xs
xsm
sm
md
lg

มังกรผงาด? ในปักกิ่งเกมส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อะไรจะเกิดขึ้นถ้าการหาผู้เข้าเส้นชัยอันดับหนึ่งในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรชายต้องตัดสินกันด้วยภาพถ่าย ปรากฏว่าผู้ชนะเฉือนคู่แข่งไปเพียงอวัยวะบางส่วนของร่างกาย ที่ยื่นออกมาเพียงเล็กน้อยและส่วนนั้นไม่ใช่จมูก ? คำถามเชิงหยอกล้อของ จิม เชีย คอลัมนิสต์ชาวอเมริกันของ The Hartford Courant ที่ตั้งขึ้นกับรายงานข่าวว่า การแข่งขันปักกิ่งส์ เกมส์คราวนี้จะมีนักกีฬาใช้ “ไวอะกร้า” เพื่อช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายแทนการใช้ยาโด๊ปกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันมากที่สุด

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ไวอะกร้า” เป็นยาที่ช่วยรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายหรืออาการ “นกเขาไม่ขัน” หรือ “มังกรหลับ” ตามแต่ใครจะเรียกให้สวยหรูอย่างไร แม้ว่าตอนแรกผู้ผลิตคือ ไฟเซอร์ บริษัทยาชื่อดังของสหรัฐฯ ผลิตขึ้นมาเพื่อรักษาโรคหัวใจ แต่ภายหลังกลับพบการออกฤทธิ์ของมันส่งผลให้สามารถปลุก “มังกรหลับ” ให้กลับมาผงาดอีกครั้ง สร้างความยินดีให้แก่บรรดาชายสูงวัยที่ไฟในตัวมอดดับไปแล้วกลับมาลุกโหมกระพือขึ้นอีกครั้ง

สำหรับคุณสมบัติของยา “มังกรผงาด”ตัวนี้ มันจะไปออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัวจนการไหลเวียนของโลหิตไม่ติดขัด การสูบฉีดเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนสูงจากหัวใจไปเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายเป็นไปอย่างคล่องตัวเช่นเดียวกับเลือดที่ไหลกลับเข้ามายังหัวใจเพื่อส่งไปฟอกที่ปอดอีกครั้งก็เป็นไปอย่างสะดวก

การออกฤทธิ์ข้างต้นเป็นแบบเดียวกับผลที่เกิดจากการใช้ “อีพีโอ” หรือ อิริโทรโพตินฮอร์โมน (Erythropoietin) สารต้องห้ามประเภทหนึ่งที่นักกีฬานิยมใช้ในการโด๊ป แม้ว่าสารกระตุ้นประเภทนี้จะไม่ได้ทำให้หลอดเลือดขยายตัวเช่นเดียวกับไวอะกร้า แต่ก็ทำให้ร่างกายมีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้การลำเลียงออกซิเจนออกไปเลี้ยงกล้ามเนื้อของร่างกายก็มีมากขึ้นเช่นกัน

ขณะที่อีพีโอและ “สเตียรอยด์” สารกระตุ้นอีกประเภทหนึ่งถูกบรรจุอยู่ในรายชื่อยาต้องห้ามของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือไอโอซี แต่การที่ไวอะกร้าไม่ได้ถูกบรรจุไว้จึงมีการคาดการณ์กันว่าการแข่งขันปักกิ่งเกมส์คราวนี้จะมีนักกีฬานำมันมาใช้แทนยาโด๊ปมากขึ้น

แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนไม่เชื่อว่าไวอะกร้าจะส่งผลทำให้นักกีฬาสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น กระโดดสูงขึ้นหรือร่างกายแข็งแกร่งกว่าเดิมก็ตาม ตัวอย่างเช่นความเห็นของแอนโธนี บุชท์ ผู้อำนวยการของศูนย์วิจัยแห่งโอลิมปิก ณ มหาวิทยาลัย UCLA ที่กล่าวว่า “เพียงแค่การที่ร่างกายของคุณได้รับออกซิเจนมากขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะทำให้คุณเป็นนักกีฬาที่เก่งขึ้นกว่าเดิม”

แต่ โรบิน พาริซอตโต นักวิทยาศาสตร์การกีฬาชาวออสเตรเลีย หนึ่งในผู้ร่วมการออกแบบวิธีการตรวจสอบหาสารกระตุ้นประเภทอีพีโอแสดงความเห็นว่า “การแข่งขันประเภทใดก็ตามที่ใช้เวลายาวนานกว่า 2 นาทีจะได้รับประโยชน์จากการออกฤทธิ์ของไวอะกร้า ซึ่งมันให้ผลเช่นเดียวกับการใช้ยาโด๊ป"

"โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการกีฬา ที่นักกีฬาต้องมีการควบคุมอารมณ์จนถึงความเหนื่อยล้าจากการแข่งขันมันทำให้สมาธิของคุณสับสนรวมถึงการตัดสินใจต่างๆก็จะแย่ลงด้วย ดังนั้นการใช้ยาซึ่งจะช่วยให้คุณกลับมามีจิตใจที่แจ่มใสและมีสมาธิอีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นการใช้ยาตัวอื่นหรือประเภทอื่น (ซึ่งไม่เป็นที่ต้องห้าม) ก็ตาม มันก็ทำให้เกิดการได้เปรียบของนักกีฬา" ผู้เชี่ยวชาญชาวออสซีกล่าว

เช่นเดียวกับ ดร.แอนดรูว์ แม็คคัลลอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะทางเพศของวิทยาลัยการแพทย์นิวยอร์คให้ความเห็นว่า ไวอะกร้าช่วยส่งเสริมนักกีฬาบางประเภทซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการแข่งขันด้านความเร็วตัวอย่างเช่น นักวิ่ง, นักปั่นจักรยานหรือนักสกีและจากผลการวิจัยเบื้องต้นที่ทดสอบกับนักปั่นจักรยานแสดงให้เห็นว่านักปั่นที่มีการใช้ยามีการทำผลงานดีขึ้นจากเดิมราว 40 %

"การมีออกซิเจนผ่านเข้าสู่กล้ามเนื้อมากขึ้น มันจะทำให้คุณมีกำลังวังชาและร่างกายของคุณดีขึ้น แม้ว่ามันจะเพิ่มขึ้นเพียง 10 % ก็ตาม แต่สำหรับนักกีฬาที่เฉือนกันด้วยความต่างในจุดสูงสุดของพละกำลัง เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นเพียงเท่านี้ก็เพียงพอสำหรับการคว้าชัยชนะแล้ว" นายแพทย์ชาวสหรัฐฯกล่าว

ขณะที่องค์กรต่อต้านการใช้สารกระตุ้นนานาชาติหรือดับเบิลยูเอดีเอ หน่วยงานหนึ่งของไอโอซี ก็เล็งเห็นถึงปัญหานี้เช่นกันและเตรียมนำเรื่องเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเพื่อลงมติว่าจะให้มีการขึ้นทะเบียนไวอะกร้าเข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อยาต้องห้ามสำหรับนักกีฬาหรือไม่ อย่างไรก็ตามการพิจารณาดังกล่าวจะเกิดหลังจากที่ปักกิ่ง เกมส์จบลงเสียก่อน

ส่วน จอห์น ฟาเฮย์ ประธานของดับเบิลยูเอดีเอ ออกมายอมรับว่าตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าการใช้ยาไวอะกร้าจะส่งผลให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างนักกีฬาหรือไม่ "พวกเราได้ตรวจสอบกันมาระยะหนึ่งแล้วกับทีมผู้เชี่ยวชาญของเราเพราะตอนนี้ไวอะกร้ายังอยู่นอกบัญชียา แต่คำถามที่ว่ามันจะส่งผลต่อนักกีฬาหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่ทราบอย่างชัดเจน เรากำลังรอผลการรับรองทางวิทยาศาสตร์อยู่ ถ้าหากผลการวิจัยแสดงชี้ชัดว่าไวอะกร้าทำให้นักกีฬาได้ประโยชน์จริง มันจะถูกบรรจุเข้าสู่บัญชียาต้องห้ามแน่นอน"

อีกประการหนึ่งคือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ไวอะกร้า คือ โรคหัวใจขาดเลือดที่มักพบในผู้ป่วยที่ใช้ยาชนิดนี้และมีความกังวลกันว่าสำหรับนักกีฬาที่ใช้ยาก่อนการแข่งขันอาจจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมากขึ้น "การใช้ยาของนักกีฬาระหว่างการแข่งขันควรที่จะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ในทีม มันเป็นหน้าที่ของนักกีฬาที่ไม่ควรรับประทานสิ่งใดเข้าไปหากยังไม่แน่ใจและควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อน" จอห์น ฟาเฮย์ กล่าว พร้อมแสดงความเห็นปิดท้ายด้วยว่า แม้ตอนนี้ไวอะกร้ายังคงเป็นยาที่ได้รับอนุญาตก็ตาม แต่มันก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับนักกีฬาที่จะนำมาใช้กับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกอันเป็นแบบอย่างสำคัญของวงการกีฬาเช่นนี้

สำหรับผู้ที่รับชมการแข่งขันปักกิ่ง เกมส์ทางจอแก้วเที่ยวคอยจับตามองก็แล้วกันว่ามีนักกีฬาชายคนใดที่มีอาการผิดสังเกตบ้าง สุดท้ายคงต้องยอมรับว่าโอลิมปิกคราวนี้สมกับเป็นการจัดในแดนมังกรเสียจริงๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น