญก็ไม่ควรไปขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในช่วงวันที่9-30 มิ.ย. นี้ ควรจะเปิดเหมือนที่ปฏิบัติมาเพียงแค่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี แล้วก็ปิดประชุม การที่นายกฯบอกว่าจะต้องขอประชามติจากประชาชน แต่กับเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เนื่องจากเมื่อยื่นร่างรัฐธรรมนูญเข้าไปแล้ว ก็ต้องมีการบรรจุระเบียบวารระ"

ไม่เชื่อคำพูดนายกฯ กลับกรอก

นายจุรินทร์ กล่าวว่าสำหรับตัวร่างรัฐธรรมนูญ ที่ส.ส.พรรคพลังประชาชน ยื่นไปนั้นเป็นการพลิกแพลงกรรมาวิธีเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อตัวเอง เพราะเป้าหมายอยู่ที่มาตรา 237 และ 309 เพื่อช่วยเหลือคนบางคน ให้พ้นจากคดีของ คตส. ซึ่งยังมีอยู่บางมาตราที่ระบุว่าประกาศของ คปค.ที่ขัดกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้าไปใหม่ถือเป็นการบังคับใช้ไม่ได้ ตรงนี้ถือเป็นการมัดตราสังข์ คตส. , ป.ป.ช.และกกต.ชุดปัจจุบัน เพราะองค์กรเหล่านี้เกิดจากคำสั่งของ คปค. ถ้าใช้บังคับไม่ได้ก็แปลว่า ถึงที่สุดแล้วต้องยกเลิกทั้งหมด

"ยากให้ประชาชนติดตามและรู้เท่าทัน และทั้งหมดนี้ต้องดูไปอีกระยะหนึ่ง เพราะนายกฯยังพูดกลับไปกลับมา ก่อนหน้านี้บอกว่าจะไม่เสนอทำประชามติเพราะถาม กกต.แล้วต้องใช้เงินมากถึง 2 พันล้านบาท แต่วันนี้จะมาใช้การทำประชามติ วันมะรืนอาจเปลี่ยนไปเป็นอีกอย่างก็ได้"

ท้าถอนร่างแก้ รธน.เพื่อความจริงใจ

ด้าน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธาน วิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการแสดงถึงความจริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรที่จะปฏิบัติ 2ประการคือ 1.ส.ส.ที่ไปลงชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ต้องทำเรื่องถอนร่างออกมาก่อน และ 2.ตั้งคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วนของสังคมมาศึกษาถึงข้อดี ข้อเสียของการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จากนั้นจึงเผยแพร่ให้ความรู้ประชาชนก่อนลงประชามติ

"การทำประชามติถือเป็นหลักการที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องทำในช่วงนี้ เราสามารถเลือกเวลาได้และพรรคเห็นว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณถึง 2 พันล้านบาท ดังนั้นจึงต้องมาคิดว่ามีวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่"นายสาทิตย์ กล่าว

ด้าน นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช กล่าวว่าเชื่อว่าการเสนอทำประชามติเป็นวิธีการของนายสมัครที่จนมุมกับกระแสที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้นายสมัครมีท่าทีไม่ตอบรับเรื่องนี้มาตลอด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสุดท้ายแล้วการทำประชามติจะเป็นเพียงหนึ่งในพิธีกรรมที่ทางรัฐบาลคิดขึ้นมา เพื่อรองรับการยื่นร่างแก้ไขของพรรคพลังประชาชนให้ชอบธรรมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

"อภิสิทธิ์" นัดถกลูกพรรควันนี้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าฝ่ายค้านจะหารือกันในวันนี้ (22 พ.ค.) เพื่อดูรายละเอียดญัตติ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอมาเป็นอย่างไร ซึ่งตามข่าวการยื่นครั้งนี้เป็นเป็นการยื่น โดยส.ส.พรรคพลังประชาชนส่วนหนึ่ง ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเองก็ยังไม่ทราบ และมีส.ส.พรรคพลังประชนส่วนหนึ่งไม่ได้ลงชื่อ จึงต้องรอดูจุดยืนท่าทีต่อไป

"ถ้าเป็นการแก้เพื่อตัวเองยังยืนยันที่จะคัดค้านแต่ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ ต้องแก้เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และมีกระบวนการมีส่วนร่วม ของประชาชน โดยพจะดูรายละเอียดทั้งหมด ทั้งตัวร่างและท่าทีของฝ่ายต่างๆ และกำหนดท่าทีเตรียมการว่าท่าทีของพรรคจะเป็นเช่นไร ส่วนจะทำร่างแก้ไขประกบหรือไม่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ถ้ารัฐบาลยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับรัฐบาลก็ขอให้ส.ส.รัฐบาลมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจเรื่องนี้ มีสิทธิ์ไม่เห็นด้วย"

ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ เป็นเหมือนร่างของภาคประชาชนที่เคยยื่นมาก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงกัน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่เห็นตัวร่างว่าเหมือนกันทั้งหมดหรือไม่ ต้องถามผู้ยื่นว่าเขามีที่มาที่ไปอย่างไร และต้องถามเหตุผลพรรคพลังประชาชนว่าทำไมหยิบยกร่างนั้นขึ้นมา เพราะทราบว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีร่างที่เตรียมไว้อีกแบบหนึ่ง

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่จะทำให้มาตราที่เกี่ยวกับการยุบพรรคหายไปนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าเป็นเจตนาตรงนี้ เราก็ยืนยันมาตลอดว่าไม่เห็นด้วย อยากให้ ฝ่ายต่างๆ ตกผลึกทางความคิดว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร การแก้ไขถ้ามีจุดประสงค์นี้จะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งซึ่งไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กลับมาใช้ทั้งฉบับจะสร้างปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากนำร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มาทั้งฉบับหรือเกือบทั้งฉบับยกเว้น 2 หมวดแรก ก็ต้องตั้งคำถามว่า เดิมทุกฝ่ายยอมรับตรงกันว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ต้องมีการแก้ไขครั้งใหญ่ เพราะเป็นที่มาของปัญหาส่วนหนึ่งที่เป็นวิกฤติการเมือง แต่ทำไมวันนี้ถึงลืมสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนั้น และทำให้กระบวนการแก้ไขยุ่งและยืดไปเรื่อยๆ เพราะคงจะมีการแปรญัตติค่อนข้างมาก

"เสธ.หนั่น"แนะรัฐเชิญพันธมิตรฯ คุย

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตร กล่าวยอมรับว่าเป็นห่วง สถานการณ์อยาากให้บ้านเมืองเดินไปได้ เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน ไม่อยากให้มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น เพราะเรื่องมักจะเกิดจากรัฐบาลเองที่มีความก้าวร้าว หรือว่าจากการก่อจากฝ่ายตรงข้าม ถ้าทั้งสองฝ่ายหยุดกันสักนิด หันหน้ามาพูดจากัน เพราะพันธมิตรฯ ก็อยู่ในแวดวงการเมืองหลายคน และเป็นองค์อิสระที่เขารู้ว่าอะไรไม่เหมาะสม รัฐบาลก็เชิญมาคุยสักหน่อย

พล.ต.สนั่น กล่าวว่า การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิ์ของ ส.ส.แต่พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่ได้เซ็นต์อะไรด้วย ในส่วนของการแก้ไขพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องมาประชุมร่วมกันว่าอันไหนเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ต้องมาพูดจากัน อย่างไรก็ตาม ที่กลุ่มพันธมิตรฯจะออกมาเคลื่อนไหวก็ต้องมีเหตุผล ต้องดูว่าเขายื่นและแก้ในประเด็นใด แก้เพื่อส่วนรวมหรือแก้เพื่อส่วนตัวไม่ใช่ว่าแก้แล้วก็ออกมา ทั้งนี้ตนคิดว่าพันธมิตรฯมีเหตุผลพอ เพราะว่าผู้นำพันธมิตรก็รู้จักกันทุกคนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่เชื่อว่าจะมีเหตุผล
กำลังโหลดความคิดเห็น