xs
xsm
sm
md
lg

กลัวกินเกาเหลานายเก่าเอาใจบุช! “ชวรัตน์” กลับลำงดซีแอลใหม่ช่วงนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชวรัตน์ ชาญวีรกูล
“ชวรัตน์” กลัวเกาเหลาหัวหน้าเก่า กลับลำไม่ทำซีแอลยาใหม่ช่วงนี้ เน้นเจรจาลดราคา มาตรการภาษี จัดซื้อรวมระดับภูมิภาค แต่หากไม่สำเร็จพร้อมงัดซีแอลมาใช้เป็นไม้ตายสุดท้าย ด้าน “แพทยชนบท” ชี้ “ไชยา” ประกาศไม่ทำซีแอล เอาใจบุช ที่จะเดินทางมาไทย ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไล่ รมว.พณ.กลับไปศึกษา พ.ร.บ.สิทธิบัตรเสียใหม่ เตรียมเข้าพบ รมว.สธ.ให้ผลักดันกฎหมายการเข้าถึงยา รวมถึงการปรับปรุงพ.ร.บ.สิทธิบัตร

จากกรณีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.สธ.ได้ประกาศเดินหน้าการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ(ซีแอล) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายการสาธารณสุขเชิงรุก 6 ด้าน ในที่ประชุมของคณะผู้บริหารสธ.ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายการทำงานของนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ ที่ประกาศจะไม่มีการสนับสนุนการทำซีแอลอีกต่อไป นั้น

วันที่ 7 ส.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.สธ.กล่าวว่า การทำซีแอลถือเป็นนโยบายเดิมของ สธ.ที่มีอยู่แล้ว ดังนั้น การทำซีแอลยา 7 รายการ ที่ดำเนินการไปแล้วก็ให้คงอยู่ต่อไป ส่วนในอนาคตจะมีการทำซีแอลยาชนิดใหม่เพิ่มเติมหรือไม่ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย และความพอใจเรื่องราคายา ซึ่งตนจะแก้ปัญหาหารเข้าถึงยาของผู้ป่วยโดยเน้นการพยายามเจรจาต่อรองราคายากับบริษัทผู้ผลิตยาต้นตำรับให้ได้ราคาที่ถูกลง โดยจะสนับสนุนการจัดซื้อยารวมระดับภูมิภาค โดยจะเจรจากับประเทศต่างๆ ที่มีความต้องการยาชนิดเดียวกัน ให้จัดซื้อรวมกัน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือทำให้ราคายาถูกลง

นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะใช้มาตรการทางภาษีควบคู่ไปด้วย โดยจะเสนอให้รัฐบาลลดราคาภาษีศุลกากร ภาษีนำเข้ายาลดลง ซึ่งเรื้องนี้รัฐบาลให้การสนับสนุนและมีการลดอัตราภาษีมาโดยตลอดอยู่แล้ว รวมถึงจะประสานกระทรวงพาณิชย์ ใช้ช่วยเรื่องมาตรการควบคุมราคายาอีกทางหนึ่ง

“หากไม่สามารถเจรจาให้บริษัทยาลดราคาลงได้สำเร็จ ก็คงต้องใช้ซีแอล แต่จะใช้เป็นไม้ตายสุดท้ายเท่านั้น ซึ่งคิดว่าในระยะยสั้นนี้คงจะไม่มีโอกาสทำซีแอลอย่างแน่นอน เพราะจากการรับฟังข้อมูลจาก นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม รายงานว่า ขณะนี้ยังมียาใช้เพียงพออยู่” นายชวรัตน์ กล่าว

นายชวรัตน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนยังไม่ได้หารือกับ นายไชยา แต่อนาคตคงจะมีการประสานงานกัน ขอความร่วมมือให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยควบคุมราคายา ส่วนกรณีที่ นายไชยา ประกาศไม่ทำซีแอลต่อ ถือว่า ทำถูกต้องแล้ว อยู่กระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลผลประโยชน์ทางการค้า แต่ตนอยู่ สธ.ก็ต้องผู้แลผลประโยชน์ของผู้ป่วย เป็นการทำคลละหน้าที่กัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่กลัวว่าการประกาศใช้ซีแอลเป็นไม้ตายสุดท้าย จะทำให้ถูกคัดค้านจากเครือข่ายผู้ป่วยเหมือนที่ นายไชยา โดนหรือไม่ นายชวรัตน์ กล่าวว่า ไม่กลัว และไม่ต้องห่วงเรื่องจะถูกล่ารายชื่อถอดถอนด้วย เพราะผมไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน

ขณะที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การประกาศของ นายไชยา ในฐานะ รมว.พณ.ว่า ไม่สนับสนุนการทำซีแอลเพิ่มอีก เหมือนกับว่าเอาอาวุธให้กับฝ่ายตรงกันข้าม ยกอิสระด้านเสรีภาพให้คนต่างชาติ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่การประกาศครั้งนี้เพื่อต้องการเอาใจนาย จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มาเยือนไทยพอดี เพราะบริษัทยาส่วนใหญ่ที่ทำซีแอลเป็นของสหรัฐฯ ข้อเท็จจริงแล้วคือ แม้แต่สหรัฐฯก็ทำซีแอลยามากกว่าไทยด้วยซ้ำ การทำเช่นนึ้จึงเหมือนกับคนไทยบอนไซกันเอง

“การพูดเช่นนี้ของนายไชยาเห็นได้ชัดว่ามีเป้าหมายในการบอนไซเรื่องซีแอลมาตั้งแต่ต้น โดยวันแรกก่อนที่จะเข้าทำงานที่สธ.ก็ประกาศว่าจะไม่เอาซีแอล ซึ่งเป็นจุดสะท้อนว่านายไชยาอยู่ข้างบริษัทยา ไม่ได้อยู่ข้างประชาชน ทั้งที่ควรแยกแยะว่ามียาใดบ้างที่จำเป็นต้องทำซีแอลอีก ไม่ใช่เหมารวมว่าไม่ต้องทำซีแอลอีกต่อไปแล้ว ในส่วนของยาที่เห็นว่ามีความจำเป็นยังมีอีกเช่นยาทางด้านจิตเวชที่ต้องทานยาติดต่อการเป็นเวลานาน และราคายาสูงด้วย”ประธานชมรมแพทยชนบทกล่าว

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่ นายไชยา ออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการทำซีแอลตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ว่า จะไม่ดำเนินการอีกต่อไปนั้น ต้องขอเรียนว่า ให้นายไชยากลับไปศึกษา พ.ร.บ.สิทธิบัตรเสียใหม่ เนื่องจากการทำซีแอลไม่ได้เป็นของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้นในการดำเนินการ เพราะเป็นหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ พณ.เท่านั้น ยังรวมถึงกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ ที่เห็นว่ามีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนก็สามารถดำเนินการได้

“ในวันที่ 20 ส.ค.นี้ เครือข่ายองค์กรด้านผู้บริโภค นักวิชาการ ฯลฯ จะหารือกันเพื่อที่จะนำข้อมูลที่ได้ เข้าหารือกับ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.สธ.ในเร็วๆ นี้ โดยประเด็นหลักที่จะหารือกันคือ เรื่องการเข้าถึงยา โดยต้องการให้ สธ.ผลักดันกฎหมายการเข้าถึงยา รวมถึงการปรับปรุง พ.ร.บ.สิทธิบัตรร่วมกับ พณ.โดยที่ไม่ขัดต่อปัญหาการเข้าถึงยาของผู้ป่วยคนไทย รวมถึงจะหารือในเรื่องของ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และเรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” น.ส.สารี กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น