xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.วุฒิฯ จี้ ศธ.สร้าง “จิตสาธารณะ” สู่ นร.-นศ.-เร่งขยายโอกาสสู่ชนบท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
กมธ.การศึกษา วุฒิสภา ติวเข้มผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ เน้นคุณภาพ โอกาสทางการศึกษา และครู ชี้ อยากให้ ศธ.พัฒนาผู้เรียนให้มีจิตสาธารณะผ่านกิจกรรมนักเรียน นักศึกษา และให้กระจายโอกาสทางการศึกษาไปยังชนบทให้มากขึ้น

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ว่า ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา 3 เรื่อง ได้แก่ 1.คุณภาพการศึกษา 2.โอกาสทางการศึกษา และ 3.ครู โดยในเรื่องของคุณภาพทางการศึกษานั้น ไม่จำเป็นจะต้องเน้นด้านวิชาการเพียงอย่างเดียวแต่ให้ดูที่มาตรฐานของนักเรียนเป็นหลัก เมื่อเด็กเรียนจบประเทศก็จะได้คนเก่ง คนดี มีสุข และสนุกกับการเรียน

นอกจากนี้ ที่ประชุมอยากให้ ศธ.ได้มีการพัฒนาผู้เรียนให้มีจิตสำนึกส่วนรวม จิตสาธารณะ ผ่านกิจกรรมนักเรียนนักศึกษา เช่น การเข้าค่ายลูกเสือ หรือการทำกิจกรรมทางศาสนา เป็นต้น ส่วนโอกาสทางการศึกษานั้น ศธ.จะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้คนยากจนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้มากที่สุด ซึ่ง ศธ.จะต้องเน้นการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้มีความเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ ทั้งนี้ จะต้องสร้างจิตวิญญาณความเป็นครูให้มากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อได้ครูดีเด็กก็จะมีความเข้มแข็ง ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า การที่ ศธ.จะปฏิรูปการศึกษานั้นควรเน้นรูปแบบที่มีการประเมินให้เข้มข้น โดยน่าจะประเมินนักเรียนและครูแบบรายบุคคล เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลมาวิเคราะห์ปรับปรุงคุณภาพได้ดี และให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพทางการศึกษา (สมศ.) สรุปผล และวิเคราะห์เป็นรายภาคเรียนด้วย เนื่องจากแต่ละภาคเรียนมีบริบทแตกต่างกัน พร้อมเสนอให้มีการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อจะทำให้ได้รับทราบปัญหาและข้อเสนอแนะที่ดีในการบริหารจัดการที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษา ดร.ชินภัทร กล่าวอีกว่า ที่ประชุมอยากให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนผู้มีความสามารถพิเศษในด้านงบประมาณให้มากขึ้นกว่าเดิม

ขณะเดียวกัน อยากให้มีการจดสิทธิบัตรผลงานของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะเพิ่มมากขึ้นด้วย สำหรับปัญหาการตั้งสำนักงานเขตประถมศึกษาและมัธยมศึกษานั้น ที่ประชุม กมธ.ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว เพราะในบางจังหวัดมีโรงเรียนมัธยมศึกษาไม่กี่โรง ซึ่งจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ส่วนปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนั้น พบว่า มีปัญหาเนื่องจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มีภารกิจหลักต้องดูแลโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งทำให้งานที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนเอกชนไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ จึงอยากให้มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในระดับจังหวัดหรืออำเภอ เพื่อดูแลโรงเรียนเหล่านั้นได้อย่างทั่วถึง
กำลังโหลดความคิดเห็น