xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ซุกหุ้นคราวโน้นใช้หลักรัฐศาสตร์ ซุกพ่อคราวนี้ต้องใช้หลักธรรมศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: ทวิช จิตรสมบูรณ์

โดย...ทวิช จิตรสมบูรณ์

คราวคดี “ซุกหุ้น” อันฉาวโฉ่ เมื่อปี 2544 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินคดีด้วย “หลักรัฐศาสตร์” ทำให้จำเลยชนะคดีไปแบบเฉียดฉิว แม้หลักฐานจะบ่งให้เห็นความผิดอย่างชัดแจ้งโดย “หลักนิติศาสตร์” ก็ตาม ส่งผลให้จำเลยได้เข้าไปทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนก่อคดี “ซุกพ่อ” ขึ้นมาให้ศาลตัดสินอีกครั้ง (แม้คราวนี้จะเป็นคนละศาลกันก็ตาม) ประเด็นนี้ทำให้ผมนำไปคิดต่อยอดว่าน่าจะมีอีกหลักหนึ่งคือ “หลักธรรมศาสตร์” ซึ่งสำคัญที่สุดด้วยซ้ำไป ซึ่งผมจะได้นำเสนอเป็นลำดับไป

ก่อนอื่นผมขอให้ฉายาคดีนี้ว่าเป็นคดี “ซุกพ่อ” เพราะมีลักษณะเช่นนั้นและยังอุปมาได้กับคดี “ซุกหุ้น” ด้วย คราวซุกหุ้นก็แอบเอาหุ้นไปไว้กับคนใช้ คนขับรถ คราวนี้ซุกพ่อโดยเอาหุ้นของพ่อไปให้ลูก แล้วลูกก็ซุกพ่อของตัวเองไว้ไม่ให้ใครเห็นว่าแท้จริงแล้วยังคือผู้บริหารบริษัทตัวจริงเสียงจริง ดูไปก็มีลักษณะคล้ายละครน้ำเน่าที่พระเอกเอาหนวดปลอมมาติดเพื่ออำพรางหน้าตา ปรากฏว่าตัวละครในเรื่องไม่มีใครจำได้เลย ยกเว้นคนดูทั้งประเทศที่ขำกันกลิ้งในการตบตาอันแสนโง่เขลานี้

ถ้าบริษัทเป็นของลูกจริงตามอ้างว่ายกให้ลูกหมดแล้ว ลูกต้องบริหารบริษัทด้วยตนเองสิ แต่เชื่อว่าไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันได้เลยว่าลูกเป็นคนบริหารตัวจริง เช่น หลักฐานการบันทึกการประชุมกรรมการบริษัทว่า “ลูก” ได้นั่งหัวโต๊ะกำกับการวางนโยบายด้านการบริหาร การเงิน การตลาด เทคโนโลยี รับรองได้ว่าไม่มี (ถ้ามีก็เป็นของปลอม) แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่ขนาดนี้ไม่มี “หัวเรือใหญ่” ที่เป็นเจ้าของกำกับเข้มงวด จะเดินไปได้อย่างไร โดยเฉพาะทำกำไรงดงามที่สุดในบรรดาบริษัททั้งหลายอีกต่างหาก

ส่วนลูกนั้นขนาดรับบริษัทยักษ์ใหญ่มาบริหารใหม่ๆ แทนที่จะคร่ำเคร่งฝึกหัดเรียนรู้การบริหารให้ดี กลับทำตัวเป็นเพลบอยเที่ยวเตร่ตามที่เป็นข่าวในสื่อเนืองๆ แถมยังไปเปิดบริษัททำอะไรเล่นสนุกสนานอีกหลายบริษัทตามที่เป็นข่าว เช่น การโฆษณาในรถไฟฟ้า เป็นต้น อย่างนี้มันเป็นแวดล้อมของคดีที่ฟังไม่ขึ้นจริงๆ ว่าบริษัทนั้นเป็นของลูก (บริบทแวดล้อมเล็กน้อยเหล่านี้แหละที่อาจสำคัญกว่าหลักฐานแน่นหนาเสียอีก)

พอเทขายหุ้นทำกำไรงามตูมออกมาโดยไม่เสียภาษี ปรากฏว่า “พ่อ” ออกมาแก้ต่างแทน “ลูก” หมดทุกอย่าง...อ้าว...ก็ไหนบอกว่าเป็นบริษัทของลูกไปแล้ว แล้วพ่อไปพูดแทนเขาทำไม โดยเฉพาะพ่อก็กำลังเป็นกัปตันรัฐนาวาอยู่ด้วย บริบทเพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะเอาผิดว่าเป็นบริษัทของพ่อนั่นแหละ เรื่องนี้จริงๆ แล้วพ่อรู้ดีว่าถ้าปล่อยให้ลูกพูดเป็นพังแน่ๆ เพราะลูกจะตอบคำถามนักข่าวในรายละเอียดอะไรไม่ได้เลยเนื่องจากคนทำธุรกรรมทั้งหมดคือพ่อผู้ถูกซุกอยู่เบื้องหลังนั่นเอง

คราวซุกหุ้น ศาลอ้างว่าตัดสินด้วยหลักรัฐศาสตร์ หมายความว่าโดยหลักนิติศาสตร์นั้นผิด แต่ยกโทษให้โดยเอาหลักรัฐศาสตร์เป็นใหญ่เนื่องเพราะจำเลยได้รับเลือกตั้งมาด้วยคะแนนท่วมท้น ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนว่างั้นเถอะ การตัดสินในครั้งนี้ผมขอเสนอให้ใช้ทั้งสามหลักในการตัดสินคือหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และ ธรรมศาสตร์

โดยหลักนิติศาสตร์ก็ว่ากันไปตามหลักฐานและตัวบทกฎหมาย ซึ่งผมเชื่อว่าแม้เพียงนี้ก็สามารถเอาผิดจำเลยได้แล้ว แต่เรื่องนี้มีปมอยู่นิดที่ว่าจำเลยอ้างว่า กระบวนการนำฟ้องนั้นไม่ชอบด้วยหลักกฎหมาย เช่น มีต้นตอมาจากการปฏิวัติบ้าง ผู้สอบสวนคดีเป็นปฏิปักษ์ต่อตนบ้าง ซึ่งความจริงก็เป็นการกล่าวอ้างที่ชอบอยู่ แต่จำเลยน่าจะใช้หลัก “มนุษยศาสตร์” พิเคราะห์สักหน่อยว่าหากศาลยกฟ้องด้วยการยกอ้างเช่นนั้น จำเลยจะมีศักดิ์ศรีอยู่ในโลกนี้ได้หรือ

โดยเฉพาะตนเป็นผู้ที่ผู้คนนับหน้าถือตามาก กลับไม่กล้าสู้คดี กลับไปยกอ้างหลักแวดล้อมปลีกย่อยทางกฎหมายมาล้มคดี อย่างนี้ก็เท่ากับยอมรับผิดโดยปริยายอยู่แล้ว ตรงกันข้ามหากจำเลยคิดว่าตนบริสุทธิ์จริง ก็น่าจะดีใจเสียอีกที่ได้มาเป็นคดีความ จะได้พิสูจน์ให้ตนพ้นมลทินด้วยหลักฐานอันจริงแท้ที่ตนมีอยู่ ซึ่งระบบการศาลไทยและสื่อสารมวลชนไทยก็เปิดกว้างให้จำเลยแถลงการณ์ได้เต็มที่อยู่แล้ว การกลั่นแกล้ง ลำเอียงไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสภาพการณ์เช่นนี้

โดยหลักรัฐศาสตร์ คราวนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะ “แก้ตัว” แทนศาลรัฐธรรมนูญที่คราวก่อนพลาดไปยกประโยชน์ให้จำเลยด้วยหลักการนี้ ความผิดครั้งนี้ของจำเลยนั้นหากศาลไม่พิพากษาให้ผิดยึดทรัพย์ทั้งหมด และให้จำคุกอีกด้วย ก็จะเป็นที่ครหาได้ว่าบุคคลสามารถทำความชั่วได้อย่างลอยนวลหากมีเงิน และมีอำนาจ หรือมีประชาชนออกมาชุมนุมสนับสนุนมาก

ส่วนคนจนที่ไม่มีเงิน อำนาจ หรือมีฐานเสียงมากทำอะไรนิดหน่อยก็ผิด ซึ่งจะกลายเป็นระบบ “สองมาตรฐาน” ทางกฎหมายที่จะส่งผลเสียต่อบูรณภาพแห่ง “รัฐ” ไปอีกนานจนอาจนำไปสู่สถานะ “ไร้กฎหมาย” ได้ในที่สุด โดยเฉพาะจำเลยเป็นถึงผู้นำ “รัฐ” ที่มาจากความไว้วางใจของประชาชน อีกทั้งได้รับการอภัยโทษจากศาลโดยหลักรัฐศาสตร์มาแล้วในคดีซุกหุ้น สมควรที่จะสำนึกในความผิด ความไว้วางใจแห่งประชาชน และโอกาสที่ได้รับจากศาลนั้น ทำการบริหารประเทศอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องเต็มที่ ไม่ควรให้เกิดมีข้อครหาหรือตำหนิแม้แต่น้อยด้วยซ้ำไป

การที่จำเลย ในฐานะนายกรัฐมนตรี กระทำความผิดอันใหญ่หลวงครั้งนี้จึงยิ่งต้องสมควรลงโทษให้สูงที่สุดตามที่กำหนดหรือตามนัยแห่งกฎหมาย เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อผู้นำ “รัฐ” คนต่อๆ ไปที่จะบริหารประเทศไทยด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่องเพื่อนำความเจริญอย่างสง่างามมาสู่ประชาชนแห่ง “รัฐ” โดยถ้วนหน้า

หลักธรรมศาสตร์ หมายถึงหลักแห่งความถูกต้องดีงามที่ถือปฏิบัติมานานในสังคม จนเป็นที่ยอมรับกันดีแล้ว ซึ่งโดยมากมักเชื่อมโยงกับหลักศาสนาและความเชื่อด้วย โดยแท้แล้วหลักธรรมศาสตร์นี้สำคัญยิ่งกว่าหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เสียอีก เพราะเป็นหลักที่สังคมนั้นได้ลองผิดถูกมานานหลายชั่วอายุคน หลักนิติศาสตร์ที่ขัดต่อหลักธรรมศาสตร์นั้นมักจะใช้ไม่ได้ โดยทั่วไปหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เป็นเพียงส่วนย่อยส่วนหนึ่งของหลักธรรมศาสตร์เท่านั้นเอง หลักธรรมศาสตร์จึงครอบคลุมหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ไว้ทั้งหมด

หากคดีความใดผิดหลักนิติศาสตร์แต่ไม่ผิดหลักธรรมศาสตร์ก็อาจใช้หลักธรรมศาสตร์ตัดสินให้พ้นผิดได้ ดังเช่นโรบินฮู้ดปล้นคนรวย (ที่ฉ้อโกง) แล้วเอามาแจกคนจนนั้นผิดหลักนิติศาสตร์แน่นอน แต่โดยหลักธรรมศาสตร์อาจถือว่าไม่ผิดก็เป็นได้ ตรงกันข้ามหากคดีความใดไม่ผิดหลักนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ แต่ผิดหลักธรรมศาสตร์ก็ควรใช้หลักธรรมศาสตร์ตัดสินว่าเป็นผิดได้ เช่น การประกาศว่า “จะให้งบประมาณมากในพื้นที่ที่เลือก ส.ส.พรรครัฐบาลมาก” หรือการตั้งพรรคการเมืองตัวแทน (นอมินี) แบบนี้ไม่ผิดนิติศาสตร์แต่ผิดธรรมศาสตร์แน่นอนไม่ใช่หรือ

หลักธรรมศาสตร์ที่สำคัญของสังคมไทยประการหนึ่งคือ ผู้ปกครองต้องปกครองตามหลักทศพิธราชธรรม ซึ่งกำหนดถึงขนาดว่าผู้ปกครองนั้นต้อง “ไม่โกรธ, อ่อนโยน” (อย่าว่าแต่โกงเลย) ซึ่งถือได้ว่าจำเลยคดีนี้ทำผิดหลักธรรมศาสตร์ทุกข้อ เช่น ในระหว่างการบริหารประเทศก็ออกอาการเกรี้ยวกราด (โกรธ) และพูดจาเสียดสีฝ่ายต่างๆตลอดเวลา (ไม่อ่อนโยน)

หลักธรรมศาสตร์ที่สำคัญที่ตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูกนั้น พระพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้ว่าถ้าหาหลักอะไรไม่ได้ก็ให้พิจารณาว่าเรื่องนี้ “นักปราชญ์ติเตียนหรือไม่” นับว่าทรงวางหลักไว้เฉียบคมมาก กรณีคดีซุกพ่อนี้เท่าที่เห็นโดยทั่วไปนักปราชญ์ที่สังคมยอมรับต่างติเตียนทั้งสิ้น ส่วนผู้ที่ไม่ติเตียนบางคนที่มีอาชีพและสถานะทางสังคมที่สูงส่งนั้นต้องดูให้ดีว่าเป็น “นักปราชญ์” หรือเปล่า มีประโยชน์แอบแฝงใดหรือเปล่า หรือเป็นพวกพ้องกันหรือเปล่า หรือว่าเป็นเพียงผู้มีโอกาสดีกว่าคนอื่นจนไต่เต้าเข้าไปสู่ฐานะและตำแหน่งเหล่านั้นได้

อีกทั้งการไต่เต้านั้นด้วยลำแข้งแรงขาแห่งตนหรือว่ามีปัจจัยเสริมอื่นๆ ที่อาจถึงกับเป็นการฉ้อฉลด้วยซ้ำไปหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้อาจไม่ใช่นักปราชญ์ก็เป็นได้ โดยแท้แล้วนักปราชญ์อาจเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ไม่มีฐานะทางสังคม ระดับการศึกษา หรือตำแหน่งอันใดเลยก็เป็นได้

แม้โดยหลักนิติศาสตร์จำเลยอาจผิดเพียง 80% ตามที่พยานหลักฐานที่นำเสนอทั้งสองฝ่าย แต่แม้กระนั้นก็ไม่ควรลืม “หลักฐานนุ่ม” (soft evidences) ดังที่ผมได้ชี้เป็นบริบทมาให้เห็นแล้ว และถ้าเอาหลักรัฐศาสตร์และธรรมศาสตร์มาจับด้วยแล้วจำเลยไม่น่ารอดจากความผิดสูงสุดไปได้

ส่วนหลักรัฐศาสตร์ที่ว่าหากศาลตัดสินให้ลงโทษจำเลยแล้ว ประชาชนเสื้อแดงจะลุกฮือนั้น โดยแท้จริงแล้วไม่น่าใช่หลักรัฐศาสตร์แต่เป็นเพียงหลัก “ธนศาสตร์” ที่พรางมาในรูปของรัฐศาสตร์เท่านั้นเอง ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นจริงก็แก้ได้ด้วยหลักธรรมศาสตร์อีกนั่นแหละ เพราะอย่างไรเสียธรรมย่อมชนะอธรรมเสมอ

กำลังโหลดความคิดเห็น