สธ.แทงกั๊ก คกก.แห่งชาติด้านยา ตั้งใหม่หรือใช้ชุดเดิม หลังหมดวาระตั้งแต่ 31 มี.ค.นักวิชาการเกรงเกิดสุญญากาศทำให้บัญชียาหลักแห่งชาติไม่พัฒนา ด้านไชยา-ปลัดสธ.ยันยังไม่เห็นหนังสือเดินหน้าเอากก.ชุดใหม่หรือเก่า ด้านรองปลัดสธ.ยันไม่กระทบแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แถมมีบัญชียาหลักฉบับเดิมอยู่ ด้าน อย.เสนอยืนใช้กรรมการชุดเก่าไม่ปรับเปลี่ยน
นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำหนังสือด่วนที่สุดเลขที่ นร 0506/ว39 ลงวันที่ 13 ก.พ.2551 เรียน รมว.สาธารณสุข (สธ.) เรื่อง คณะกรรมการต่างๆ ที่ ครม.แต่งตั้ง ซึ่งสาระสำคัญมีว่า ด้วยสำนักเลขาธิการ ครม.เสนอขอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติให้คณะกรรมการต่างๆที่ครม.แต่งตั้งไว้ 241 คณะ โดยไม่รวมถึงคณะกรรมการที่ ครม.แต่งตั้งไว้ตามระเบียบต่างๆ หรือกฎหมายหนึ่งกฎหมายใด และคณะกรรมการที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ให้คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2551
จึงให้กระทรวง ทบวง กรม พิจารณาถึงความสำคัญและความจำเป็นในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน รวมทั้งการเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการที่ผ่านมา แล้วแจ้งยืนยันไปยังสำนักงานเลขาธิการ ครม.ภายในวันที่ 31 มี.ค.2551 ว่า จะให้คณะกรรมการชุดใดคงอยู่ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าคณะกรรมการที่กระทรวง ทบวง กรม ไม่ได้ยืนยันให้คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเป็นอันสิ้นสุดลง ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดใดที่กระทรวง ทบวง กรม เสนอให้คงอยู่ หากสามารถกำหนดระยะเวลาการดำเนินการและภารกิจสิ้นสุดให้ชัดเจนได้ให้ระบุวันสิ้นสุดของคณะกรรมการไว้ด้วย ซึ่งครม.ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการครม.เสนอ จึงเรียนมายืนยันและขอให้ตรวจสอบองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการให้สอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบด้วย
ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าว สธ.ได้ลงเลขรับแล้วเมื่อวันที่ 18 ก.พ.เลขรับ 10068 และนายไชยา ได้ลงนามให้ปลัด สธ.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา และ พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัด สธ.ลงนามในฐานะปฏิบัติราชการแทนปลัด สธ.รับทราบและมอบให้สำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัด สธ.ดำเนินการต่อไป ซึ่งหนึ่งในคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดย ครม.ของ สธ.ที่หมดวาระเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา และมีความสำคัญ คือ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ซึ่งประกอบด้วย รมว.สธ.เป็นประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่งอีก 33 คน อาทิ ปลัด สธ. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นายกแพทยสภา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ฯลฯ
หน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว คือ กำหนดนโยบายแห่งชาติด้านยาและดำเนินการปรับปรุงเป็นระยะให้ทันสมัยสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง กำกับดูแลสนับสนุนและให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ระบบยาของประเทศ โดยเฉพาะระบบประกันสุขภาพมีความเหมาะสมและเสมอภาค รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้ยาของประเทศให้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล หรือมีการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ เพื่อดำเนินการในขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบตามที่เห็นสมควร ซึ่งในปีที่ผ่านมีการตั้งคณะกอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ
ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อาจารย์ประจำหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะกรรมการแห่งชาติด้านยามีความสำคัญในฐานะที่สนับสนุนให้การใช้ยาภายในประเทศเป็นไปอย่างประหยัดสมเหตุสมผล เพราะคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีอำนาจในการตั้งคณะอนุกรรมการซึ่งหนึ่งในคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นจะรวมถึงคณะอนุกรรมการพัฒนายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นบัญชียาที่มีความสำคัญและจำเป็นของประเทศไทย ที่จำเป็นต้องได้รับการทบทวนตำรับยาให้ทันสมัยทุกปี หากไม่มีคณะกรรมการชุดนี้จะทำให้การดำเนินงานด้านบัญชียาหลักแห่งชาติสะดุด
“ในเมื่อทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งเรื่องมาให้สธ.ยืนยันคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดย ครม.ซึ่งคณะกรรมการแห่งชาติด้านยาก็เป็นหนึ่งในนั้น การที่สธ.ไม่ยืนยันภายในวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้คณะกรรมการดังกล่าวหมดวาระและจำเป็นต้องเสนอต่อครม.ใหม่ ทำให้กระบวนการในการทำงานเป็นสุญญากาศ แม้ว่าจะใช้คณะกรรมการชุดเดิมให้ทำงานต่อไปก็ตาม ช่วงสุญญากาศนี้ก็จะทำให้การทำงานขาดช่วงไป” ภญ.จิราพร กล่าว
นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือยืนยันให้คณะกรรมการแห่งชาติด้านยายังคงอยู่ ที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนรายชื่อ องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่คณะกรรมการดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งในหลักการคงจะดำเนินการไปตามนั้น อาจจะมีบางตำแหน่งที่เปลี่ยนรัฐบาลและมีการเปลี่ยนแปลง แต่ส่วนใหญ่คงไม่เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก เมื่อปลัด สธ.เสนอมาก็จะรีบดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีทันที
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดสธ. กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องยังไม่เสนอมาถึง แต่ได้มอบหมายให้ พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัด สธ.และ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัด สธ.เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจำไม่ได้ว่ามีองค์ประกอบเป็นใครบ้าง แต่โดยหลักการก็จะพิจารณาทบทวนเท่านั้นในกรณีที่หลายบุคคลเปลี่ยนรัฐบาลแล้วบางคนอาจเปลี่ยนตำแหน่ง แต่เมื่อได้รับหนังสือแล้วจะเร่งดำเนินการเพื่อเสนอให้นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ.เสนอ ครม.โดยเร็วที่สุด
พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัดสธ. กล่าวว่า ขณะนี้คงต้องตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านยาใหม่ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เพราะอาจต้องเพิ่มสัดส่วนของคณะกรรมการที่มาจากหน่วยงานใหม่ที่เกิดขึ้นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามคิดว่าการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวช้าเพียงเล็กน้อยคงไม่ส่งผลกระทบอะไร เนื่องจากแต่ละปีมีการประชุมเพียงครั้งเดียว อีกทั้งหากมีการเสนอใหม่คงไม่ทำให้ล่าช้าจนเกิดความเสียหายมากเท่าใด เพราะบัญชียาหลักแห่งชาติฉบับเดิมก็ยังคงมีใช้อยู่
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สธ.กล่าวว่า คณะกรรมการการหลายชุดที่มีการแต่งตั้งในรัฐบาลที่ผ่านมา อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับคณะกรรมการใหม่หรือใช้ชุดเดิมในการเปลี่ยนรัฐบาลแต่ละครั้งก็ได้ แต่คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา อย.ได้เสนอยืนยันใช้คณะกรรมการชุดเดิมและสำนักนโยบายฯได้เสนอไปยังปลัด สธ.แล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการยืนยันคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดย ครม.ว่า ต้องการให้ชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อ แม้จะไม่มีการนำเรื่องเสนอคณะกรรมการฯชุดใหม่เข้า ครม.คณะกรรมการชุดดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยอาศัยอำนาจมติ ครม.ชุดเดิมจนกว่ามีมติ ครม.แต่งตั้งชุดใหม่ออกมา
“เท่าที่ทราบหนังสือได้ถึง รมว.สธ.และปลัด สธ.เพื่อลงนามรับทราบแล้ว โดยที่ไม่มีข้อทักท้วงแต่อย่างใด แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการแห่งชาติด้านยาใหม่ รมว.สธ.มีอำนาจในการปรับคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดย ครม.รวมถึงคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา โดยการเสนอ ครม.เห็นชอบ”นพ.ศุภกิจ กล่าว