xs
xsm
sm
md
lg

สภาสูงอัด “หมัก” ทำประชามติ แก้ปมขัดแย้งการเมืองไม่ถูกจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาสูงผ่านวาระ 1 ร่าง กม.ประชามติ ส.ว.รุบสับ “หมัก” เสนอทำประชามติ ในช่วงเกิดความขัดแย้งทางการเมือง แก้ปัญหาไม่ตรงเป้าหมาย ชี้ มีช่องโหว่มาก โดยเฉพาะสิทธิของผู้มาออกเสียง เหตุผลและการชี้ขาดในการลงมติประชามติ รวมถึงการให้ข้อมูลในเรื่องที่จะทำประชามติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา วันนี้ (5 ก.ย.) มีการประชุมวุฒิสภา มี นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเสร็จแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 302 วรรคสี่ และวรรคหก โดยวุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

ทั้งนี้ มี ส.ว.หลายคนอภิปรายท้วงติงกรณีที่ ครม.มีมติให้ทำประชามติกรณีความขัดแย้งในบ้านเมือง โดยระบุว่า ไม่มีเหตุให้ดำเนินการดังกล่าว และ กกต.จะสามารถทำได้ภายในกี่วัน และจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ วุฒิสภาต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ด้วยความรอบคอบ เนื่องจากสภาผ่านวาระ 3 โดยมีการแก้ไขปรับปรุงพอสมควร ทั้งเรื่องสิทธิการลงประชามติ เหตุที่ทำให้ต้องลงประชามติ การชี้ขาดผลการลงประชามติ ข้อห้าม และการให้ข้อมูลในการลงประชามติ รวมถึงเกรงว่า กกต.จะสามารถดำเนินการลงประชามติให้เป็นไปตามเป้าหมายได้หรือไม่ นอกจากนี้ กว่าวุฒิสภาจะพิจารณาเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด หาก ครม.ต้องการให้ทำประชามติ จะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และหากนายกฯ ยุบสภา หรือลาออก ร่างกฎหมายนี้จะมีสถานะอย่างไร

นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา อภิปรายว่าจำเป็นต้องพิจารณากฎหมายฉบับนี้อย่างรอบคอบ ไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันของฝ่ายใด โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะมีการทำประชามติในเรื่องที่กำลังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับตัวบุคคลอยู่ ซึ่งตนเห็นช่องโหว่หลายเรื่องในกฎหมายนี้ อาทิ เรื่องสิทธิของผู้มาออกเสียงลงประชามติเหตุผล และการชี้ขาดในการลงมติประชามติรวมถึงการให้ข้อมูลในเรื่องที่จะทำประชามติด้วย

ขณะที่ นายศิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช อภิปรายแสดงความเป็นห่วงประเด็นที่ต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนรอบด้านก่อนทำประชามติว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว ไม่ว่าการทำประชาพิจารณ์ในเรื่องต่างๆ รวมไปถึงการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ด้วย ล้วนมีข้อบกพร่องชัดเจน และรู้สึกเป็นห่วงที่มีความพยายามใช้วาทกรรมแยกเรื่องเพื่อให้สนองตอบต่ออำนาจของตัวเอง

ด้าน นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่า ฝ่ายบริหารมักดำเนินโครงการ หรือนโยบายที่มีผลกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชนและชุมชน กฎหมายฉบับนี้จึงมีขึ้นเพื่อถ่วงดุลระหว่างฝ่ายประชาชนกับฝ่ายการเมือง ฉะนั้น กฎหมายฉบับนี้ควรเปิดให้ประชาชนเสนอประเด็นขึ้นมาให้สาธารณะทำประชามติได้ด้วย เช่นเดียวกับที่ประชาชนสามารถเข้าชื่อยื่นถอดถอนนักการเมืองได้

หลังจากอภิปรายนาน 1 ชั่วโมงครึ่ง ในที่สุดประชุมมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 119 ต่อ 5 งดออกเสียง 1 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 29 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น