เครือข่ายผู้ป่วยฯ เตรียมฟ้องศาลปกครอง 18 ส.ค. นี้ กรณีคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ชี้ “แอ็บบอต” ไม่มีความผิดฐานผูกขาดการค้า จำกัดการเข้าถึงยา ด้าน สธ.ลั่นดาล บริษัทยาหมดสิทธิ์ล็อบบี้ ชี้อยากเสนอเงื่อนไขให้ทำเป็นหนังสือทางการดีกว่า ป้องกันครหาถูกล็อบบี้ ขณะที่ พรีม่า ดอดเข้าพบ “ชวรัตน์” ส่วนคณะอนุฯ คัดเลือกยาจำเป็นเตรียมประชุมเดือนหน้า ถกยาจำเป็นที่ต้องเข้าถึง เน้นยาราคาแพงในบัญชียาหลัก ยามะเร็ง ยาปฏิชีวะ
นายบริพัตร ดอนมอญ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 18 สิงหาคม เวลา 13.00 น.เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะยื่นฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ต่อศาลปกครอง กรณีมีมติว่า บริษัท แอ็บบอตลาบอแรตอรีส จำกัด ถอนการขึ้นทะเบียนยาจำนวน 7 ราย รวมถึงยาต้านไวรัส อลูเวีย กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาที่ สธ.ได้ประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) เมื่อช่วงต้นปี 2550 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการการแข่งขันการค้าลงความเห็นการกระทำของแอ็บบอต ไม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ทั้งๆ ที่ถือเป็นการกีดกั้นการเข้าถึงยาของประชาชน ทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์
ขณะที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เลขานุการคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาการเข้าถึงระบบยาที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน กล่าวว่า การที่บริษัท ซาโนฟี่ อเวนตีส ล็อบบี้ให้ยกเลิกการทำซีแอลของเป็นเรื่องธรรมดา เข้าใจได้ว่าธุรกิจเสียผลประโยชน์ เสียโอกาส ก็ต้องพยายามต่อรองเสนอเงื่อนไขต่างๆ แต่หากจะมีเจรจาต่อรองที่ สธ.หรือจะติดต่อมาที่ตนโดยตรง คงบอกได้ทันทีว่าไม่จำเป็นต้องมาเจรจาแบบส่วนตัวหรือมาเข้าพบแบบส่วนบุคคล เพราะที่ สธ.จะไม่ให้เข้าพบ หากจะเสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมขอให้ส่งเป็นหนังสือทางการ อย่างชัดเจนจะดีกว่า
“สธ.ต้องการอะไรที่ตรงไปตรงมาไม่ต้องการให้เป็นที่ครหาของสังคมว่ายอมให้บริษัทยามาล็อบบี้ได้ ซึ่งขณะนี้การทำซีแอลก็ยังคงนโยบายเดิมไม่มีการยกเลิกหรือชะลอแต่อย่างใด ส่วนความคืบหน้าของการหารือคณะกรรมการร่วมฯ คาดว่าจะมีการประชุมครั้งแรกในต้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่ง สธ.อยากจะให้มีการประชุมโดยเร็วเพื่อหาข้อสรุปของการเข้าถึงยาของผู้ป่วยทั้งระบบ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อประเทศไทยมากกว่าที่จะมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องซีแอลเพียงอย่างเดียว” นพ.ไพจิตร์ กล่าว
นพ.ไพจิตร์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการที่ทางตัวแทนสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) เดินทางมาเข้าพบ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ก็เพื่อถามถึงนโยบายของกระทรวงต่อมาตรการซีแอล และการเข้าถึงยา พร้อมทั้งให้คำแนะนำและให้ความร่วมมือในการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้มีอะไรปิดปัง ซึ่งรัฐมนตรียังคงยืนยันนโยบายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
วานนี้ (15 ส.ค.) มีการประชุมวิชาการ “การเพิ่มความเข้าใจและตระหนักถึงมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร” โดยผศ.ภญ.ดร.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีปัญหาในการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่ต้องเดินหน้ามาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ในอนาคต เนื่องจากยายังคงมีราคาแพงเกินไปทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยา ซึ่งหากราคายาลดลง 2 ใน 3 ของราคายาในปัจจุบัน ก็ไม่จำเป็นต้องทำซีแอล และข้อเท็จจริงขณะนี้งบ 1 ใน 3 ของบริษัทยาใช้เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทำให้ยามีราคาแพง นอกจากนี้ ยาที่มีสิทธิบัตรยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สวัสดิการราชการ และประกันสังคมด้วย
“นอกจากการทำซีแอลแล้วไทยควรจะหาลู่ทางอื่นในการแก้ปัญหาด้วย โดยร่วมกับนานาประเทศในการทำซีแอลแล้วต่อยอดวิจัย และคิดค้นยาขึ้นใช้เอง ได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องช่วยกันคิด เพราะคงไม่มีอะไรที่ง่ายแต่ต้องอาศัยความเข้าใจ คนไข้เองก็รู้ ที่สำคัญฝ่ายการเมืองก็ควรมีเจตจำนงค์ที่ชัดเจนในการป้องกันดูแลสุขภาพของคนมากกว่าเรื่องการค้า” ผศ.ภญ.ดร.สำลี กล่าว
ผศ.ภญ.ดร.สำลี กล่าวต่อว่า คณะอนุกรรมกกรมการคัดเลือกยาฯ จะนัดประชุมกันในเดือนกันยายนนี้ โดยจะนำสถานการณ์ปัญหาการเข้าถึงยาจำเป็นที่มีความเร่งด่วน โดยข้อมูลจะมาจากสถานพยาบาลในสังกัดของ สธ.โดยเฉพาะยามะเร็งบางชนิด ยาปฏิชีวนะ ซึ่งตกค้างมาจากการประชุมครั้งที่ผ่านร่วมหารือด้วย นอกจากนี้ รวมถึงยาในกลุ่มยากำพร้าและยาที่มีราคาแพงที่ติดสิทธิบัตรเพื่อปรึกษากันว่าจะดำเนินการอย่างไรให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น ทั้งนี้ ยาในบัญชียาหลักที่มีราคาแพงจะมีการนำพิจารณาก่อนเป็นพิเศษ ส่วนยากลุ่มจิตเวช ที่ทางเครือข่ายผู้ป่วยร้องเรียนว่ายังไม่สามารถเข้าถึงได้นั้น หากมีผู้เสนอเข้าที่ประชุมจึงจะมีการพิจารณารายละเอียดและดำเนินการกลไกในการแก้ปัญหา