xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เดินหน้าสร้างหลักประกันสุขภาพ - เร่งแก้ปัญหาผู้ป่วยล้นโรงหมอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่ (สกลนคร)จัดประชุมเจ้าหน้าที่และพบปะสื่อมวลชนในจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อชี้แจงภารกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพที่กำลังดำเนินการอยู่
กาฬสินธุ์ - สปสช.เขตพื้นที่สกลนคร จับมือ สสจ.กาฬสินธุ์ เดินหน้าสร้างหลักประกันสุขภาพ ดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วม พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาความแออัดและผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล โดยการสร้างความเชื่อมั่นในการบริการของศูนย์แพทย์บริการชุมนุมและสถานีอนามัย

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (21 ก.ค.) ที่ห้องประชุมปัญญานุสติสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นายบุญเรือง ถาวรสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่ (สกลนคร) หรือ สปสช.เขตพื้นที่สกลนคร เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่ สปสช.เขตพื้นที่สกลนคร และพบปะสื่อมวลชนในจังหวัดกาฬสินธุ์

ทั้งนี้ เพื่อชี้แจงภารกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร และ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี นายแพทย์ ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่ (สกลนคร) เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน เข้าร่วมกว่า 100 คน

นายแพทย์ ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่ (สกลนคร) กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ มีบทบาทหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือ เป็น สปสช.สาขาจังหวัดกาฬสินธุ์ มีหน้าที่รับผิดชอบงานสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งที่ผ่านมามีผลงานโดนเด่น

โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นได้จากความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมที่นำไปสู่การเป็นภาคีเครือข่ายและเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การจัดตั้งกองทุนสุขภาพระดับพื้นที่ (กองทุนตำบล) การจัดบริการแพทย์ฉุกเฉิน การให้ทุนนักเรียนไปศึกษาด้านสาธารณสุข การพัฒนาหน่วยปฐมภูมิ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การจัดรถ EMS ไว้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือประสบอุบัติเหตุครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งช่วยเหลือประชาชนได้เป็นอย่างดี

นายแพทย์ ปรีดา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันสถานบริการด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะโรงพยาบาลประจำจังหวัดมักประสบปัญหาประชาชน หรือผู้ป่วยนิยมเข้าใช้บริการจำนวนมากจนทำให้เกิดความแออัด เบียดเสียด ได้รับการรักษาไม่ทั่วถึง

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต่อไปทาง สปสช.จะร่วมกับ สสจ.แต่ละจังหวัดเร่งดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการเข้ารับบริการรักษาโรคตามศูนย์แพทย์ชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชน และสถานีอนามัย ตลอดจนโรงพยาบาลประจำอำเภอ ว่า โรคบางโรคสามารถเข้ารับการรักษาในสถานที่ดังกล่าวให้หายได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งหากประชาชนมีเข้าใจจะสามารถลดปัญหาดังกล่าวได้

นายแพทย์ ปรีดา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันศูนย์แพทย์ชุมชนที่เปิดให้บริการในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด ขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 60 แห่ง ส่วนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์มีอยู่ 6 แห่งศูนย์สุขภาพชุมชนมีอยู่ 90 แห่ง และสถานีอนามัยอีก 130 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการรับรองคอยดูแลและช่วยเหลือประชาชนอย่างครบถ้วน

กำลังโหลดความคิดเห็น