xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบเหล้าบุก สธ. ฉะรบ.แก้ กม.เข้าข้างธุรกิจ ลั่นพร้อมยื่น 13 ล.ถอดถอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ม็อบเหล้าบุกกระทรวงหมอ ฉะรัฐบาลแก้กฎหมายเข้าข่างภาคธุรกิจ จวก “แก้ทำแมวอะไร” จับตาเข้ม “ไชยา” ขู่ถ้าใส่เกียร์ว่าง 13 ล้านคนเตรียมรวบรายชื่อถอดถอน ด้าน สธ.เตรียมตั้งสำนักงานคุมเหล้า ชี้ประชาชนพบเห็นโฆษณาเหล้าโชว์ขวดผลิตภัณฑ์ แจ้งจับได้ทันที

เวลา 10.30 น.วันนี้ (14 มี.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ พร้อมเครือข่ายแท็กซี่ 3 ล้อ ปลอดภัยใสสะอาด เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์ ประมาณ 50 คน เดินทางมาที่กระทรวงสาธารณสุข พร้อมถือป้ายรณรงค์ เช่น รมต.อย่าหูเบาเมาตามนายทุนเหล้า บังคับใช้ก่อนอย่าดันทุรังแก้ พ.ร.บ.คุมเหล้า ทั้งนี้ เพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการคุ้มครองสุขภาพประชาชน และคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551โดยมีเจ้าหน้าที่สธ.เป็นผู้รับเรื่อง แทน เนื่องจากนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ.พร้อม นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.เดินทางไปร่วมเปิดงาน “จังหวัดอ่างทองไร้พุงถวายพ่อหลวง พ.ศ.2551-2552 พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 11 ภาคีเครือข่ายสุขภาพ

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้ยื่นเอกสารข้อมูลสำเนาข้อเสนอแนวทางการกำหนดกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโทรทัศน์ วิทยุ ในโรงภาพยนตร์ ป้ายโฆษณาและสื่อต่างๆ ตามมาตรา 32 ของพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ของ 15 นักวิชาการ รวมทั้งเหตุผลที่ไม่ควรแก้มาตรการควบคุมการขายและการส่งเสริมการขายตามความในมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว

นายคำรณ กล่าวว่า มีความเสียใจอย่างยิ่งต่อท่าทีของผู้นำรัฐบาลและ รมว.สธ.ที่ฟังความข้างเดียว และเอนเอียงเข้าข้างธุรกิจแอลกอฮอล์อย่างชัดเจน เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้ รมว.สธ.ในฐานะผู้ที่กุมบังเหียนในการดูแลสุขภาพประชาชน และขอแสดงจุดยืน ในฐานะองค์กรภาคประชาชนที่ได้ร่วมรณรงค์กับองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ 264 องค์กร และภาคประชาชนอีกกว่า 13 ล้านคน ที่ได้ลงชื่อสนับสนุน พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยยืนยันว่าการโฆษณามีผลต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่จะกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งมีรายงานวิจัยยืนยันจากองค์กรที่เชื่อถือได้ทั้งในและต่างประเทศเป็นเครื่องพิสูจน์

“ขณะนี้กฎหมายมีการบังคับใช้เพียง 1 เดือน จึงควรจะให้มีการบังคับใช้ก่อน แม้ว่าเดิมกฎหมายฉบับนี้ยังอ่อนกว่าฉบับร่างที่เครือข่ายได้นำเสนอ แต่ก็ถือเป็นเครื่องมือที่จะนำมาใช้ควบคุมได้ ดังนั้น หากจะมีการแก้กฎหมายก็ควรแก้ไม่ให้ต่ำกว่าเดิม แต่การที่จะแก้กฎหมายในมาตรา 30 ถือเป็นการไม่คุ้มครองประชาชนแต่คุ้มครองภาคธุรกิจ แล้วจะแก้ไขทำแมวอะไร”นายคำรณ กล่าว

นายคำรณ กล่าวด้วยว่า กฎหมายที่ออกมายังไม่เริ่มปฏิบัติเลย ไม่ใช่ปฏิบัติไม่ได้ และยังไม่เห็นว่ามีกฎหมายมาตราใดที่จะบังคับใช้ไม่ได้ เครือข่ายฯ มองว่ากฎหมายยังอ่อนไปด้วยซ้ำ ยืนยันว่าหากจะแก้ก็ต้องให้กฎหมายมีความเข้มแข็งมากกว่าเดิม นอกจากนี้ รัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เร่งเดินหน้าสร้างกลไก รองรับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้เกิดผลในการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะปัจจุบันพบว่ามีความท้าทาย จงใจกระทำความผิด ในหลายมาตรา โดยเฉพาะการห้ามโฆษณาที่แสดงรูปผลิตภัณฑ์ ในมาตรา 31 ทั้งทางสื่อสิ่งพิมพ์ ป้ายกลางแจ้ง และโทรทัศน์

“การที่นายกรัฐมนตรีจะแก้กฎหมาย หรือรัฐมนตรีออกมาบอกว่าโฆษณาไม่มีผล อาจเป็นเพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอ แต่ในฐานะเจ้ากระทรวงควรเป็นต้นเสียงในการออกมาสนับสนุนบอกความจริงกับสังคม ไม่ใช่มีอาวุธ เครื่องมือ แต่ไม่ใช่ แสดงท่าทีต่อสื่อ สาธารณะ เหมือนกับที่มีคนพูดว่า ท่านทำตัวเหมือน รมว.อุตสาหกรรม หรือกระทรวงพาณิชย์ ต่อจากนี้เครือข่ายจะคอยจับตาท่าทีของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากยังใส่เกียร์ว่างก็คงต้องมาเคาะเหมือนกัน ภาคประชาชนก็พร้อมที่จะมาที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อสอบถามเหตุผล และอาจรวมลงชื่อถอดถอนรัฐมนตรี เพื่อเป็นการแสดงเจตจำนง ถือเป็นอำนาจที่ประชาชนสามารถทำได้” นายคำรณกล่าว

ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล หัวหน้ากลุ่มควบคุมการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 แล้ว โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ในแง่ของการบังคับใช้นั้น ขณะนี้ยังสามารถทำได้ลำบาก เพราะยังไม่มีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจตราบังคับใช้กฎหมาย แต่ประชาชนสามารถร้องเรียนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทุกที่หากพบเห็นการกระทำผิด เช่น เรื่องของการโฆษณา กฎหมายใหม่ จะห้าม การแสดงตัวผลิตภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์ โดยสามารถแสดงได้เฉพาะตราสัญลักษณ์ในขนาดที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

“สำหรับการออกกฎกระทรวงหรือประกาศนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการตั้งคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ฯ ในสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมาตรการที่เกี่ยวกับการโฆษณานั้นมีความหมายกว้างมาก คาดว่าจะเริ่มสรรหาได้ประมาณเดือน เม.ย.นี้ โดยคณะกรรมการจะมาจากภาคเอกชน ประชาสังคม ด้านเด็ก ผู้หญิง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ ถือว่ากฎหมายได้มีการบังคับใช้แล้ว แม้จะยังไม่มีคณะกรรมการ หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดก็สามารถแจ้งเจ้าพนักงานได้ทันที เพื่อดำเนินคดีในชั้นศาลต่อไป” นพ.สมาน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น