xs
xsm
sm
md
lg

กก.สมานฉันท์ชูสภาร่างรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป การเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธานวานนี้ (4 มิ.ย.) ได้พิจารณายุทธศาสตร์ที่ 3 หลักนิติธรรม (Rule of Low) และระเบียบกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ตามหลักแห่งการเป็นสังคม นิติรัฐ
ทั้งนี้ที่ประชุมอภิปรายหลากหลาย ที่สุดที่ประชุม สรุปยุทธศาสตร์ ที่ 3 โดยให้ศึกษา ปัญหาการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายทีไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย และหลักนิติรัฐ ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่เป็นไป ตามหลักนิติธรรมหรือสองมาตรฐาน รวมถึง การปฏิรูปการเมืองเพื่อให้เกิดความ เป็นธรรมในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร และที่ดินทำกิน รวมทั้งการเข้าถึงบริการ ต่างๆ ของรัฐ และเข้มงวดให้มีการบังคับใช้กฎหมายในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน และป้องกันไม่ให้มีการใช้หรือมีอภิสิทธิ์ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
จากนั้น เป็นการพิจารณาในยุทธศาสตร์ที่ 4 บทบาททางการเมือง ของภาคส่วน ต่างๆ ที่สอดคล้องและส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เช่น ภาคพลเมือง ภาคการเมือง (รัฐสภา/นิติบัญญัติ) ภาครัฐ (ราชการ/ศาล/ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ) และภาควิชาการ โดยที่ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้น เรื่องการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอร่างกฎหมายและร่างรัฐธรรมนูญ ที่ปัจจุบัน แม้มีกติกากำหนดไว้ แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง
โดยพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ส.สรรหา กล่าวว่า ไม่อยากเห็นการเลือกปฏิบัติ เพราะเรื่องการกำหนดจำนวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมากรณีที่มีประชาชนเข้าชื่อ 7 หมื่นคน (ฉบับคพปร.) ทำให้รัฐบาลล้มมาแล้ว 2 ชุด ทั้งนี้กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสภาล้วนมาจากส.ส.ไม่ใช่ประชาชน
นาย วิทยา บุรณศิริ ส.ส.อยุธยา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ควรมีการกำหนดระยะเวลาให้สภาพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนว่า ต้องมีการพิจารณาภายหลังการยื่นร่างให้สภาแล้วภายใน 60 วัน ทั้งนี้สภาต้องให้ความสำคัญกับการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กรรมการ กล่าวว่า ขอเสนอให้มีการถอดถอนนักการเมืองในภาคประชาชนได้ และให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยห้มีส่วนร่วม ในทุกระดับ และมีกฎหมายรองรับอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ที่ประชุมสรุปว่า ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอ ร่างกฎหมายและการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 จะบัญญัติให้ประชาชน 5 หมื่นคนสามารถเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่หากสมาชิกรัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบในวาระสาม ก็ควรกำหนดให้มีการลงประชามติเพื่อให้ประชาชน เป็นผู้ตัดสินในขั้นสุดท้ายสำหรับร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนร่างกฎหมายให้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาของรัฐสภา รวมถึง ให้มีกระบวนการถอดถอนนักการเมืองโดยภาคภาคประชาชน และการมีกฎหมายเข้ามารองรับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
จากนั้นได้พิจารณากรอบแนวทางการดำเนินงานปฏิรูปการเมือง ที่คณะอนุกรรมการฯเสนอโดยกำหนดให้ทำในระยะสั้น 1 ปี ระยะกลาง 3 ปี และระยะยาว 5 ปี โดย 1.ในระยะสั้นและระยะกลาง ควรศึกษาโครงสร้างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรม รวมทั้งประเด็นทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ และเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาการเมืองของประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา
2.ในระยะกลางและระยะยาว ให้มีองค์กรที่รับผิดชอบในการเผยแพร่ความรู้ ด้านประชาธิปไตย โดยผ่านระบบการศึกษาและระบบอื่นๆ เพื่อสร้างและปลูกฝังวิถีประชาธิปไตยให้แก่เยาวชนบุคคลและชุมชนต่างๆ อันจะเป็นพื้นฐานในการปฏิรูปการเมือง 3.ควรมีการตั้งสภาปฏิรูปการเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทาง การเมือง ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมาตราใด มีความขัดแย้งในสาระการปฏิรูปการเมือง ก็ให้มีส.ส.ร.ดำเนินการทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว ซึ่งในระยะกลาง และยาว ควรทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมมีการถกเถียงกว้างขวางในเรื่อง สภาปฏิรูปการเมือง และสภาร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กรรมการ กล่าวว่า อยากให้มีทางเลือกของบุคลากรมากขึ้น เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมือง ไม่ใช่จะนึกถึงเพียงนพ. ประพเวศ วะสี ราษฎร อาวุโส หรือนายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมากระบวนการ เรียนรู้ทางการเมืองที่จัดให้ภาคประชาชนมีน้อยมาก ส่วนสถาบันพระปกเกล้า หรือ วปอ. ก็มุ่งให้ความรู้ไปที่นักการเมืองและข้าราชการ ดังนั้นการให้ความรู้ความเข้าใจ ด้านการเมืองกับภาคประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า การตั้งส.ส.ร.3 ควรมี เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ หรือการตั้งกติกาอะไรออกมาถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลามาตลอด ตนไม่อยาก ให้คณะกรรมการฯทำงานแบบเสียเวลาเปล่า การทำงานทางการเมืองต้องกล้า นายกฯ มีความกล้าที่จะบอกว่ารัฐธรรมนูญ มาตราใดควรแก้ไขบ้าง ไม่ใช่ไปโยนภาระให้ส.ส.ร. 99 คน
นายตวง กล่าวว่า การให้ฝ่ายการเมืองไปดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเองจะเกิดความไม่ไว้วางใจของภาคประชาชน เปรียบเหมือนกับให้แมวไปทำลูกกระพรวนแขวนคอตัวเอง ก็จะได้ลูกกระพรวนที่ไม่มีเสียง ทั้งนี้การเสนอให้มีส.ส.ร.3 ไม่ใช่การซื้อเวลา แต่เป็นการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
นาย ประเสริฐ ชิดพงษ์ ส.ว.สงขลา ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า สิ่งที่อนุกรรมการเสนอต่อที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง เป็นการแก้ปัญหาการเมือง แก้ปัญหาให้นักการเมือง
นายสันติ พร้อมพัฒน์ กรรมการจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพราะการบริหารประเทศ และอำนาจนั้นถูกใช้โดยนักการเมือง หากกฎหมายต่างๆ มีข้อจำกัดจนกระทั่งไปสร้างสองมาตรฐานทำให้นักการเมืองไม่สามารถใช้อำนาจหรือมใช้อำนาจที่ผิดๆ จึงเป็นเรื่องถูกต้องที่ต้องมีการ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้นักการเมืองใช้อำนาจและกำหนดอย่างชอบธรรมและเป็นธรรม การบริหารบ้านเมืองที่ดี มีความสงบสุขจะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
นาย นิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้ง กกต.จะไม่ได้ทำงานเลย ความจริงควรเดินหน้าให้ความรู้ประชาชขนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เลือกนักการเมืองเข้ามาในสภา แต่นี่ไม่ทำ อะไร ดีแต่คิดเลือกตั้ง
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า นอกจากกกต.แล้วยังมีผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ต้องมีหน้าที่ดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่ดูเฉพาะงานในระบบรัฐสภา เพราะมีอำนาจหน้าที่ให้ศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล ในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อเกิดวิกฤตประเทศเราไม่เคยได้รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานเหล่านี้เลย
จากนั้น นายดิเรก ถึงฝั่ง กล่าวสรุปว่า ยุทธศาสตร์ที่ 4 ให้ยืนตามที่คณะอนุกรรมการฯเสนอ และขอให้คณะอนุกรรมการ เสนอวิธิปฏิบัติด้วยว่าต้องทำอย่างไร เพื่อเป็นคู่มือให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ ทั้งนี้ วันที่ 9-11 มิ.ย. คณะกรรมการฯจะพิจารณาผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น จากนั้นวันที่ 16 มิ.ย. เป็นการพิจารณาแผนปฏิบัติการของอนุกรรมการ สมานฉันท์ ส่วนวันที่ 17 มิ.ย. จะเป็นการพิจารณาแผนปฏิบัติการของอนุกรรมการ ปฏิรูปฯ จากนั้นวันที่ 17-19 มิ.ย.ฝ่ายเลขานุการสรุปรายงาน และวันที่ 20 มิ.ย. คณะกรรมการชุดใหญ่ จะเสนอรายงานทั้งหมดต่อประธานรัฐสภา พิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น