“วิทยา” ชี้ ข้าราชการใช้ยาเปลือง ปี 51 ยอดพุ่งสูงกว่า 5 หมื่นล้าน ระบุ ต้องใช้ยาสมเหตุสมผล ไม่ฟุ่มเฟือย อย.ขอความร่วมมือแพทย์จ่ายยาให้ผู้ป่วยเรื้อรัง 1-2 เดือนต่อครั้ง ลดใช้ยาไม่จำเป็น พร้อมกระตุ้นหมอจ่ายยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ
วันที่ 17 มีนาคม ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2551 เพื่อสร้างความตระหนักถึงการเลือกใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยทั้ง 3 ระบบ คือ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับยาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันไม่ริดรอนสิทธิ และควบคุมค่าใช้จ่ายที่สูงเกินปกติของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยมีผู้บริหาร ผู้อำนวยการ แพทย์ เภสัชกรจากโรงพยาบาลรัฐทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมประมาณ 300 คน
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในปี 2548 คนไทยมีการใช้จ่ายยาด้านยา 186,331 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.8 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10-20 ที่น่าเป็นห่วง คือ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก คือ ค่ายาของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเพิ่มร้อยละ 15-20% โดยล่าสุดปี 2551 มีมูลค่าเกือบ 55,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึง 8,423 ล้านบาท ซึ่งการสร้างระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล จะต้องส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีการจ่ายยาให้ผู้ป่วยตามบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นขั้นตอนตามบัญชีย่อย จะช่วยให้การใช้ยาสู่ภาวะสมดุล ไม่ฟุ่มเฟือย
“สำหรับประชาชนที่มีตู้ยาในบ้าน หากพบว่ายาหมดอายุควรนำไปทิ้ง ไม่ควรเก็บไว้รับประทาน เพราะยาเสื่อมสภาพแล้ว หากรับประทานจะทำให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ในการรักษา ส่วนยาที่ได้รับจากแพทย์สั่งนั้นเป็นยาที่ใช้รักษาเฉพาะโรค เมื่อหายจากโรคนั้นแล้วก็ไม่ควรเก็บไว้กินครั้งต่อไป อาจจะทำให้เกิดการดื้อยา” นายวิทยา กล่าว
ด้าน ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้ขอความร่วมมือให้แพทย์ลดระยะเวลาในการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังลง จากเดิมที่เคยจ่ายครั้งละ 3 เดือนให้เหลือเพียง 1-2 เดือนโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เพราะหากมีการจ่ายยาในระยะเวลาที่สั้น จะทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเฉพาะที่จำเป็น เมื่อยาหมดก็มาตรวจและรับยาใหม่ เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ไม่ต้องกินยามากเกินความจำเป็นหรือแอบนำไปทิ้งไว้ที่บ้านโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ ส่วนที่มีการอ้างว่าจำเป็นต้องจ่ายยาในระยะเวลายาว เนื่องจากผู้ป่วยไม่สะดวกที่จะเดินทางมารับยาบ่อยครั้งนั้น เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลที่จะต้องหาวิธีการอื่นในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน