มติบอร์ด สปสช.เห็นชอบให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียได้รับยาขับเหล็กจีพีโอแอลวันของ อภ.พร้อมผลักดันเข้าบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ หวังผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ด้านเลขาธิการ สปสช.เผย ในอดีตยาขับเหล็กราคาแพง ผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมียเข้าถึงยาน้อยมากต้องเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวเพราะมีภาวะเหล็กเกิน
เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในที่ประชุมมีมติสนับสนุนงบประมาณเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาขับเหล็กในผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นายชวรัตน์ กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติสนับสนุนงบประมาณเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยา deferiprone ซึ่งเป็นยาขับเหล็กซึ่งปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตได้โดยใช้ชื่อการค้าว่า “จีพีโอแอลวัน” (GPO-L-ONE™) ให้กับผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะยาดังกล่าวเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่เดิมสิทธิจึงไม่ครอบคลุม ซึ่งการประชุมในวันนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติสนับสนุน งบประมาณเพื่อจัดหายาให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียเฉพาะปีนี้จำนวนไม่เกิน 5,000 ราย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีอายุขัยยืนยาวขึ้น
นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ยังมีมติให้ สปสช.ดำเนินเรื่องขอเสนอให้บรรจุยา deferiprone เข้าในบัญชียาแห่งชาติ บัญชี จ (๑) ด้วย เนื่องจากภายหลังที่องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตได้ในราคาเม็ดละ 3.50 บาท จากเดิมที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงถึงเม็ดละ 70 บาท ทำให้ในอดีตผู้ป่วยเข้าถึงยายาก แต่เมื่อยามีราคาถูกลง ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น และได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยในสิทธิบัตรทองด้วย
“การทำให้ประชาชนโดย เฉพาะผู้ถือบัตรทองได้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและยาที่มีราคาแพงโดยเฉพาะการรักษาพยาบาลเฉพาะทาง เช่น การมีศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์มะเร็ง และศูนย์รักษาโรคหลอดเลือดสมอง การเข้าถึงบริการของคนพิการ และบริการโรคเฉพาะ รวมทั้งการทำให้ผู้ถือบัตรทองที่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งเป็นหน้าที่ของ สปสช.” รมว.สธ.กล่าว
ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.กล่าวว่า โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุด คือ ภาวะเหล็กเกิน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาขับเหล็ก ที่ผ่านมา ยาดังกล่าวมีราคาแพงมาก ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยายากและไม่ได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ผู้ป่วยมีเหล็กเกินจนต้องเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว กระทั่งองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตได้ในปีนี้ ทำให้ยามีราคาถูกลง โดยเฉลี่ยผู้ป่วยธาลัสซีเมีย 1 คนต้องใช้ยาวันละ 6 เม็ด คิดเป็นค่ายาวันละ 21 บาท หรือ 7,665 บาทต่อคนต่อปี ดังนั้นมติคณะกรรมการในวันนี้จึงเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างมาก