“ไชยา” รุกเสนอเมกะโปรเจกต์ของบ 2,000 ล้าน ซื้อเครื่องฉายรังสีแจก รพ.ศูนย์ทุกแห่งทั่วประเทศ อ้างหมอรังสี ระบุ ยามะเร็งไม่จำเป็น ระบุเป็นทางเลือกที่ดีรีบเร่งดำเนินการทันที ด้านเอ็นจีโอจวกกลับ หากเลือกยาแพงต้องตอบสังคมให้ได้ ฉะยับไม่ใช่ให้ผู้ป่วยตัดสินเลือกยาเอง ต้องถามรัฐบาลเป๋าตุงพอซื้อยาแพงหรือไม่ “หมอตุลย์” จวกหมอมะเร็งยันฉายรังสีดีกว่ายา พูดจริงไม่หมด
วันนี้ (7 มี.ค.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคมะเร็ง 1 ใน 3 รักษาหายขาด อีก 1 ใน 3 ป้องกันได้ โดยวิธีรักษาโรงมะเร็งที่สำคัญ และได้ผลมากที่สุด คือ การผ่าตัดและการฉายแสง หากรักษาในระยะที่ 1-2 ซึ่งโรคยังไม่ลุกลาม มีโอกาสหายขาด ส่วนการกินยานั้นไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ เป็นเพียงการช่วยเสริมให้การรักษาได้ผลมากขึ้น
“หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง ผมสามารถอยู่ที่ สธ.ต่อไป จะเสนอโครงการซื้อเครื่องฉายรังสีให้โรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ เพราะเป็นทางเลือกที่ดี โดยจะรีบเร่งนำเสนอเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ของ สธ.เสนอในรัฐบาลชุดนี้ให้ได้ ถือว่า 5 ปี จำนวนงบประมาณ 2 พันล้านบาท ไม่มาก เพราะการทำซีแอลยาก็ใช้งบประมาณดังกล่าวเช่นกัน”นายไชยา กล่าว
นายไชยา กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการทำซีแอลปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.และ นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ.หรือ มิสเตอร์ซีแอล ดำเนินการต่อไป แต่ถ้าหากราคายาของบริษัทต้นตำรับลดจาก 100 บาท เหลือ 20-30 บาท ขณะที่ยาสามัญจากประเทศอินเดีย มีราคา 10 บาท ก็จะเชิญเครือข่ายผู้ป่วยโรคมะเร็ง องค์กรพัฒนาเอกชนมาตัดสินใจว่าจะเลือกใช้ยาจากแหล่งใด
ทั้งนี้ นพ.ยงยุทธ คงธนารัตน์ นายกสมาคมรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ยารักษาโรคมะเร็ง 4 รายการ ทั้งหมดถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดหมด เพราะจริงๆ แล้วทำซีแอลก็ไม่สามารถรักษาโรคได้จริง เพราะหากป่วยระยะ 1-3 สามารถผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสีสามารถทำให้หายขาดได้ มีเฉพาะผู้ป่วยระยะที่ 4 เท่านั้นที่จำเป็นต้องใช้ยา และผู้ป่วยบางรายในระยะนี้เท่านั้นที่ต้องใช้ยา 4 รายาที่ทำซีแอล ซึ่งมีโอกาสที่จะหายเพิ่มอีก 5%
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ประกอบกับภาวการณ์ขาดแคลนเครื่องฉายรังสี ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน ทำให้อาการของโรคกว่าที่จะได้รับการผ่าตัดและฉายรังสีก็ลุกลามไปถึงระยะที่ 4 ที่เป็นระยะสุดท้ายแล้ว ดังนั้น จึงอยากเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อเครื่องฉายรังสี เพราะผู้ป่วยทุกคนสามารถใช้ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะสนใจหรือไม่ ไม่ใช่การมารอแต่การสรุปเรื่องต่อรองราคา
“ผมอ่านข่าวเรื่องซีแอลแล้วเศร้าใจ เพราะผู้ป่วยได้รับยาทั้งหมดก็เสียชีวิต มีโรคทางเลือดเพียงอย่างเดียวที่ต้องฉายแสงร่วมกับการใช้ยา ผู้ป่วยควรเข้าถึงการรักษาได้เร็วกว่านี้ ทั้งนี้ เงินพันล้านบาทสำหรับการทำซีแอลยามะเร็งไปใช้ในการรักษาใครก็ไม่รู้ แต่ผมขอ 2พันล้านบาทใช้เวลา 5 ปี ที่จะดำเนินการให้โรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศกว่า 25 แห่งมีเครื่องฉายรังสีครบทั้งประเทศ โดยสามารถซื้อเครื่องจากประเทศจีน ซึ่งอาจทำซีแอลเครื่องมือแทน ซึ่งจริงๆ แล้วเครื่องมือสามารถดำเนินการได้ภายใน 2 ปี แต่ต้องเตรียมกำลังคนให้พร้อม รวมถึงค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากับผลกระทบจากการใช้เครื่องมือด้วย”นพ.ยงยุทธ กล่าว
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า เครื่องอาจราคาแพงมาก โดยเครื่องมือจากประเทศจีนราคาประมาณ 30 ล้านบาท รวมกับค่าอาคารสถานที่อีก 20 ล้านบาท รวมลงทุน 50 ล้านบาท แต่สามารถดำเนินการให้กับผู้ป่วยได้เป็น 102-20 ปี ถือว่าเป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับการทำซีแอลยา เพราะการใช้ยารักษาโรคมะเร็งเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ ทั้งนี้หากจะทำซีแอลกับยารักษาโรคมะเร็งจำเป็นต้องเลือกยาที่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่า 10%
ด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และในฐานะ มิสเตอร์ซีแอล กล่าวว่า ความคิดเห็นส่วนตัวเห็นว่า หากจะซื้อยาต้นตำรับสำหรับรักษาโรคมะเร็งภายหลังประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) แทนยาสามัญนั้น ยาต้นตำรับจะมีราคาสูงได้ไม่เกิน 5% ของราคายาสามัญนั้นคงเป็นหลักเกณฑ์ที่ต่ำเกินไป เพราะหลักเกณฑ์เหล่านี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งยาต้นตำรับอาจสูงกว่า 5% รัฐบาลชุดก่อนอาจตั้งไว้ 5% แต่ชุดนี้อาจมากกว่าหรือต่ำกว่า 5% ก็ได้ ซึ่งอาจเรียกบริษัทยาต้นตำรับมาต่อรองราคายาอีกก็ได้
“การตั้งหลักเกณฑ์ราคายาต้นตำรับไม่ควรแพงเกิน 5% ของราคายาสามัญนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ รัฐบาลชุดก่อนอาจคิดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นวิธีดีที่สุดแล้ว แต่ขณะนี้อาจมีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป และขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายว่าจะตัดสินใจอย่างไร” นพ.ไพจิตร์ กล่าว
ขณะที่ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชา สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา หน่วยมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยาทางนรีเวช หนึ่งในคณะทำงานสรุปข้อมูลยามะเร็ง 4 รายการที่ทำซีแอล กล่าวว่า ไม่ใช่การโยนการให้ผู้ป่วยเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะใช้ยาต้นตำรับ หรือยาสามัญ เพราะคำถามอยู่ที่ว่า ขณะนี้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงใด สามารถสั่งจ่ายยาราคาแพงกว่ายาสามัญเพื่อมาสนับสนุนโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มากน้อยแค่ไหน หากไม่มีงบประมาณสามารถจ่ายได้ ยาจะถูกตัดออกจากบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง
ส่วนที่มีการให้ข้อมูลว่าการใช้ยารักษาโรคมะเร็งกับผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่อยู่ในระยะสุดท้ายจะไม่ได้ผล เมื่อเทียบกับการฉายรังสีกับผู้ป่วยระยะ 1-3 ไม่ได้นั้น เป็นความจริงในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง 100% เพราะรักษา เนื่องจากการตั้งเป้าประสงค์ในการรักษาผู้ป่วยให้หายขาดจากโรคก็ผิดตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นการรักษาแบบประคับประคอง และยายังคงจำเป็นต่อการรักษาโรคมะเร็ง และการรักษาโรคมะเร็งก็มีวิธีที่หลากหลายขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละรายไป การให้ข้อมูลว่าการฉายรังสีเป็นเรื่องที่ดีนั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง
“ขอยืนยันว่า ยา 4 รายการนี้แม้ว่าผู้ป่วยจะมีเวลาอยู่บนโลกนี้อีกไม่นาน แต่เวลาที่เหลืออยู่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตายอย่างมีศักดิ์ศรี ตายอย่างมีความสุข จากเดิมที่หมดหวังว่าป่วยแล้วต้องไปวัด ดอกไม้จันทน์เท่านั้น จาก7 วันถึง3เดือนเป็น6 เดือน -1 ปี การพูดเรื่องการฉายรังสีว่าเป็นสิ่งสำคัญกว่ายานั้น เป็นความพยายามไม่รู้เรื่องการรักษาโรคมะเร็งอย่างถ่องแท้ แต่พยายามเข้ามาเกี่ยวข้อง คนไม่รู้พูดให้คนไม่รู้ฟังก็พอมั่วๆ กันไปได้ ซึ่งซีแอลไมได้ทำเปรอะไปหมด เราทำเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ยอมรับว่า ทำให้ผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่หากใครไม่เป็นไม่รู้ว่าเกิดความทุกข์เพียงใด” นพ.ตุลย์ กล่าว
นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ขอท้าทายให้ผู้บริหารรัฐบาลชุดนี้เพิ่มงบประมาณรายหัวในโครงการหลักประกันสุขภาพฯจากเดิม 2.1 พันบาท เป็น 2.5 พันบาท คงไม่กล้าที่จะเพิ่ม เพราะตรงนี้ไม่สามารถเบียดบังไปได้ใช่หรือไม่ และที่ผ่านมาได้เรียกร้องงบประมาณรายหัวไปโดยตลอด แต่ก็ไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงยิ่งจำเป็นที่จะต้องเจรจาต่อรองราคายาให้ใช้เงินประหยัดที่สุด เพื่อประเทศชาติ
ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ไม่มีความชอบธรรม หาก สธ.กลับไปใช้ยาต้นแบบที่แม้ว่าจะต่อรองราคาแล้วแต่ก็มีราคาแพงกว่ายาสามัญมาก ซึ่งไม่จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องราคายาอีกแล้ว เพราะคณะทำงานศึกษาข้อมูลยามะเร็งได้สรุปผลแล้ว เพราะถ้า สธ.ยังยืนยันจะเอายาต้นตำรับที่มีราคาแพงกว่า ช่องว่างของราคาที่รัฐต้องสูญเสียไป ช่องว่างตรงนี้ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์จากส่วนต่างนี้ ถ้ายา 7 พันบาทไม่ใช้แต่เลือกยาราคา 3 หมื่นบาท สธ.ต้องตอบคำถามต่อสังคมให้ได้ว่าเพราะอะไร โดยเฉพาะผู้บริหาร สธ.
“ขณะนี้ไม่มีเวลามานั่งเล่นเกม หรือดูตัวเลขนั้นตัวเลขนี้แล้วมานั่งถ่วงเวลาใดๆ แล้ว เพราะถึงอย่างไรแล้วตัวเลขงบประมาณที่ประหยัดได้จากการทำซีแอลก็มากมาย ไม่คุ้มค่ากับที่ยกเลิกซีแอล ซึ่งจำเป็นต้องเร่งรีบดำเนินการเดินหน้าต่อไป ซึ่งสังคมต้องร่วมกันจับตาการตัดสินใจของสธ.ในเรื่องนี้หากมีการตัดสินใจไม่เอายาสามัญ ทั้งนี้ ไม่เชื่อว่า หากเจรจากับบริษัทยาต้นตำรับแล้วจะยอมลดราคามาต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับยาสามัญ ซึ่งหากยาสามัญ 16 บาท ยาต้นตำรับลดได้เหลือ 20 บาท เราก็ยินดี และพร้อมที่จะยกขบวนมากราบเท้าเลย” นายนิมิตร์ กล่าว
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หนึ่งในคณะทำงานสรุปข้อมูลยามะเร็ง กล่าวว่า การที่ สธ.สั่งการในลักษณะนี้ เท่ากับ นพ.ไพจิตร์ มีธงที่จะใช้ยาต้นตำรับหรือไม่ ซึ่งผู้เจรจาต้องมีหลักเกณฑ์ในการให้ได้ราคายาที่ดีที่สุด และยอมรับว่าหากไม่ทำซีแอลบริษัทยาก็ไม่ยอมเจรจาลดราคามากเท่านี้ ซึ่ง นพ.ไพจิตร์ ควรยึดหลักเดิมคือ 5% ไม่น่าสร้างเงื่อนไขใหม่ให้กับคณะกรรมการชุดนี้
ดาวน์โหลดแบบฟอร์มถอดถอนรัฐมนตรี ที่นี่!