นิติกร สธ.เตรียมทำหนังสือคัดค้าน “หมอชาตรี” รับเงินบำเหน็จบำนาญ จี้ ป.ป.ช.สะสางคอมพ์ฉาว 900 ล้าน พิสูจน์ความบริสุทธิ์ ส่วนล่ารายชื่อถอดถอน รมว.สธ.เตือนแพทย์ชนบทอย่าใช้อารมณ์ตัดสิน ขณะที่กรณี “หมอศิริวัฒน์” สั่งรื้อคำสั่งปลัด สธ.ย้ายนิติกร อย.มีสิทธิทำได้ ด้าน “แพทย์ชนบท” เอาแน่ตั้งโต๊ะไล่ผี 6 มี.ค. ล็อบบี้วุ่น 3 ตัวเก็งอดีตรองเลขาธิการ อย.จ่อผงาดแทน
นายสุจินต์ ศิริอภัย นิติกรระดับ 7 สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จะทำหนังสือคัดค้านการจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ ของ นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ ซึ่งลาออกจากตำแหน่งจากราชการ และไม่รับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เนื่องจาก นพ.ชาตรี นั้น ยังมีกรณีสอบวินัยร้ายแรง เกี่ยวกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างคอมพิวเตอร์มูลค่า 900 ล้านบาท อยู่ที่ ป.ป.ช. ซึ่งยังสอบสวนไม่จบ
“ดังนั้น ควรต้องรอให้กระบวนการสอบสวนจบก่อน ไม่เช่นนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะได้รับความเสียหาย อยากเรียกร้องให้ ป.ป.ช.เร่งดำเนินการเพราะเรื่องนี้ ค้างมาเป็นเวลานานแล้ว ถือเป็นการให้ความยุติธรรมแก่ นพ.ชาตรี ด้วย ที่จะพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์”นายสุจินต์ กล่าว
นายสุจินต์ กล่าวต่อว่า สำหรับการล่ารายชื่อของกลุ่มแพทย์ชนบท เพื่อถอดถอนรัฐมนตรีนั้น ตามกฎหมายมีสิทธิที่จะทำได้ เป็นกระบวนการโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่เอาอารมณ์มาตัดสิน ซึ่งการถอดถอนจะต้องดูสาเหตุของการถอดถอนด้วย เพราะหากเป็นเหตุจากการบริหาร ถือว่ารัฐมนตรีสามารถทำได้ไม่ผิด แต่หากเป็นเหตุจากการปกครองไม่ชอบ จึงจะสามารถร้องเรียนและถอดถอนได้
นายสุจินต์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการร้องเรียน นพ.ศิริวัฒน์ ในกรณีการย้ายข้าราชการระดับ 9 ใน อย.นั้น อำนาจในการย้ายข้าราชการในส่วนราชการนั้น อธิบดี หรือเลขาฯ อย. ซึ่งมีฐานะเทียบเท่า สามารถทำได้และมีสิทธิที่จะจัดการการโยกย้ายให้เป็นธรรมและถูกต้อง ส่วนอำนาจของปลัดนั้น ถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ก็มีสิทธิที่จะสั่งการหรือจัดการโยกย้ายเช่นกัน และหากข้าราชการในระดับอธิบดี หรือเลขาฯ อย.เห็นว่าไม่เป็นธรรม หรือไม่ถูกต้องก็มีสิทธิทบทวนได้ โดยการร้องเรียน นพ.ศิริวัฒน์ ครั้งนี้ ตนได้รับการทาบทามให้เป็นกรรมการพิจารณาด้วยเช่นกัน แต่ยังไม่เห็นคำสั่งอย่างเป็นทางการ
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้พบว่ามีการล็อบบี้เพื่อเสนอให้ข้าราชการระดับสูงที่เคยทำงาน อย. 1 ใน 3 คนต่อไปนี้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการอย.คนต่อไป ภายหลังจากที่ นพ.ชาตรีลาออก 1 ภญ.สุบุญญา หุตังคบดี นักวิชาการอาหารและยา 10 ด้านอาหารและยา 2 นพ.สถาพร วงษ์เจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 2 และ 3 ภก.มานิตย์ อรุณากูร รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งข้าราชการทั้ง 3 รายเคยเป็นรองเลขาธิการอย.มาก่อนตำแหน่งปัจจุบัน
ภก.มานิตย์ กล่าวว่า ไม่มีข่าวว่าใครจะมาทาบทาม แต่ส่วนตัวไม่มีปัญหาว่ากลับไปทำงานอย.จริงๆ เพราะถือว่าเป็นบ้านเก่า เลขาธิการ อย.เกี่ยวกับซีแอลน้อยมาก คือไม่จำเป็นที่เลขาธิการอย.ต้องมาเป็นประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายา เพราะนายไชยาให้นพ.ศิริวัฒน์ดำเนินการต่อ ซึ่งการต่อรองราคาเป็นเรื่องของเหตุและผล ลดราคาได้ก็คือได้ ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจกัน ตนมองว่าไม่น่ามีปัญหา
ภญ.สุบุญญา กล่าวว่า ไม่ได้ยินกระข่าวว่ามีการทาบทามตนเองแต่อย่างใด และไม่ต้องการให้มีการเชื่อมโยงว่าตนเองจะไปเป็นเลขาธิการ อย. เนื่องจากนายเอนก หุตังคบดี อดีต ส.ส.กทม.เป็นผู้ใกล้ชิดกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต รมว.สาธารณสุข และขอปฏิบัติหน้าที่นักวิชาการเช่นนี้ให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ นพ.สถาพรไม่สามารถติดต่อได้
นพ.พงษ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ในวันที่ 5 มี.ค.ชมรมแพทย์ชนบทจะหารือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรังประชุมเพื่อหารือกันในการที่จะตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อถอดถอนนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุขออกจากตำแหน่ง โดยมีกำหนดว่าจะมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวเปิดตู้ป.ณ.รับไปรษณียบัตรจากประชาชนทั่วประเทศในวันที่ 6 มี.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีประชาชนมีมากมายที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของนายไชยา โดยเฉพาะเรื่องการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล)
“ขณะนี้ถือว่านายไชยาไม่สมควรเป็น รมว.สาธารณสุข เนื่องจากไม่จริงใจ ตั้งใจในการทำงาน รวมถึงการมีธงอยู่ในใจว่าจะยกเลิกซีแอล ประกาศต่อสาธารณชนโดยที่ไม่มีข้อมูล ไม่เชื่อย้อนกลับไปดูทุกอย่างที่นายไชยาดำเนินการมาตลอดตั้งแต่รับตำแหน่งได้ นอกจากนี้ยังไม่ต้องใจแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนไทย อาทิ การแสดงความคิดเห็นว่า เรื่องการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่จำเป็นต้องคุมโฆษณาหลัง 22.00 น. ซึ่งทำให้ขณะนี้เจ้าหน้าไม่กล้าดำเนินการอะไร เพราะรมว.พูดออกไปเช่นนั้น อย่างนี้หรือคุณสมบัติและศักยภาพของคนที่เป็น รมว.สธ. ไม่มีความสามารถเช่นนี้หรือ” นพ.พงษ์เทพ กล่าว
นพ.พงษ์เทพ กล่าวว่า ทุกวันนี้มีคนไทยตายจากโรคมะเร็งปีละ 1 หมื่นกว่าคน การที่นายไชยาระบุว่า หากมีคนไข้เข้าไม่ถึงยาต้องตายไปตนเองจะรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ถ้านายไชยามีสัจจะจริงคงลาออกไปตั้งแต่วันนี้แล้ว เพราะเท่ากับว่าแต่ละวันจะมีคนไทยตายกว่า 30ราย คงไม่อยู่ทำงานมาจนถึงป่านนี้ นอกจากนี้ยังไม่สนใจ หรือเข้ามาทำหน้าที่เร่งรัดการนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งใดๆเลย
นพ.พงษ์เทพ กล่าวว่า หาก นพ.ศิริวัฒน์ ไม่ได้เป็นเลขาธิการอย.จะส่งผลต่อการเจรจาต่อรองราคายา แม้ว่าจะยังคงตำแหน่งประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายาเช่นเดิม เพราะตำแหน่งเลขาธิการ อย.เป็นตำแหน่งที่มีส่วนให้คุณให้โทษกับบริษัทยา ซึ่งบริษัทยาก็ต้องเกรงใจและยินดีที่จะลดราคายา ทั้งนี้หากนายไชยามีธงเกี่ยวกับเรื่องซีแอลเช่นนี้ การต่อรองราคาคงดำเนินการได้ไม่เท่าใด และให้จับตาคนที่จะมาตำแหน่งนี้ให้ดี เพราะจะต้องวางคนที่สั่งได้มาทำงาน
“ถ้าไม่มีใครเหมาะสมจะมาอย.เท่ากับนพ.ศิริวัฒน์และจะโยกย้ายไปเพื่ออะไร แสดงว่านายไชยากลัวเสียหน้า เพราะหาใครเหมาะสมมาทำหน้าที่ไม่ได้ คนที่จะให้มาก็ไม่อยากมาให้โดนบีบหรือเป็นหนี้บุญคุณจนเกิดความเสื่อมเสียอีก เท่ากับว่าตอนนี้นายไชยากลัวเสียหน้ามากกว่าประเทศชาติเสียผลประโยชน์ และอย่ามาอ้างว่าไม่สามารถเสนอครม.พิจารณาทบทวนให้ นพ.ศิริวัฒน์ กลับมา อย.ใหม่ได้ เพราะถึงอย่างไรเมื่อนพ.ชาตรีลาออกก็ต้องให้ครม.เสนอเรื่องเพื่อโปรดเกล้าฯ อีกครั้งอยู่ดี” นพ.พงษ์เทพ กล่าว
นพ.พงษ์เทพ กล่าวด้วยว่า การที่นายไชยาอ้างว่าหากมีการยกเลิกซีแอลจริงคงต้องไปเรียกร้องที่กระทรวงพาณิชย์แทน เพราะนายไชยาได้ทำหน้าที่ของตนเองแล้ว นายไชยาจำเป็นต้องกลับไปดูกฎหมายระหว่างประเทศขององค์การการค้าโลกเสียใหม่ว่า การทำซีแอลไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจของ ครม.หรือรัฐบาล เพียงแค่ระดับอธิบดี กระทรวงก็ดำเนินการทำซีแอลได้แล้ว ข้ออ้างต่างๆ ก็ดำเนินการไปเรื่อย รู้ตั้งแต่แรกแล้ว่าจะไม่ตั้งใจ พยายามโยนและปัดขี้ให้พ้นบ้านเท่านั้น จึงให้กลุ่มผู้ป่วยไปกดดันกระทรวงพาณิชย์แทนทั้งที่ตัวเป็นก็เป็นหนึ่งรัฐมนตรีใน 3 หน่วยงานที่หารือกัน