“เฉลิม” เตรียมทำซีแอลยาตัวใหม่ ขอแรง “หมอวิชัย” ลุยงานต่อ ด้าน สปสช.พร้อมเสนอยาจำเป็นที่จ่อคิวเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ติดปัญหายาแพง คาดทำซีแอลรอบนี้ไม่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจ เพราะสหรัฐฯ ได้ “โอบามา” เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่
วันนี้ (18 พ.ย.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า มีแนวคิดจะใช้มาตรการการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) เพิ่มเติมในยาบางประเภทที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยในเร็วๆ นี้ จะหารือกับ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.เพื่อพิจารณาว่า มียาตัวใดที่ยังคงมีปัญหาการเข้าถึงของประชาชนบ้าง เพื่อประกาศซีแอลยาตัวใหม่ต่อไป นอกจากนี้ จะหารือกับ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อให้มาดูแลการทำซีแอล เพราะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว
“ก่อนหน้านี้ ได้ประกาศนโยบายว่าจะสานต่อเรื่องซีแอล จะคงไว้ไม่ยกเลิก ก็ไม่เห็นมีบริษัทยามาประท้วงหรือขอเข้าพบ แต่หากประกาศซีแอลยาตัวใหม่ แล้วมีบริษัทมาประท้วงก็ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา เพราะพร้อมชี้แจงถึงความจำเป็นของประเทศไทยได้”ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวอีกว่า การทำซีแอลยาถือเป็นเรื่องดี เพราะประเทศไทยสามารถซื้อยาในราคาถูก ดังนั้น หลักการทำซีแอล คือ เลือกยาที่เกิดผลกระทบน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติมากที่สุด
ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หาก ร.ต.อ.เฉลิม มีนโยบายจะทำซีแอลยาเพิ่มเติมจริง สปสช.ก็พร้อมที่จะนำข้อมูลไปเสนออยู่แล้ว เนื่องจากคณะกรรมการที่พิจารณายาที่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเบื้องต้นจะพิจารณายาที่มีความจำเป็นแต่ไม่สามารถบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักได้ เนื่องจากมีราคาแพง ซึ่งมียาอยู่หลายประเภท
“หากรัฐมนตรีสั่งมาก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะดำเนินการ เพราะมีข้อมูลเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว ซึ่งการเข้าถึงยาอาจไม่ต้องใช้วิธีการทำซีแอลแต่ใช้การต่อรองราคาได้ แต่หากถูกปฏิเสธก็จะนำมาพิจารณาเพื่อเสนอให้ทำซีแอล โดยมีตัวที่น่าสนใจ 2-3 ตัว แต่ยังไม่สรุปว่าจะนำเสนอตัวใดบ้าง”นพ.วินัย กล่าว
นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า ส่วนที่เกรงว่าการทำซีแอลจะกระทบกับเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศนั้น ขณะนี้ บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา เข้ามาบริหารประเทศแทนทำให้นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป ผนวกกับประสบการณ์การทำซีแอลของไทยที่ผ่านมา เชื่อว่า หากมีการทำซีแอลในยาชนิดอื่นเพิ่มขึ้น จะไม่เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจ