xs
xsm
sm
md
lg

“ไพฑูรย์” แนะ ศธ.ยกเครื่องปฏิรูปการศึกษารอบ 2 หลังที่ผ่านมาล้มเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไพฑูรย์” แนะ ศธ.ใช้ช่วงความขัดแย้งกรณีแยกประถม-มัธยม จุดพลุปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ยกเครื่องใหม่ให้ดีขึ้น เพราะ 10 ปีหลังปฏิรูป “ล้มเหลว”


สืบเนื่องมาจากที่กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาการ แยกการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตามข้อเรียกร้องของโรงเรียนมัธยม นั้น ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แสดงความเห็นว่า เห็นด้วยที่จะให้แยกการบริหารการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เนื่องจากลักษณะการจัดการศึกษาทั้ง 2 ระดับนั้นแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน จึงสมควรจะแยกความรับผิดชอบ แต่เร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปจัดตั้งเขตพื้นที่มัธยมศึกษา

“มุมมองของผมคิดว่าควรเอาโครงสร้างเดิมมาศึกษา ว่า มีตรงไหนบ้างที่ไม่เอื้อต่อการจัดการมัธยมศึกษา และไม่เอื้อเพราะอะไร สมควรจะปรับปรุงโครงสร้างอย่างไร แต่เร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปให้มีการจัดตั้งเขตพื้นที่มัธยมศึกษา กลับกลายเป็นไม่มองปัญหารอบด้าน"

ศ.ดร.ไพฑูรย์ บอกว่า ศธ.ควรฉวยโอกาสนี้ ทบทวนด้วยว่า โครงสร้างและระบบบริหารจัดการศึกษาที่เกิดตามการปฏิรูปการศึกษานั้น ตรงจุดไหนบกพร่องหรือมีส่วนใดจำเป็นต้องปรับเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาในอนาคตบ้าง จากนั้นให้ถือโอกาสแก้ไขไปพร้อมกันเลย

“ผมว่าคงหลีกเลี่ยงการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ไม่ได้แล้ว หลังใช้มา 10 ปี เห็นชัดว่า โครงสร้างที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ทำให้การจัดการศึกษาประสบผลสำเร็จมากขึ้น อย่างเช่น เรื่องคุณภาพการศึกษา ถึงแม้ว่าเราพยายามสร้างหน่วยงานอย่างสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ให้ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพการศึกษาการศึกษา รวมทั้งมีการประเมินคุณภาพโดยต้นสังกัดและการประเมินโดยสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติอยู่ด้วย คงมีจุดอ่อนอยู่ตรงไหนซักแห่ง ถึงทำให้การจัดการศึกษาของไทยยังไม่ได้คุณภาพ”

นอกจากเรื่องคุณภาพแล้ว โครงสร้างตามการปฏิรูปการศึกษา ยังไม่สามารถกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ถึงเด็กทุกคนได้เท่าเทียมขึ้น ขณะนี้ยังมีความแตกต่างอยู่มากระหว่างการจัดการศึกษาในเมืองและชนบท ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาโดยให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลและให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในรูปของคณะกรรมการสถานศึกษานั้น คงต้องถามถึงความพร้อมของบุคคลในท้องถิ่นที่จะเข้ามาร่วมจัดการศึกษากับสถานศึกษา พร้อมมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องวิชาการ อาจจะดึงท้องถิ่นมาให้ความเห็นว่า เขาต้องการให้ลูกหลานจบการศึกษาออกมาแล้วมีความรู้ ความสามารถใดบ้างได้ แต่จะให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนออกแบบจัดการศึกษานั้น ท้องถิ่นอาจจะยังไม่พร้อม

“ผมว่า ศธ.ควรทบทวนเรื่องปฏิรูปการเรียนรู้ด้วย เราต้องออกแบบการศึกษาเพื่อสร้างคนที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ แต่วันนี้คอนเซ็ปต์ในการผลิตคนของเรายังคลุมเครือ แค่คำว่า เก่ง ดี มีความสุข ไม่เพียงพอสำหรับโลกในยุคต่อจากโลกาภิวัตน์ ต้องมองข้ามไปถึงทิศทางการจัดการศึกษาของโลกด้วย เรื่องนี้น่าจะหัวข้อที่ต้องมาคิดกันในการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 2” ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น