xs
xsm
sm
md
lg

2553 ปีแห่งการรุกกลับทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

ศักราชใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นอีกปี ผ่านไปปีแล้วปีเล่า ประชาชนไทยต่างก็วิตกกังวลกับความไม่มั่นคงของการดำเนินชีวิต ความไม่มั่นคงของหน้าที่การงาน ความไม่มั่นคงในการดำเนินธุรกิจ เหล่านี้เป็นธรรมดาของคนทั่วไปที่ระลึกมองไปข้างหน้า

แต่ที่ไม่ธรรมดา ท่านทั้งหลายจะต้องรู้ความจริงว่าตลอดระยะเวลานับแต่ 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยเราตกอยู่ภายใต้การเมืองการปกครองแบบเผด็จการ หรือการเมืองแบบอัตตาธิปไตย คือการเมืองเพื่อตนและพวกพ้องสองรูปแบบ สองลักษณะ คือ เผด็จการโดยรัฐธรรมนูญกับเผด็จการโดยรัฐประหาร การปกครองทั้งสองรูปแบบเป็นผลผลิตของลัทธิรัฐธรรมนูญ โดยลัทธินี้หลงผิดอย่างร้ายแรงว่า รัฐธรรมนูญคือระบอบประชาธิปไตย รัฐประหารแล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญบริหารราชการแผ่นดินโกงชาติบ้านเมืองได้สักพักก็ถูกรัฐประหาร ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นวงจรอุบาทว์ บางครั้งบางคราฝ่ายไม่พอใจฝ่ายรัฐประหารก็ออกมา เรียกร้องรัฐธรรมนูญก่อการจลาจลโค่นฝ่ายรัฐประหาร ฝ่ายรัฐประหารล้มไปก็มาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ มันคือวงจรอุบาทว์ที่ซ้ำซาก

การเมือง การปกครองของไทยจึงไม่เคยมีการเริ่มต้นวิวัฒนาการของการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย มีแต่การเมืองการปกครองแบบเผด็จการสองลักษณะและได้อาศัยรูปการปกครองระบบรัฐสภา (Parliamentary System) หากเปรียบกับบุคคลดุจดังหน้าตาหล่อเหลาแต่โง่เขลาใจทรามต่ำช้า

ขอให้ผู้อ่านทุกคนได้ตั้งจุดมุ่งหมายของชีวิต หรือเป้าหมายของชีวิต จุดมุ่งหมายของชีวิตมีสองด้านคือด้านภายนอกหรือทางโลก เช่น การตั้งใจเรียน การตั้งใจทำอาชีพที่ตนชอบที่ตนทำให้มีความก้าวหน้ามั่นคง แต่ท่านทั้งคงไม่ลืมว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ดังนั้นหน้าที่การงานจะเจริญก้าวหน้ามั่นคงได้ มนุษย์เราตั้งพัฒนาจิตใจของเรา ให้มีปัญญารู้แจ้งชีวิตและสรรพสิ่งตามความเป็นจริงเพื่อก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายคือนิพพาน หรือสภาวะธรรมาธิปไตย อันเป็นจุดหมายสูงสุดเป็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของมนุษยชาติ และเป็นจุดมุ่งหมายที่สั่งสมก้าวหน้าหรือล้าหลังติดตามตัวเราไปตลอดจะสิ้นสุดต่อเมื่อเข้าถึงพระนิพพานหรือสภาวะธรรมาธิปไตย จุดมุ่งหมายทั้งทางโลกและทางธรรมย่อมอิงอาศัยซึ่งกันและกัน จิตใจดีย่อมเรียนดี ทำหน้าที่ดี ตำแหน่งหน้าที่การงานดีย่อมก่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป

บุคคล ต้องมีจุดมุ่งหมาย ครอบครัวต้องมีจุดมุ่งหมาย องค์กร บริษัท ย่อมต้องมีจุดมุ่งหมาย ฯลฯ ศาสนาย่อมสอนให้มนุษย์มีจุดมุ่งหมายให้ถูกต้อง

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์นอกจากจะมีจุดมุ่งหมายของตนเองแล้ว จะต้องมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในหลายด้าน ในหลายๆ ลักษณะ เช่น

ชาติ ย่อมโอบอุ้มคุ้มครองปวงชนในชาติด้วยสิทธิและหน้าที่ ย่อมเป็นจุดมุ่งหมายร่วมของคนในชาติ ผู้ปฏิเสธก็ย่อมคิดที่จะแยกแผ่นดิน หากทุกคนได้ล่วงรู้ ทุกคนจะร่วมกันต่อต้านการกระทำที่แบ่งแยกดินแดน ต่อต้านการกระทำที่ทำลายชาติ เช่น บ่อน ซ่อง หวยเถื่อน ขบวนค้ายาเสพติดทุกชนิด ขบวนการล่อลวงต่างๆ เป็นต้น

หากประชาชนในชาติล่วงรู้ ย่อมต่อต้านนักการเมืองอุบาทว์ ที่ทำการเมือง เคลื่อนไหวการเมืองเพื่อส่วนตน เพื่อพวกพ้องและเพื่อประโยชน์ต่างชาติ เห็นชาติอื่นดีกว่าชาติของตน

ศาสนา ย่อมโอบอุ้มคุ้มครอง เป็นหนทางของศาสนิกให้เกิดความสุข สันติ ก้าวหน้าทางใจคือบุญ ทำลายบาป เป็นหนทางแห่งการรู้แจ้งมีปัญญาสูงสุด ย่อมเป็นจุดมุ่งหมายร่วมของศาสนิกชน เพื่อศึกษา ปฏิบัติตามคำสอนของศาสดาเพื่อลดละ ความกลัว โลภ โกรธ หลง ให้เบาบางลงๆ เพื่อเข้าสู่ เข้าถึงจุดสูงสุดของคำสอน พร้อมทำนุบำรุง ส่งเสริมศาสนาที่ตนนับถือ การอ้างศาสนาเพื่อไปทำลายผู้อื่นหรือศาสนาอื่นๆ ย่อมเป็นการกระทำที่เป็นภัยต่อชาติ ศาสนาที่แท้จริงย่อมเป็นไปเพื่อสันติ ช่วยเหลือ ค้ำจุน เห็นอกเห็นใจต่อกัน

พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขสูงสุดของชาติ ทรงเป็นผู้นำของชาติในทุกด้าน พระมหากษัตริย์ผู้ทรงดำรงทศพิธราชธรรม ย่อมแผ่เมตตาจิตโอบอุ้มคุ้มครองพสกนิกรทั้งประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ตัวอย่างของพระมหากษัตริย์ที่ทรงดำรงทศพิธราชธรรม ย่อมเป็นศูนย์กลางรวมใจของปวงชนในชาติ เพื่อความเข้มแข็งมั่นคงของชาติ

ระบอบการเมืองหรือหลักการปกครอง ระบอบการเมืองจะมีความเป็นธรรม ระบอบนั้นจะต้องมีหลักการปกครองโดยธรรม หลักการปกครองโดยธรรมย่อมเป็นศูนย์กลางของกฎหมายทุกชนิดนับแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติต่างๆ พระราชกำหนดต่างๆ เป็นต้น

หลักการปกครองโดยธรรม ย่อมเป็นศูนย์กลางของการเมืองการปกครองของปวงชนในชาติ “การเมืองต้องพัฒนามาจากหลักการปกครองโดยธรรม” การปกครองย่อมมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ซึ่งเป็นหนทางหรือเป็นวิธีการของการปกครอง) และพระราชบัญญัติต่างๆ รัฐบาลจะต้องบริหารให้เป็นไปตามหลักการปกครองโดยธรรมและกฎหมายต่างๆ

“เมื่อมีจุดมุ่งหมาย (หลักการปกครอง) ย่อมมีหนทาง เมื่อมีหนทาง ย่อมมีความก้าวหน้า เมื่อมีความก้าวหน้า สักวันหนึ่งจะถึงจุดมุ่งหมายความสำเร็จ”

น่าเสียดายอย่างที่สุดที่ประเทศไทยเราขาดนักปราชญ์ทางการเมือง เราไม่มีหลักการปกครองโดยธรรมมายาวนานร่วม 77 ปี เรามีแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ นั่นหมายความว่าเราไม่มีการเมืองโดยธรรม เรามีแต่การเมืองของพรรคการเมืองหรือของกลุ่มบุคคล และปกครองโดยกลุ่มของคณะบุคคลบ้าง มาในนามของคณะพรรคบ้าง ประเทศไทยจึงตกอยู่ในวังวนของการเมืองน้ำเน่า การเมืองคอร์รัปชัน การเมืองทำลายประเทศให้ทรุดโทรมล้าหลัง ก้าวหน้าไป ไม่ได้ นี่คือความร้ายกาจของลัทธิรัฐธรรมนูญที่หลอกลวงว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย

“เมื่อไม่มีจุดมุ่งหมาย (ไม่มีหลักการปกครอง) ย่อมไม่มีหนทาง เมื่อไม่มีหนทาง ย่อมไม่มีความก้าวหน้า เมื่อไม่มีความก้าวหน้า อุปมาเหมือนพายเรือในอ่างน้ำ”

หากเราเทียบดูจากหลักการปกครองของบุคคล คือพระมหากษัตริย์คือทศพิธราชธรรม สำหรับประเทศชาติ ในยุคสมัยใหม่จะต้องมีหลักการปกครองเพื่อชี้ชัดว่าเราปกครองแบบไหน ปกครองอย่างไร ปกครองด้วยระบอบอะไร ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม มันจะต้องมีหลักการปกครองแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์และประชาชนเข้าใจจากการประชาสัมพันธ์อยู่เนืองนิตย์ ทำให้ประชาชนได้ล่วงรู้ว่าการเมืองของเราเป็นธรรมอย่างนี้เอง เมื่อประชาชนล่วงรู้หลักการปกครอง ย่อมเป็นพลังอันสำคัญของชาติ เป็นพลังสำคัญของทุกหน่วยงาน นับแต่รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ครอบครัว วัด โรงเรียน และหน่วยงาน องค์กร ต่างๆ หลักการปกครองโดยธรรมย่อมเป็นศูนย์กลางของปวงชนในชาติ ย่อมเป็นเอกภาพและดุลยภาพ ปวงชนไทยอันแตกต่างหลากหลายแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือหลักการปกครองโดยธรรมของชาติ ย่อมเป็นพลังแห่งการสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ของปวงชนในชาติอย่างไม่รู้จบสิ้น

การรุกกลับทางการเมืองคืออะไร การรุกกลับทางการเมือง คือการเสนอแนวทางการเมืองที่เหนือกว่า - จากไม่มีหลักการปกครอง เสนอและสถาปนาให้มีหลักการปกครองโดยธรรม

จากการเมืองของนักการเมือง เปลี่ยนมาเป็นการเมืองโดยธรรมของปวงชนในชาติ

จากรัฐธรรมนูญไม่มีหลักการปกครอง เปลี่ยนมาเป็นรัฐธรรมนูญมีหลักการปกครอง

จากรัฐบาลของชนส่วนน้อยในสังคม เปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลของปวงชนในชาติ

จากสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มั่นคง ซึ่งบัญญัติไว้เป็นเพียงวิธีการปกครองในหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนมาทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคง โดยยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์ขึ้นเป็นหลักหนึ่งในหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9

หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 หรือระบอบการปกครองธรรมาธิปไตย 9 โดยมีหลักการโดยย่อดังนี้ (1) หลักธรรมาธิปไตย (2) หลักพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ (3) หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (4) หลักเสรีภาพบริบูรณ์ (5) หลักความเสมอภาคทางโอกาส (6) หลักภราดรภาพ (7) หลักดุลยภาพ (8) หลักเอกภาพ (9) หลักนิติธรรม

เราแนะนำให้อย่างดีที่สุดแล้ว รัฐบาลย่อมมีภาระหน้าที่ ย่อมรู้ว่าอะไรคือภัยของชาติที่แท้จริง อย่ามัวแต่หลงอยู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นมันเป็นแนวทางอุบาทว์ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเป็นการตอกย้ำความโง่เขลาของพรรคการเมืองต่างๆ ที่หลงติดอยู่ในลัทธิ รัฐธรรมนูญ อันเป็นภัยร้ายแรงของชาติตัวจริง

ณ เวลานี้ การรุกกลับทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเพียงวิธีเดียว คือ เสนอนโยบายแห่งชาติ และประชาสัมพันธ์สู่การสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 จากนั้นจึงคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับหลักการปกครอง นี่คือความถูกต้องยิ่งใหญ่ของชาติ หากรัฐบาลไม่ทำ ก็ยังมีกลุ่มผู้นำโดยธรรมชาติ คือคณะผู้นำกลุ่มพันธมิตรฯ และกองทัพแห่งชาติ เป็นผู้ทำ หรือจะให้นักโทษชาย... กลับมาเป็นใหญ่ก็ตามใจ หรือรอให้เกิดสงครามกลางเมืองก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น