xs
xsm
sm
md
lg

สมศ.อึ้ง ร.ร.ผ่านประเมินเกณฑ์ดี ความสุขเด็กลดฮวบเหตุมุ่งวิชาการเกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ตไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
สมศ.อึ้ง ผลประเมินโรงเรียนรอบ 2 พบโรงเรียนที่จัดอยู่ในเกณฑ์คุณภาพดี เด็กมีความสุขและสนุกลดฮวบ จากร้อยละ 80 เหลือ ร้อยละ 60 คาดโรงเรียนม่งด้านวิชาการจนลืมความสุขของนักเรียน จี้ ให้สถานศึกษาพัฒนาควบคู่สร้างเด็กดี-เก่ง-มีสุข

นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า จากการประเมินคุณภาพโรงเรียนชอง สมศ.ในรอบ 2 ที่ผ่านมา ตนรู้สึกกังวลมาก เนื่องจากในการประเมินคุณภาพสถานศึกษาครั้งแรกในช่วงปี 2543-2548 ปรากฏว่า โรงเรียนที่จัดว่ามีคุณภาพการจัดการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ดีนั้น นักเรียนในโรงเรียนมีความสุข และสนุกกับการเรียนถึงร้อยละ 80 แต่จากการประเมินคุณภาพสถานศึกษาในรอบที่ 2 ในช่วงปี 2549-2551 ในโรงเรียนเหล่านี้ พบว่า ความสุขและสนุกกับการเรียนของนักเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัดเหลือเพียงประมาณร้อยละ 60 ในขณะที่การพัฒนาในตัวชี้วัดที่ 4-6 คือ นักเรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร มีความคิดวิเคราะห์ และมีความใฝ่รู้ ซึ่งเป็นการประเมินในด้านคุณภาพวิชาการในการจัดการศึกษาของโรงเรียนและผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10

ทั้งนี้ ผลการประเมินเป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะโรงเรียนมุ่งเน้น และทุ่มเทกับการพัฒนาคุณภาพด้านวิชาการจนอาจจะละเลยความสุข และความสนุกของนักเรียนไป ในขณะที่การพัฒนาคุณภาพของนักเรียนจะต้องพัฒนาควบคู่กันไปทั้งทางด้านวิชาการและความสุขในการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อพัฒนาให้นักเรียนมีนิสัยรักการเรียนรู้

“ผมคิดว่าโรงเรียนอาจจะคิดว่าเมื่อมีการประเมินโรงเรียนของ สมศ.ก็จะต้องไปมุ่งเน้นในด้านคุณภาพวิชาการ จนอาจจะทำให้เด็กเครียด โดยละเลยด้านความสุข ความสนุกในการเรียนรู้ของนักเรียน อีกทั้งจากโพลของสถาบันการศึกษาที่สำรวจความสุขของคนในสังคม ก็พบว่าสภาพปัญหาในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนในสังคมรู้สึกกังวลจนมีผลให้ความสุขลดลง ซึ่งก็อาจจะส่งผลกระทบไปยังเด็กนักเรียน หรือโรงเรียนด้วยก็ได้”

นายสมหวัง กล่าวอีกว่า ในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษานั้น จะมุ่งเน้นในด้านใดด้านหนึ่งคงไม่ได้ ดังนั้น อยากให้โรงเรียนหันมาคำนึงถึงดัชนีด้านความสุขของผู้เรียนด้วย ไม่ใช่ละเลยด้านอื่นแล้วไปมุ่งเฉพาะการผลิตคนเก่งอย่างเดียว เพราะนักเรียนจะพัฒนาขึ้นไปอย่างมีคุณภาพจะต้องเป็นคนที่ทั้งเก่งและดีไปพร้อมๆ กัน


กำลังโหลดความคิดเห็น