"เฉลิม" สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสรุปข้อมูลเสนอรายการยาจำเป็นต้องทำซีแอล เน้นยามะเร็ง ยาราคาแพง โรคที่มีคนป่วยมาก คาด 2 สัปดาห์รู้ผล ชี้ยาจิตเวชอาจไม่จำเป็นต้องทำซีแอล เพราะส่วนใหญ่ยาหมดสิทธิบัตรแล้ว
วันที่ 21 พฤศจิกายน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาตร์การแพทย์ กรมสุขภาพจิต สำนักงานคณะกรรมการอหารและยา(อย.) เพื่อหารือถึงแนวทางในการแก้ปัญหาการเข้าถึงยา โดยได้ข้อสรุปว่า ให้สปสช. และสธ. เร่งศึกษาและเสนอรายชื่อยาที่มีความจำเป็นต้องต่อการเข้าถึงซึ่งอาจทำซีแอลหรือไม่จำเป็นต้องทำซีแอลก็ได้ โดยเน้นยารักษาโรคมะเร็ง ยาที่มีราคาแพง และโรคที่มีประชาชนป่วยเป็นจำนวนมาก โดยให้ศึกษาแล้วเสร็จและเสนอมายังตน ภายใน 1-2 สัปดาห์
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการเสนอให้ทำซีแอลยาจิตเวชเนื่องจากยามีราคาแพง เม็ดละ 60-200 บาทนั้น หลังจากทราบข้อมูลว่า ยาที่จำเป็นต้องใช้ 2-3 ชนิดซึ่งครอบคลุมในการรักษาโรคจิตเวชอยู่แล้ว อีกทั้งบางรายการไม่มีสิทธิบัตรคุ้มครองแล้ว บางรายการใกล้หมดสิทธิบัตร จึงอาจจะไม่จำเป็นต้องทำซีแอลก็ได้ นอกจากนี้พบว่ายาบางรายการมีการจดสิทธิบัตรเฉพาะต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้จดสิทธิบัตรในประเทศไทย โดยหลักการจึงไม่ต้องทำซีแอลกสามารถจัดหานำเข้ามาใช้หรือผลิตเองได้
"จะให้ อภ. ศึกษาแนวทางการได้ยาราคาถูกมาใช้ ซึ่งอาจจะให้อภ. ผลิตเอง หรือจัดหายาราคาถูกมาใช้ และให้อย. ศึกษาว่ามียาชนิดใดบ้างที่ใกล้หมดอายุสิทธิบัตรแล้ว เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการวางมาตรการแก้ปัญหาเข้าถึงยาของประชาชนต่อไป นอกจากนี้จะประสานกระทรวงการคลังเพื่อขอข้อมูลรายการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เพื่อดูว่ามียาชนิดใดที่นำเข้าจำนวนมาก และยังมีราคาแพงอยู่ ซึ่งยาเหล่านี้อาจจะต้องพิจารณาใช้มาตรการขึ้นภาษี เพื่อให้ยามีราคาถูกลงและประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น"ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ขอความอนุเคราะห์ให้กับอภ. ไม่ต้องจัดส่งรายได้เข้าคลัง ร้อยละ 35 ของกำไร หรือเฉลี่ยปีละ 350 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี โดยรายได้ส่วนนี้ให้อภ. นำมาเป็นงบประมาณในการศำษาและพัฒนาผลิตยาชนิดใหม่ๆ ที่มีราคาถูกกว่ายานำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นยาที่ประชาชนจำนวนมากจำเป็นต้องใช้