xs
xsm
sm
md
lg

“ชวรัตน์” พลิกลิ้นไม่ล้มซีแอล แค่งดเดินหน้ายาตัวใหม่ชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปู่ชวรัตน์” ปฏิเสธไม่ได้กลับลำเลิกซีแอลแต่ไม่เดินหน้าในยาตัวใหม่เพิ่ม ชี้ไม่ได้ขัดแย้ง “ไชยา” และไม่อยากให้กระทบงานของพณ. ชี้เร็วเกินไปที่จะบอกว่าทำหรือไม่ทำ ขณะที่บอร์ด สปสช.เตรียมเลือกประธานคณะกรรมการคัดเลือกยาจำเป็นฯ คนใหม่ ก่อนเดินหน้าเสนอยาใหม่ให้รมว.สธ.ตัดสินใจ

จากกรณีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ได้ประกาศเดินหน้าการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) ในวันแรกที่เดินทางเข้ารับตำแหน่งและประกาศเป็น 1 ใน 6 นโยบายสาธารณสุขเชิงรุก ซึ่งขัดกับนโยบายการทำงานของนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ และอดีตรมว.สธ.ที่ประกาศจะไม่มีการสนับสนุนการทำซีแอลต่อไป ต่อมานายชวรัตน์ก็ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าจะไม่ทำซีแอลในระยะสั้นนี้ แต่จะใช้เป็นไม้ตายสุดท้าย โดยจะเน้นการเจรจาและการจัดซื้อยารวมแทนนั้น

วันที่ 8 ส.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ตนไม่ได้กลับลำว่าจะไม่ใช้ซีแอลเพื่อแก้ปัญหาราคายาแพง โดยยาที่ได้ประกาศซีแอลไปก่อนหน้านี้ก็ให้ดำเนินการต่อไป ทั้งการนำเข้ายาทั้งเอดส์ หัวใจ และมะเร็ง ซึ่งได้สอบถามไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แล้ว ซึ่งได้รับรายงานว่าไม่มีปัญหาติดขัดใดๆ แต่ก็ไม่ได้เดินหน้าซีแอลยาตัวใหม่ๆ ในขณะนี้เช่นกัน เนื่องจากคณะกรรมการศึกษาวิจัยเพื่อคัดเลือกยาจำเป็นที่ต้องประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ ที่มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นคณะทำงาน ยังไม่มีการเสนอรายชื่อยาที่มีความจำเป็นต่อการเข้าถึงของประชาชน ซึ่งหากมีการเสนอเข้ามา ก็จะต้องพิจารณาว่าควรจะดำเนินการอย่างไร

“ยาซีแอล 7 รายการที่ดำเนินการไปแล้วก็คงสภาพของเดิมอยู่ ไม่ได้ไปแตะ ส่วนยาใหม่ๆ ที่จะทำซีแอลเพิ่มนั้นคงจะเช้าเกินไปที่จะตัดสินว่าจะทำตัวไหน หรือจะทำหรือไม่ ซึ่งผมไม่อยากให้ไปกระทบกับกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) มากนัก เพราะนี่ขนาดไม่กระทบอะไรเลย ยังมีข่าวว่าจะ สธ.สู้กับ พณ.แล้ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความขัดแย้งกันเลย เพราะนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ ก็เคยเป็น รมว.สาธารณสุขมาก่อน เชื่อว่าสามารถที่จะพูดคุยหารือกันได้”นายชวรัตน์กล่าว

ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และในฐานะคณะกรรมการบอร์ดสปสช. กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช.ในวันที่ 11 ส.ค.นี้ จะมีการคัดเลือกประธานคณะกรรมการศึกษาวิจัยเพื่อคัดเลือกยาจำเป็นที่ต้องประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐคนใหม่ แทน นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ ที่เสียชีวิต ซึ่งหลังจากที่ได้ประธานคณะกรรมการฯ แล้ว การพิจารณาคัดเลือกยาที่มีความจำเป็นต่อการเข้าถึงนั้น น่าจะมีการเสนอพิจารณาโดยไม่ชักช้า แต่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน เนื่องจากการพิจารณายาที่มีความจำเป็นจะต้องดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ มีข้อมูลเหตุผลในการทำซีแอล เช่น ยามีราคาแพงหรือไม่ ผู้ป่วยมีความต้องมากน้อยเพียงใดและมียาสามัญที่จะใช้ทดแทนหรือไม่ เป็นต้น จากนั้นจึงเสนอบอร์ดสปสช.พิจารณา แล้วจึงเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ

“ส่วนของ อภ.มีหน้าที่ในการจัดหายาที่มีคุณภาพในยาที่มีการซีแอลไปแล้วทั้ง 6 ตัว ซึ่งก็ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างต่อเนื่องทั้งยาต้านไวรัสเอชไอวี 2 ตัว ซึ่งมีการนำเข้ายาเพิ่มหากมีสต็อกยาเหลือน้อย ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ส่วนยาตัวใหม่ๆ เป็นหน้าที่ของสปสช.ที่จะต้องเป็นผู้พิจารณาเสนอหาก สธ.ไม่ทำซีแอลยาเพิ่ม อภ.ก็คงไม่ต้องทำอะไร” นพ.วิชัยกล่าว

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ความเห็นส่วนตัว จริงๆ แล้วมียาที่มีความจำเป็นในการทำซีแอล คือ ยาในกลุ่มจิตเวช เนื่องจากโรคจิตเวชเป็นโรคเรื้อรัง คนไข้ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง แต่ยามีราคาแพงเกินความเป็นจริงมาก ส่วนมีความจำเป็นต้องทำซีแอลในยากลุ่มนี้หรือไม่ สปสช.คงจะต้องเป็นผู้ที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป แต่มองว่าการเจรจราต่อรองราคายากับบริษัทยา มักจะไม่ได้ผล เพราะมักมีลักษณะผูกขาดต่อรองไม่ได้ แต่เมื่อทำซีแอลราคาจึงลดลง ดังนั้น สธ.จึงไม่ควรปิดโอกาสตัวเองโดยประกาศไม่ทำซีแอลยา ทั้งๆ ที่มีสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้

“ไม่น่าแปลกใจที่ท่าทีของ นายไชยา จะมีท่าทีในการไม่สนับสนุนการทำซีแอล เพราะหน้าที่ของ รมว.พาณิชย์ จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการค้าเป็นหลัก ไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตของคนไข้ แต่เมื่อสาธารณสุขมีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของประชาชนก็คงจะต้องหาช่องทางวิธีการที่ช่วยให้คนไข้เข้าถึงยา เพียงแต่ต้องเข้าใจด้วยว่า การทำซีแอลนั้น ไม่มีผลกระทบต่อการค้าหรือจีเอสพี แต่ถูกกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยในการทำซีแอลโยนบาปให้”นพ.วิชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น