xs
xsm
sm
md
lg

“ชวรัตน์” ปลดล็อกตั้งกรรมการยา ชง ครม.แก้ไม่ต้องเปลี่ยนตาม รมว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ชวรัตน์” ปลดล็อกคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ชงครม.แก้ไม่ต้องขึ้นกับ รมว.สธ.เหตุปีนี้เปลี่ยนรัฐมนตรี สธ.ถึง 3 คน ทำให้ต้องตั้งใหม่ทุกครั้ง พร้อมปฏิเสธไม่มีบริษัทยาวิ่งเต้นเข้านั่งอนุกรรมการแห่งชาติด้านยา


วานนี้ (4 ก.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปฏิบัติหน้าที่แทน นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา โดยกล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ที่ตามกฎหมายได้กำหนดให้คณะอนุกรรมการ มีวาระตาม รมว.สาธารณสุข ทำให้คณะอนุกรรมการไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากในปีนี้มีการเปลี่ยนตัว รมว.สาธารณสุข มาแล้วถึง 3 คน ซึ่งรัฐมนตรีทุกคนต้องออกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการใหม่ทุกครั้ง
 
ปัญหาที่เกิดขึ้น นายชวรัตน์ จึงได้ลงนามในหนังสือคำสั่ง เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเสนอให้คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา รวมถึงคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องเปลี่ยนตามรมว.สาธารณสุข โดยให้เปลี่ยนตามรัฐบาลแทน เพื่อให้การทำงานเดินหน้าต่อได้ไม่สะดุด ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในการประชุมสัปดาห์หน้า รวมทั้งนายชวรัตน์ ได้ลงนามในหนังสือคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา เรียบร้อยแล้ว โดยรายชื่อคณะกรรมการเป็นชุดเดิมตั้งแต่สมัยนพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สาธารณสุข แต่งตั้ง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวคณะกรรมการแต่อย่างใด

ขณะที่แหล่งข่าวจากการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา กล่าวถึงกระแสข่าวว่า จะมีการเสนอให้ตัวแทนของบริษัทยาเข้ามาร่วมอยู่ในคณะอนุกรรมการแห่งชาติด้านยาว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง โดยในการประชุมวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้งให้คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่มี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานและคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลที่มี ศ.พญ.สยมพร ศิรินาวิน เป็นประธาน ปฏิบัติหน้าที่โดยมีองค์ประกอบเช่นเดิมต่อไป แต่เนื่องจากคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุดเป็นผู้ชี้ว่ายาใดควรเป็นยาสำคัญของประเทศ เมื่อยาอยู่ในบัญชียาหลักแล้ว จะทำให้ปริมาณการใช้ยาดังกล่าวเพิ่มขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ ดังนั้นเชื่อว่าบริษัทยาก็อาจจะมาล็อบบี้กับกรรมการทั้งหลายได้

ทั้งนี้ ในการสรรหาคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุด คณะกรรมการจะต้องแจ้งผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการพิจารณาเรื่องยา เช่น งบประมาณสนับสนุนการวิจัยยาจากบริษัทยา ซึ่งเมื่อคณะกรรมการแห่งชาติด้านยาจะพิจารณายาของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกรรมการคนใดคนหนึ่ง กรรมการคนดังกล่าวก็จะไม่มีสิทธิในการพิจารณาเรื่องนั้น ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สากล แม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ใช้ดำเนินการ เพราะหากจะหาคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ใดๆ แม้แต่น้อยเลย อาจไม่มีคนมาทำงานได้

“นอกจากนี้ ในส่วนของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยาแต่งตั้งจากมติคณะรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะต้องแต่งตั้งใหม่ ทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง ในสมัยของ นพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สาธารณสุข ได้ริเริ่มให้ดำเนินการจัดทำเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้คณะกรรมการแห่งชาติด้านยาเป็นคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามรัฐบาล แต่จะมีวาระการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงคณะอนุกรรมการทั้งหลายก็เช่นกัน แต่ขณะนี้ทราบมาว่า นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.สธ.ได้ลงนามเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่เรื่องก็ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.”แหล่งข่าว กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น