xs
xsm
sm
md
lg

แยกประถม-มัธยม ยังไร้ทิศ-เตรียมถกอีกรอบ 16 สิงหานี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สมหวัง” เผยแยกประถม-มัธยม ไร้ข้อสรุป ส.บ.ม.ท.ยังไม่ได้ส่งแผนระยะ สั่งส่งแผน 14 สิงหา สั้น แถมในที่ประชุมเสียงแตกตั้งเขตพื้นที่ กลุ่มหนึ่งบอกไม่ขัดกฎหมาย อีกกลุ่มบอกขัด เร่งหาทางออกส่งนักกฎหมายหาข้อสรุป นัดถกอีกรอบ 16 สิงหาคมนี้

ศ. ดร. สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางการแยกการบริหารจัดการการมัธยมศึกษาและประถมศึกษา กล่าวว่า คณะทำงานพยายามจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาว่ายังมีทางแก้แทนที่จะต้องลื้อกฎหมายใหม่ และหากเห็นพ้องต้องกันก็จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นสำนักงานปลัด สำนักงานเลขาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สภาการศึกษา (สกศ.)และสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกันปรับแต่งเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้น นอกจากนี้ขอให้ไปทบทวนประวัติศาสตร์ของประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เพื่อหาข้อสรุปเป็นภาพรวมว่าหากแยกออกมาแล้วจะเกิดผลดีอย่างไร อย่างไรก็ดี คาดว่า เรื่องนี้จะได้ข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาปลายเดือนสิงหาคมนี้

ศ.ดร.สมหวัง กล่าวว่า ฝ่ายส.บ.ม.ท.เขามีธงอย่างชัดเจนว่าจะต้องตั้งเขตพื้นที่การศึกษา สพท.เพิ่มขึ้นอีก เพราะคิดว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาประถม มัธยม ที่เกิดความลักลั่นได้อย่างเด็ดขาด และในการประชุมนัดแรกคณะทำงานจึงได้มอบหมายให้แต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางแก้ไขและนำมาเสนอในที่ประชุม ทั้งนี้ตนมองว่าสิ่งที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาระยะสั้นได้จริงๆ คือ เรื่องนิติบุคคล การจัดการทางการเงิน เพราะสองอย่างถือเป็นเรื่องเดียวกัน และจำเป็นต้องให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปดูแลไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ล้มเหลวได้

สำหรับแนวคิดเรื่องความเป็นอิสระของโรงเรียน เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหา ซึ่งจะทำให้โรงเรียนมัธยมสามารถบริหารจัดการเองได้เลย ทั้งเรื่องงบประมาณและบุคลากร ตนมองว่าการแก้ปัญหามันมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว น่าจะมีหลายแนวทางที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องปรับแก้กฎหมายหรือรื้อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใหม่

“วันนี้ระบบการจัดการศึกษาไม่ได้แยกชัดเจนประถม มัธยม ทว่าเป็นการขยาย บางแห่งขยาย ทาง ส.บ.ม.ท.ยังไม่ได้เสนอแผนระยะมาให้ จึงให้กลับไปทำแผนระยะสั้นมาให้ภายในวันพฤหัสบดี 14 สิงหาคม เพราะจะมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งในวันที่ 16 สิงหาคม นี้ ส่วนกรณีตั้งเขตพื้นที่ เสียงในที่ประชุมแตกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งบอกไม่ขัด อีกกลุ่มบอกขัด อย่างไรก็ตาม เพื่อความถูกต้องคงต้องให้ฝ่ายกฎหมายมาดูเรื่องนี้ หากได้ข้อสรุปจึงเสนอไปยัง สกศ.ต่อไป”

นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในการประชุมเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เสนอให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลเหมือนกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ แต่การที่โรงเรียนจะจัดตั้งเป็นนิติบุคคลนั้นโรงเรียนต้องมีความพร้อม เชื่อว่ามีไม่กี่แห่งที่พร้อมจดเป็นนิติบุคคล อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้เป็นการรวบรวมปัญหาต่างๆ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างชัดเจน

ด้านศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความเห็นว่า การขอแยกตัวของฝ่ายประถม และมัธยม ไม่ใช่เพราะการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านไป 9 ปีเกิดปัญหา อยากให้มองในทางบวกว่าเมื่อปฏิรูปการศึกษาแล้วเขาเจอปัญหา ต้องพยายามหาทางแก้ไข ซึ่งตนมองว่า ยังมีหลายแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหาได้ โดยที่โรงเรียนมัธยมยังคงอยู่ในโครงสร้างเหมือนเดิมได้ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะปัจจุบันนี้โรงเรียนไม่ได้แยกเป็นประถม มัธยม แต่หลายโรงเรียนขยายจากระดับประถมมาสอนถึงมัธยม มีโรงเรียนบางแห่งใช้คำว่าอนุบาลแต่เขาเปิดสอนถึงมัธยมต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น