"ณรงค์ชัย" โต้เสียงวิจารณ์ผลประโยชน์ทับซ้อน ยันตำแหน่งที่ปรึกษาการเมืองของตนเอง ไม่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจแอบแฝง แม้จะเป็นกรรมการในบริษัทกว่า 30 แห่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจส่วนตัว และหน่วยงานราชการ ย้ำไม่ลาออกแน่นอน
วันนี้ ( 8 ส.ค.) นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) ในฐานะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสมในการเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลว่าอาจมีผลประโยชน์แอบแฝง เพราะตนเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ตนยืนยันว่าเป็นเพียงแค่กรรมการตรวจสอบบริษัท ซึ่งไม่จำเป็นต้องลาออกและการเข้าไปร่วมฟังการประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น ก็ต้องแล้วแต่การพิจารณาอนุญาตของทางนายกรัฐมนตรี
นายณรงค์ชัย ยืนยันว่า ตนเองจะไม่ลาออกจากการเป็นกรรมการในหน่วยงานต่างๆ ที่มีจำนวนประมาณ 30 แห่ง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการ ส่วนบริษัทเอกชนก็เป็นของครอบครัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับสัมปทานของรัฐ ดังนั้นจึงไม่เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างแน่นอน
นายณรงค์ชัย ยังระบุว่า ทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจคงมอบหมายให้ทาง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นผู้เข้าไปร่วมประชุมแต่เพียงผู้เดียว ส่วนการนัดหารือของการประชุมที่ปรึกษาเศรษฐกิจทั้งหมดในเย็นวันนี้ที่ทำเนียบรัฐบาลนั้นก็เพื่อเป็นการวางกรอบการทำงานของแต่ละบุคคลและพิจารณาถึงแนวคิดแนวทางในการปฏิบัติงาน
นายณรงค์ชัย ยังกล่าวอีกว่าการให้คำปรึกษาจะเกี่ยวข้องกับงานที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายมา ซึ่งทางทีมเศรษฐกิจอาจมีการเสนอแนวคิดนโยบายอื่นๆ เพิ่มเติมให้ทางคณะรัฐมนตรีพิจารณา
ส่วนการเริ่มงานที่ปรึกษารัฐบาล นายณรงค์ชัย กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาฯ จะมีการประชุมนัดแรกในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อกำหนดกรอบการทำงานและนำเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ทำเนียบรัฐบาล ส่วนจะมีการนำข้อเสนอแนะของคณะที่ปรึกษาฯ ไปปฏิบัติหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
สำหรับความคิดเห็นต่อแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ ต้องเป็นแนวนโยบายและมาตรการที่เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ การเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารและการเดินทางสูงขึ้น, การจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย แต่ต้องไม่บิดเบือนกลไกตลาดจนส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต
นอกจากนี้ ยังต้องดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ , การส่งเสริมการส่งออก, การดูแลไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนพลังงาน , การส่งเสริมการประหยัดพลังงาน , การกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศ
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า หากรัฐบาลดำเนินมาตรการดังกล่าวข้างต้นเชื่อว่าจะช่วยให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้ในระดับ 5% และหากสถานการณ์ทางการเมืองมีเสถียรภาพจะช่วยให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้มากกว่านั้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 6-7%