xs
xsm
sm
md
lg

ยูเอสทีอาร์คุยทำซีแอล สธ.ปัดไม่ถูกกดดัน‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มิสเตอร์ซีแอล ปัดยูเอสทีอาร์บุก สธ.ไม่ได้กดดันไทย เพียงถามหาจุดยืนการทำซีแอล จี้ตั้ง กก.ร่วมหลายฝ่าย หากทำซีแอลตัวต่อไป มั่นใจ “บาร์บารา” เข้าใจ พร้อมรับข้อเสนอตั้งกรรมการร่วม ชี้แม้ทำให้ขั้นตอนซีแอลยืด แต่มั่นใจลดความขัดแย้งได้ ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่เชื่อยูเอสทีอาร์ เข้าพบ สธ.ไม่หวังผล ฉะอย่าทำตัวน่าเกลียดแทรกแซงกิจการภายในประเทศ เตรียมรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจิตเวช ดันทำซีแอลยาตัวใหม่


วันนี้ (18 มี.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) น.ส.บาร์บารา ไวเซล ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) เข้าพบ นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ.ในฐานะมิสเตอร์ซีแอล โดยใช้เวลาในการหารือประมาณ 30 นาที จากนั้น นพ.ไพจิตร์ ได้รายงานผลการหารือต่อนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ห้องทำงานของนายไชยาทันที

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ในการหารือได้ข้อสรุปว่า ในการแก้ปัญหาการเข้าถึงยา ร่วมถึงการดำเนินการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) ในยาตัวใหม่นั้น จะต้องหารือร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และ สธ.รวมทั้งภาคเอกชน คือ บริษัทยา และภาคประชาชน ซึ่งเป็นแนวทางที่ น.ส.บาร์บารา ให้ความสำคัญและสนับสนุน ซึ่งตนก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะจะทำให้การแก้ปัญหาบรรลุวัตถุประสงค์ของทุกฝ่าย โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน มีการกำหนดหน้าที่และบทบาทให้ชัดเจน ส่วนใครจะมาเป็นประธานคณะทำงานนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับรมว.สธ.ว่าจะแต่งตั้งใคร

“การพูดคุยกับ น.ส.บาร์บารา เป็นการเข้าพบเพื่อถามถึงจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการทำซีแอล ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผมก็ตอบไปว่า สธ.มีหน้าทีในการแก้ปัญหาการเข้าถึงยาของผู้ป่วย และช่วยเหลือให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากที่สุดโดยเฉพาะผู้ป่วยยากจน ซึ่ง น.ส.บาร์บารา ได้ตอบกลับว่า เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว นอกจากนี้ ได้หารือถึงวิธีการแก้ปัญหาการเข้าถึงยา ซึ่งผมได้ชี้แจงว่า การทำซีแอลเป็นเพียงมาตรการหนึ่งในการแก้ปัญหาเท่านั้น ยังมีวิธีการแก้ปัญหาอีกหลายวิธี เช่น บริษัทยาลดราคา หรือการบริจาคยาฟรี เป็นต้น” นพ.ไพจิตร์กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การหารือกับ น.ส.บาร์บารา เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ไม่มีการข่มขู่ เพราะถ้ามีการทำเช่นนั้น สธ.คงไม่ยอม จึงไม่ได้หารือเรื่องการจัดสถานะที่ปัจจุบันไทยยังถูกจัดเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (พีดับเบิลยูแอล) และเรื่องสิทธิพิเศษทางการค้า(จีเอสพี) เลย ขณะเดียวกัน ตนก็ไม่ได้สอบถามเรื่องนี้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของ สธ.ซึ่งในความเห็นส่วนตัวนั้น เห็นว่า เขาเข้าใจ และพอใจกับคำตอบของเราในระดับหนึ่ง เพราะเห็นด้วยกับช่วยเหลือผู้ป่วยยาจนให้เข้าถึงยา และไม่น่าจะมีปัญหาอะไรต่อไปอีก ซึ่งตนได้รายงานให้ รมว.สธ.ทราบ ซึ่งท่านก็รับทราบและไม่ได้ว่าอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต่อไปหากมีการทำซีแอลยาตัวใหม่จะต้องแจ้งให้ยูเอสทีอาร์ ทราบด้วยหรือไม่ นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้นและไม่จำเป็น เพราะการทำซีแอลเป็นเรื่องกิจการภายในประเทศไทย ซึ่งในอนาคตหามีการทำซีแอลยาตัวใหม่ คงจะต้องนำเรื่องเข้าหารือกับคณะกรรมการร่วม ซึ่งอาจจะยืดเยื้อ ทำให้ใช้เวลาในการพิจารณานานขึ้นกว่าเดิม แต่เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายและลดปัญหาความขัดแย้งลง ซึ่งต่อไปก็อาจจะต้องหารือแบบแน่นแฟ้นมากขึ้น

ด้าน นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ไม่มีการประชุมร่วมกันในระดับรัฐมนตรี 3 กระทรวง เนื่องจาก นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่ายังไม่พร้อม ข้อมูลไม่เรียบร้อย และยังไม่มีการนัดการหารือครั้งใหม่เมื่อใด ส่วนที่น.ส.บาร์บารา เข้าพบ ก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้นัดมาพบกับตน แต่มาหารือร่วมกับ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.และ นพ.ไพจิตร์ รองปลัด สธ.

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ยูเอสทีอาร์กำลังดำเนินการอะไรอยู่ ซึ่งไม่ต้องการเห็นว่า การที่ไทยดำเนินการตามกฎหมายภายในประเทศ รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศแล้วจะถูกแทรกแซง ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็ดำเนินการเช่นนี้มาโดยตลอด และไม่เชื่อว่า ยูเอสทีอาร์จะไม่เรียกร้องอะไรกับ สธ.เลย แต่ก็หวังว่า สหรัฐฯจะไม่ทำตัวน่าเกลียด เที่ยวแทรกแซงกิจการภายในที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ผู้ป่วยของประเทศนั้นๆ

“อยากฝากบอกกลับไปว่า เรื่องซีแอลนั้น เป็นเรื่องท่าสังคมไทยมีแนวความคิดเห็นร่วมกันมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ คนไข้ นักการเมือง ผู้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพต่างๆ เห็นพ้องกันว่า จะต้องให้คนมีชีวิต และยาเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และจะต้องทำให้ยามีราคาถูกลง ซึ่งภายหลังจากการทำซีแอลยารักษาโรคมะเร็งแล้ว จะเดินหน้ารวบรวมข้อมูลยาทางด้านจิตเวช หากได้ข้อมูลครบถ้วนว่ามีความจำเป็นจะเดินหน้าผลักดันให้ทำซีแอลต่อไป” น.ส.สารี กล่าว

น.ส.สารี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ฝากบอก น.ส.บาร์บารา ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าจากสหรัฐฯ เมื่อเจอกันที่เชียงใหม่ว่าอย่าได้คิดจะกดดันให้รัฐบาลไทยตกลงทำข้อตกลงทางการค้าที่เกินเลยกว่าข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยการแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาโดยเด็ดขาด ภาคประชาสังคมไทย เตือนสติผู้แทนการค้าสหรัฐฯรู้จักทำตัวให้สมกับคำว่า “มหามิตร” หยุดแทรกแซงไทยในกรณีการทำซีแอล
กำลังโหลดความคิดเห็น