xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ระบุการศึกษาเป็นรากฐานพัฒนาประเทศ สร้างความเท่าเทียม ลดความยากจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” เปิดงานประชุมวิจัยและพัฒนาการอุดมศึกษานานาชาติ ชี้การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการยกระดับรายได้ของบุคคล ช่วยลดปัญหาความยากจน สร้างความเท่าเทียมและคุณภาพชีวิต ระบุปัจจุบันเกิดโลกาภิวัตน์ทางการศึกษา ช่วยสร้างความเข้าใจทางวัฒนธรรม และเชื่อมโยงสังคมเข้าด้วยกัน

เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 9 กรกฎาคม ที่ห้องประชุม ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมวิจัยและพัฒนาการอุดมศึกษานานาชาติเรื่อง Looking Beyond Globalization” โดยปาฐกถาพิเศษว่า ในนามของประเทศไทยและประชาชนชาวไทย รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมวิจัยและพัฒนาการอุดมศึกษานานาชาติ เรื่อง “Looking Beyond Globalization” ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่มาจากหลากหลายสถาบันทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงความตระหนักในบทบาทและความสำคัญของการอุดมศึกษาต่อการพัฒนาขีดความสามารถของพลเมืองและพลโลก ให้สามารถยืนหยัดและนำสังคมได้อย่างรู้เท่าทัน และรู้วิธีที่จะดำรงอยู่ได้หลังการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของยุคโลกาภิวัตน์ เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคหลังโลกาภิวัตน์ได้อย่างกลมกลืน

“การศึกษาถือว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการยกระดับความสามารถของบุคคลและสถาบันต่างๆ ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าทันสมัย เพราะยอมรับกันว่าการศึกษาเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การยกระดับรายได้ของบุคคล การลดปัญหาความยากจน ตลอดจนการสร้างความเท่าเทียมและคุณภาพชีวิตโดยทั่วไป แม้ว่าจะยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบของการศึกษา เช่น การศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ให้โอกาสคนบางกลุ่มหรือชนชั้นมีโอกาสมากกว่าคนบางกลุ่มหรือชนชั้นอื่น อาจมีผลในการสร้างความเหลื่อมล้ำหรือแม้กระทั่งแตกแยกขึ้นในสังคม แต่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาล้วนแต่ให้ความสำคัญต่อการศึกษาโดยเฉพาะอุดมศึกษาอย่างมากทั้งสิ้น”นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย ทุกรัฐบาลต่างให้ความสำคัญต่อการศึกษาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะรัฐบาลของผม และตัวผมได้ให้ความสำคัญของการศึกษาอย่างมาก นอกจากการจัดให้การศึกษาฟรีอย่างมีคุณภาพ 15 ปีแล้ว ยังเปิดโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้กว้างออกไปอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งในแง่ของการขยายและเพิ่มจำนวนสถาบันอุดมศึกษาทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และการให้การอุดหนุน เช่น การมีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่เริ่มต้นด้วยพรรคของผมอันจะทำให้ความไม่เท่าเทียมด้านโอกาสในการศึกษาลดน้อยลงไปด้วย

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการศึกษาก็เช่นเดียวกับภาคส่วนหรือกิจการด้านอื่นๆ ของสังคมที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสโลกาภิวัตน์อย่างมาก ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เฉพาะที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น โลกาภิวัตน์ทางการศึกษาขึ้น แม้ว่าความจริงนั้นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ หรือการแสวงหาความรู้ ไม่เคยมีพรมแดนมาแต่ไหนแต่ไร แต่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งเชื่อมโยงกันใกล้ชิดยิ่งขึ้นทุกที จากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการขนส่งคมนาคม ประกอบกับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่ตามมาด้วยการขยายตัวของทุนและเครือข่ายการผลิตข้ามชาติ และการเคลื่อนย้ายคนและแรงงานข้ามพรมแดนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โลกาภิวัตน์ทางการศึกษา เช่น ที่ปรากฏในรูปแบบของการให้บริการ ด้านการศึกษาข้ามพรมแดน หรือการขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติ จึงอาจจะเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของยุคสมัยของเราเป็นสำคัญ

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ต่อการศึกษาก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านหนึ่งนั้น โลกาภิวัตน์ทางการศึกษามีผลสำคัญในการสร้างความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม เพราะช่วยเชื่อมโยงสังคมต่างๆ เข้าด้วยกันมากขึ้น รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งจากการขยายเครือข่ายความร่วมมือแลกเปลี่ยนออกไปอย่างกว้างขวาง และสามารถก้าวตามทันพัฒนาการใหม่ๆ ของโลกได้ แต่อีกด้านหนึ่งนั้น การศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาได้กลายมาเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไร้พรมแดนมากยิ่งขึ้นทุกทีเช่นกัน กิจกรรมอย่างเช่นการแข่งขันของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการให้บริการด้านการศึกษา ที่ทำให้จำเป็นต้องมีการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทั่วโลกเพื่อการแข่งขันกันในการให้บริการมีมากและรุนแรงขึ้น นอกจากนั้น จากการที่การศึกษาต้องอยู่ในภาวะพึ่งพาตะวันตกมากขึ้น ไม่ว่าจะในด้านภาษา ความรู้ เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งปรัชญาและแนวทางของการศึกษาจนกลายเป็นโลกาภิวัตน์กระแสเดียว ซึ่งหากปล่อยให้ดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ในที่สุดแล้วรากฐานทางวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะชาติเล็กที่กำลังพัฒนาก็จะอ่อนแอจนสูญสลายไปได้

“รัฐบาลไทยทุกยุคสมัยให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นลำดับแรก ในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ เพื่อให้อุดมศึกษาไทยเป็นไปอย่างเข้มแข็ง รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท สำหรับปี 2552 ถึงปี 2554 ในการลงทุน เพื่อกระตุ้นการศึกษาวิจัยรัฐบาลวางแผนยกระดับ 7-10 สถาบันอุดมศึกษาให้เป็นมหาวิทยาลัยเป็นเลิศระดับโลก การอุดมศึกษาได้ขยายอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ทศวรรษ ทั้งด้านจำนวนสถาบันการศึกษา การกระจายสู่ภูมิภาค โครงการสนับสนุนหลายโครงการ เช่น โครงการเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้สร้างโอกาสและลดความไม่เท่าเทียมของการศึกษา”

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า แนวทางเช่นนี้ย่อมจะมีอยู่ และอาจจะมีหลายแนวทางด้วยกัน ในระดับอุดมศึกษาตัวอย่างแนวทางที่น่าจะมีการคิดใคร่ครวญกันต่อไป คือ การสร้างความเป็นท้องถิ่นหรือความเป็นตัวของตัวเราเองมากขึ้น เพื่อให้การอุดมศึกษาไทยมีความสมดุล ไม่ต้องพึ่งพาหรือถูกครอบงำโดยกระแสโลกาภิวัตน์มากเกินไป เราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาแนวคิด กิจกรรมและวิธีการที่บนรากฐานของภูมิปัญญาของเราเอง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถจะเชื่อมโยง ประสาน หรือเผยแพร่ต่อไปในระดับนานาชาติได้ การดำเนินการเช่นนี้ย่อมมิได้หมายถึงการสร้างความหลงชาติ หากแต่เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้เราเสียความเป็นตัวของตัวเอง นอกจากนั้น แม้ว่าเราจะไม่ปฏิเสธกระแสโลกาภิวัตน์ที่อาจจะยังคงกระแสหลักต่อไป แต่เราก็จะต้องมีทางเลือก ไว้ด้วย เช่น การให้ความสำคัญต่อการร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างชาติเอเชียด้วยกันมากขึ้น มองหาหรือพิจารณาแนวทางของชาติใหม่ๆ นอกจากตะวันตกและญี่ปุ่น กล่าวโดยสรุปก็คือ พร้อมๆ กับการปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในกระแสหลัก เราจะต้องมองหาทางเลือกใหม่ต่างๆ ที่เราจะพอเห็นเค้าลางบ้างแล้วนี้ไปด้วย













กำลังโหลดความคิดเห็น