xs
xsm
sm
md
lg

เผยตัวเลขผู้ถูกกระทำรุนแรงที่ภูเก็ตปี 51 สูงกว่า 200 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต -เผยข้อมูลศูนย์พึ่งได้ รพ.วชิระภูเก็ต มีผู้ถูกกระทำรุนแรงในปี 2551 สูงถึง 200 กว่า ระบุยังมีตัวเลขที่ไม่เปิดเผยอีกมาก

วันนี้ (20 พ.ย. 2551 ) นายตรี อัครเดชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการอบรมให้ความรู้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการปฎิบัติตามเจตนารมย์ของกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ มีนางสาวพรรณี สิทธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่ตำรวจ ครู อาจารย์ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสื่อมวลชนเข้าร่วม ที่ห้องประชุมโรงแรมคาทีนา อ.เมือง จ.ภูเก็ต

นางสาวพรรณี สิทธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เป็นปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเด็กและสตรี เนื่องจากมีความแตกต่างจากความรุนแรงในเรื่องอื่นๆ ซึ่งพบว่ามีมากขึ้นในช่วงที่สังคมได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม และกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของค่านิยม และเจตคติของสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สังคมให้ความสำคัญและคาดหวังเพศชายในฐานะผู้นำ ผู้ตัดสินใจ ผู้สืบทอดเชื้อสายทางครอบครัว ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย และบุคคลภายนอกมักไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่เข้าไปช่วยเหลือ เพราะคิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว เด็กและสตรีจึงตกอยู่ในสภาพที่ขาดความช่วยเหลือจากชุมชนและสังคม

จากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ (ศูนย์OSCC) ของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ในปี 2551 พบว่ามีผู้ถูกกระทำรุนแรงจำนวนถึง 205 ราย ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่น่าตกใจ เพราะข้อมูลที่ปรากฎดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ถูกกระทำรุนแรงที่เปิดเผยต่อสาธารณะ แต่เนื่องจากเจตคติของสังคมไทยที่ยังเห็นว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องสาธารณะ ดังนั้นจึงยังคงมีผู้ถูกกระทำรุนแรงอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่เปิดเผยตน

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงและสตรี และในเดือนพฤศจิกายนก็เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่งในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ได้กำหนดจัดทำโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสังคม เช่น ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ จัดนิทรรศการและการลงนามยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี มอบริบบิ้นสีขาวสัญลักษณ์ ในการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เป็นต้น นางสาวพรรณีกล่าว

ด้านนายตรี กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกสังคมทุกประเทศทั่วโลก เป็นปัญหาสำคัญที่ทุกคนในสังคมที่เกี่ยวข้อง และต้องให้ความช่วยเหลือ เพราะปัญหาดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำรุนแรงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเด็ก เยาวชนและสตรีด้วย

ที่ผ่านมาสังคมโดยรวมยังขาดความเข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาที่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรง มักพบอยู่หลายรูปแบบ ตั้งแต่การทำร้ายร่างกาย การทำร้ายจิตใจ การใช้ความรุนแรงในสังคม การใช้ความรุนแรงด้านเศรษฐกิจ และที่มักพบมาก คือ การกระทำทารุณทางเพศ ซึ่งคนในสังคมมีทัศนคติ และความเชื่อที่เห็นว่าปัญหาความรุนแรง ในครอบครัวเป็นปัญหาส่วนตัว เป็นเรื่องภายในครอบครัวที่คนภายนอกไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว

ในส่วนของรัฐบาลตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาบังคับใช้ซึ่งมีผลมาตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 โดยเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต้องการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด และยับยั้งมิให้กระทำผิดซ้ำ

ในขณะเดียวกันก็มุ่งที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว โดยใช้มาตรการอื่นแทนการลงโทษทางอาญา เนื่องจากปัญหาการแก้ไขการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เกี่ยวพันกับบุคคลใน มีลักษณะพิเศษ แตกต่างจากการทำร้ายร่างกายระหว่างบุคคลโดยทั่วไป นอกจากนี้ยังมุ่งที่จะทำให้ประเด็นความรุนแรงในครอบครัว เป็นประเด็นสาธารณะที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการแจ้งเหตุเมื่อพบเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ด้วยนายตรีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น